แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางสั่งว่า อุทธรณ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 จึงไม่รับอุทธรณ์
จำเลยเห็นว่า จำเลยอุทธรณ์เป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า การจ้างระหว่างโจทก์จำเลยเป็นการจ้างที่มีกำหนดแน่นอนหรือไม่ โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยและค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่ เพียงใด โปรดมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณาด้วย
หมายเหตุ ทนายโจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 37)
คดีของศาลแรงงานกลางหมายเลขแดงที่ 4435/2530,4438/2530,4439/2530 และ 4441/2530 นี้ ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษารวมกับคดีอื่นอีก 5 สำนวน ซึ่งคดีดังกล่าวถึงที่สุดเพียงศาลแรงงานกลาง โดยเรียกโจทก์ในสำนวนทั้งสี่นี้ว่า โจทก์ที่ 3ที่ 6 ที่ 7 และที่ 9 ตามลำดับ
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้บริษัทจำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ารวมให้แก่ นายโสภณสุภาภาโจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 39,543 บาท นายวิชิตศรีขจร โจทก์ที่ 6เป็นเงิน 153,694.80 บาท นายสมเดช ร่มแสง โจทก์ที่ 7 เป็นเงิน46,737.60 บาท และนายไพฑูรย์ สุวรรณวิเวก โจทก์ที่ 9 เป็นเงิน73,444.80 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินของโจทก์แต่ละคนนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ผู้นั้น คำขอนอกนั้นและคำขอของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 8 ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับดังกล่าว(อันดับ 29)
จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 33)
คำสั่ง
อุทธรณ์ของจำเลยได้หยิบยกเหตุผลต่าง ๆ ประกอบพยานเอกสารและพยานบุคคลขึ้นกล่าวอ้างแล้วสรุปว่า ศาลแรงงานกลางเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริง กรณีต้องฟังว่าโจทก์มิใช่ลูกจ้างประจำของจำเลยและเป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น เป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางที่รับฟังว่าโจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยและเป็นการจ้างที่มิได้กำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน อันเป็นข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยชอบแล้วให้ยกคำร้อง