คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4936/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยและให้รื้อขนำของจำเลยที่ปลูกสร้างลงในที่พิพาท ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินที่โจทก์ซื้อมา จำเลยให้การต่อสู้ว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นของบิดาจำเลยซึ่งยกให้แก่จำเลยครอบครองและทำประโยชน์ตลอดมา ดังนี้ ตามคำให้การของจำเลยไม่มีปัญหาเรื่องการแย่งการครอบครองที่ดินที่จำเลยปลูกขนำอยู่จากโจทก์จึงไม่มีการอ้างสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1375 วรรคสอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดมีขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น เมื่อจำเลยอ้างในคำให้การว่าจำเลยครอบครองที่ดินของจำเลยเอง ศาลจึงไม่อาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เพราะเป็นการวินิจฉัยขัดแย้งกับประเด็นที่จำเลยต่อสู้ไว้ในคำให้การทั้งไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลจึงยกขึ้นวินิจฉัยเองไม่ได้ ปัญหาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ ปัญหาข้อนี้ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัย และเมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้ว คดีอาจต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง ศาลฎีกาเห็นสมควรให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 243(2) ประกอบมาตรา 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ซื้อที่ดินจากนายคร่องซึ่งนายคร่องได้แจ้งสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าว โจทก์ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาเกินกว่า 15 ปีแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2ได้บุกรุกเข้ามาในที่ดินของโจทก์ ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์และให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนขนำที่ก่อสร้างลงในที่พิพาทออกไป
จำเลยทั้งสองให้การว่า เดิมที่พิพาทรวมทั้งที่ดินโจทก์และจำเลยทั้งสองครอบครองเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน มีเนื้อที่30 ไร่ ต่อมานายประสงค์บิดาจำเลยที่ 2 ได้แบ่งที่พิพาทให้โจทก์จำนวน 10 ไร่ และให้นายประจักษ์ จำนวน 10 ไร่ ส่วนที่เหลืออีก10 ไร่ นายประสงค์ได้ยกให้แก่จำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองจึงได้เข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินที่ได้รับยกให้มาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์ห้ามมิให้จำเลยทั้งสองเข้าไปยุ่งเกี่ยวอีกต่อไป ให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนขนำที่สร้างลงในที่พิพาทออกไป
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาขึ้นมาทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในส่วนของข้อเท็จจริงนั้น ปรากฏว่าทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาเพียง 70,280 บาท ไม่เกินสองแสนบาท คดีโจทก์ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคแรก ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ในข้อเท็จจริงขึ้นมาด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ในส่วนฎีกาข้อกฎหมายของโจทก์ว่า ศาลจะยกมาตรา 1375 วรรคสองแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาวินิจฉัยให้ยกฟ้องของโจทก์เสียได้หรือไม่ ในเมื่อจำเลยทั้งสองมิได้อ้างมาตรานี้เป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและให้รื้อขนำของจำเลยปลูกสร้างลงในที่พิพาท ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินที่โจทก์ซื้อมา จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นของบิดาจำเลยที่ 2 ซึ่งยกให้แก่จำเลยทั้งสองครอบครองและทำประโยชน์ตลอดมา ดังนี้ตามคำให้การของจำเลยทั้งสองไม่อาจมีปัญหาเรื่องการแย่งการครอบครองที่ดินที่จำเลยทั้งสองปลูกขนำอยู่จากโจทก์จึงไม่มีการอ้างสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1375 วรรคสอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดมีขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น ดังนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองอ้างในคำให้การว่า จำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินของจำเลยทั้งสองเองศาลก็ไม่อาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เพราะเป็นการวินิจฉัยขัดแย้งกับประเด็นที่จำเลยทั้งสองต่อสู้ไว้ในคำให้การ ทั้งไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยเองไม่ได้ ฉะนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปี นับแต่ถูกจำเลยทั้งสองแย่งการครอบครองที่พิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง ขึ้นวินิจฉัยจึงเป็นการไม่ชอบ
ส่วนปัญหาที่ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามฟ้องหรือไม่นั้นเห็นว่าปัญหาข้อนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังไม่ได้วินิจฉัย และเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยคดีอาจต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงศาลฎีกาเห็นสมควรให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นนี้เสียก่อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 243(2) ประกอบมาตรา 247
พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 รวมสั่งเมื่อพิพากษาใหม่

Share