แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องกล่าวว่าจำเลยบังอาจสมคบกับพวกใช้ไม้ด้ามเสียม เป็นสาตราวุธตีทำร้ายร่างกายผู้เสียหายตายโดยเจตนาอ้างบท ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา 249 มาเป็นบทขอให้ลงโทษ ดังนี้ย่อมถือได้ว่า ฟ้องโจทก์มีความหมายเพียงพอให้เข้าใจได้ว่า โจทก์หาว่าจำเลยฆ่าผู้เสียหายตายโดยเจตนา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจสมคบกับพวกใช้ไม้ด้ามเสียมเป็นสาสตราวุธตีทำร้ายร่างกายนายพวง คณะคุณ ตายโดยเจตนาและพยายามด้วยความพยาบาทมาดหมาย ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๒๔๙, ๒๕๐
จำเลยรับว่าได้ใช้ไม้ด้ามเสียมตีนายดวง ตายจริงโดยไม่มีเจตนาฆ่า
ศาลชั้นต้นเชื่อข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้ฆ่านายดวงตายด้วยความพยาบาทมาดหมาย แต่คำบรรยายฟ้องของโจทก์กล่าวว่าจำเลยกับพวกใช้ไม้ตีนายดวงตายโดยเจตนานั้น คำว่าเจตนาน่าจะหมายถึงการตีโดยเจตนา จะว่าเจตนาฆ่าย่อมไม่ได้ คำว่าตายก็คือผลแห่งการตีทำให้นายดวงตายเท่านั้น ฉะนั้นต้องถือว่า เป็นเรื่องกล่าวหาว่า จำเลยฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ศาลจึงต้องลงโทษเพียงเท่าที่โจกท์ฟ้อง พิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา ๒๕๑ วรรคท้าย จำคุก ๒๐ ปี ลดตามมาตรา ๕๙ เสีย ๘ ปี คงจำคุก ๑๒ ปี
โจทก์, จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับศาลชั้นต้นว่า คำฟ้องของโจทก์จะถือว่าเป็นฟ้องฆ่าคนตายโดยเจตนาไม่ได้ ส่วนข้อเท็จจริงเห็นว่าไม่ได้ความชัดว่า จำเลยฆ่านายดวงโดยความพยาบาทมาดหมายจึงพิพากษาแก้ว่า จำเลยมีผิดตามมาตรา ๒๕๑ วรรคแรก จำคุก ๑๕ ปี ลดตามมาตรา ๕๙ หนึ่งในสาม คงจำคุก ๑๐ ปี
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามฟ้อง
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามฟ้องของโจทก์กล่าวว่า ข้อความที่จำเลยบังอาจใช้ไม้ตีนายดวงตายและคำว่าโดยเจตนา เมื่อประกอบกันแล้ว ย่อมมีความหมายได้ว่าโจทก์หาว่า จำเลยกระทำโดยเจตนาให้นายดวงตาย ตรงกับข้อความที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๔๙ นั้นเอง เมื่อประกอบกับโจทก์ได้อ้างมาตรา ๒๔๙ มาเป็นบทลงโทษด้วยแล้ว เห็นว่าฟ้องโจทก์มีความหมายเพียงพอให้เข้าใจได้แล้วว่า โจทก์หาว่าจำเลยฆ่านายดวงตายโดยเจตนา ส่วนข้อเท็จจริง ก็คงฟังตามศาลอุทธรณ์
จึงพิพากษาแก้ว่า จำเลยผิดตามมาตรา ๒๔๙ ให้จำคุกตลอดชีวิต ลดตามมาตรา ๕๙ หนึ่งในสาม คงจำคุก ๑๕ ปี