คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6806/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำร้องขอให้ยกเลิกการขายทอดตลาดของจำเลย อ้างว่าพนักงานของโจทก์และผู้ซื้อทรัพย์สนิทสนมกับเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงขายทอดตลาดได้ราคาต่ำกว่าราคาขายทอดตลาดในครั้งแรก คำร้องมีข้อความครบถ้วนแสดงให้เห็นว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสองแล้ว ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องเป็นการไม่ชอบ แต่การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาด โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสั่งรับคำร้องและสำเนาให้ทุกฝ่ายคัดค้าน แล้วทำการไต่สวนและมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดีนั้นก็ยังไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสาม ศาลฎีกาย่อมพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และคำสั่งศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องของจำเลยทั้งสองไว้ดำเนินการไต่สวนต่อไป

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้ชำระหนี้เงินกู้และไถ่ถอนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่นำมาประกันหนี้ ต่อมาโจทก์จำเลยทั้งสองได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แต่จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ในที่สุดเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 166459 ตำบลบางพูด (บ้านอ้อย) อำเภอปากเกร็ด(ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดในวันที่ 5 กันยายน 2539 มีผู้ประมูลซื้อได้ในราคา 1,400,000 บาท

จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งยกเลิกการขายทอดตลาด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีตามคำร้องไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาอย่างไร เพียงแต่อ้างว่าราคาขายต่ำไปเท่านั้น จึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 296 (ที่ถูกมาตรา 296 วรรคสอง) ให้ยกคำร้อง

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำสั่ง

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยให้เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดใหม่ต่อไป

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในเบื้องแรกว่า คำร้องขอให้ยกเลิกการขายทอดตลาดลงวันที่ 12 กันยายน 2539 ของจำเลยทั้งสองมีข้อความครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสองหรือไม่ เห็นว่า ตามคำร้องดังกล่าวจำเลยทั้งสองอ้างว่าพนักงานของโจทก์และผู้ซื้อทรัพย์สนิทสนมกับเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงขายทอดตลาดได้ราคาต่ำกว่าราคาขายทอดตลาดในครั้งแรก โดยในการขายทอดตลาดครั้งแรกผู้ประมูลได้ให้ราคาสูงสุดถึง 1,600,000 บาท จำเลยที่ 1 คัดค้าน เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่อนุญาตให้ขายแต่เมื่อขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทใหม่คงขายได้เพียง 1,400,000 บาท ดังนั้น ข้อความในคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าวของจำเลยทั้งสองจึงมีข้อความครบถ้วนแสดงให้เห็นว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อกฎหมายตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสองแล้ว ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องดังกล่าว ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยและการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาด โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสั่งรับคำร้องแล้วสำเนาให้โจทก์ ผู้ซื้อทรัพย์ และเจ้าพนักงานบังคับคดีคัดค้าน แล้วทำการไต่สวนและมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดีนั้น ยังไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสาม ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องของจำเลยทั้งสองไว้ดำเนินการไต่สวนต่อไป

Share