แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุภริยามีชู้ สามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากชู้ บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ชายชู้หรือชายที่มาล่วงเกินภริยาในทำนองชู้สาวจะต้องทราบว่าหญิงนั้นเป็นหญิงมีสามีแล้ว แต่ยังจงใจละเมิดสิทธิสามี จึงต้องรับผิดใช้ค่าทดแทน เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ทราบแล้วว่า จำเลยที่ 1 เป็นภริยาของโจทก์แต่ยังเป็นชู้และร่วมประเวณีกับจำเลยที่ 1 เป็นอาจิณ โจทก์ซึ่งเป็นสามีย่อมมีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์ได้
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1529 สิทธิฟ้องร้องโดยอาศัยเหตุในมาตรา 1516 (1) (2) (3) หรือ (6) หรือมาตรา 1523 ย่อมระงับไปเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่วันผู้กล่าวอ้างรู้หรือควรรู้ความจริงซึ่งตนอาจยกขึ้นกล่าวอ้าง หมายถึง กรณีที่เหตุที่กล่าวอ้างนั้นมิได้เกิดเหตุนั้นอีก สิทธิฟ้องร้องจึงระงับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่วันผู้กล่าวอ้างรู้หรือควรรู้ความจริงซึ่งตนอาจยกขึ้นกล่าวอ้าง แต่จำเลยที่ 2 ยังคงประพฤติเหตุดังกล่าวภายหลังวันที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าโจทก์รู้หรือควรรู้ความจริงซึ่งตนอาจยกขึ้นกล่าวอ้างได้ อันเป็นการกระทำเหตุดังกล่าวต่อเนื่อง สิทธิฟ้องร้องของโจทก์จึงยังไม่ระงับไป คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากการเป็นสามีและภริยากัน หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าทดแทนให้แก่โจทก์จำนวน 100,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้พิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากกัน และให้โจทก์และจำเลยที่ 1 แบ่งสินสมรสตามกฎหมาย
จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากกัน ให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าทดแทน จำนวน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันฟ้องวันที่ 21 พฤษภาคม 2555 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 20,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าทดแทน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว ให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์เท่าที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 อยู่กินเป็นสามีภริยากันตั้งแต่ปี 2521 และจดทะเบียนสมรสกันเมื่อปี 2534 มีบุตรด้วยกัน 3 คน จำเลยที่ 2 เป็นชาวสวิสเซอร์แลนด์ อาศัยอยู่ในประเทศไทยมาประมาณ 20 ปี จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกิจการผลิตและส่งออกเครื่องประดับจำพวกอัญมณี และดำรงตำแหน่งรองประธานหอการค้าไทย – สวิส จำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวและร่วมประเวณีกับจำเลยที่ 2 หลายครั้ง ตั้งแต่ปี 2552 ถึงวันที่ 17 ธันวาคม 2554
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อแรกมีว่า จำเลยที่ 2 ทราบว่าจำเลยที่ 1 เป็นภริยาของโจทก์หรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 ยังมีโจทก์เป็นสามี จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุภริยามีชู้ สามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากชู้ บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ชายชู้หรือชายที่มาล่วงเกินภริยาในทำนองชู้สาวจะต้องทราบว่าหญิงนั้นเป็นหญิงมีสามีแล้ว แต่ยังจงใจละเมิดสิทธิสามีด้วย จึงต้องรับผิดใช้ค่าทดแทน เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เองนำสืบรับว่า หลังจากมีเพศสัมพันธ์กับจำเลยที่ 2 แล้ว ประมาณปี 2553 จำเลยที่ 2 ส่งข้อความเข้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 1 โดยกล่าวถึงสามีจำเลยที่ 1 ซึ่งคือโจทก์ด้วย เช่น “Your hubby happy to have cheating wife” , “What about your hubby” แสดงว่าจำเลยที่ 2 ย่อมทราบหรือควรต้องทราบแล้วว่า จำเลยที่ 1 เป็นภริยาของโจทก์แต่ยังเป็นชู้และร่วมประเวณีกับภริยาผู้อื่นเป็นอาจิณ โจทก์ซึ่งเป็นสามีย่อมมีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์ได้ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาประการต่อมาว่า โจทก์ทราบความสัมพันธ์ของจำเลยทั้งสองตั้งแต่ก่อนวันที่ 23 มกราคม 2554 ซึ่งเป็นวันที่นางสาวสุทธาภา ได้แจ้งให้โจทก์ทราบ แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2555 เป็นระยะเวลาเกินกว่าหนึ่งปี สิทธิฟ้องร้องของโจทก์ย่อมระงับไปแล้วนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1529 สิทธิฟ้องร้องโดยอาศัยเหตุในมาตรา 1516 (1) (2) (3) หรือ (6) หรือมาตรา 1523 ย่อมระงับไปเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่วันผู้กล่าวอ้างรู้หรือควรรู้ความจริงซึ่งตนอาจยกขึ้นกล่าวอ้าง หมายถึง กรณีที่เกิดเหตุที่จะกล่าวอ้างแล้วมิได้เกิดเหตุนั้นอีก สิทธิฟ้องร้องจึงระงับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่วันผู้กล่าวอ้างรู้หรือควรรู้ความจริงซึ่งตนอาจยกขึ้นกล่าวอ้าง แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า คดีนี้จำเลยที่ 2 ยังคงประพฤติเหตุดังกล่าวภายหลังวันที่ 23 มกราคม 2554 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าโจทก์รู้หรือควรรู้ความจริงซึ่งตนอาจยกขึ้นกล่าวอ้างได้ อันเป็นการกระทำเหตุดังกล่าวต่อเนื่อง สิทธิฟ้องร้องของโจทก์จึงยังไม่ระงับไป คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อสุดท้าย ตรงกับปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าทดแทน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์เป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้วหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทดแทนสูงเกินไป ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยคดีทำนองเดียวกันซึ่งโจทก์สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล ประกอบอาชีพรับราชการนับว่ามีเกียรติและฐานะในวงสังคม สมรสกัน 10 ปี มีบุตรด้วยกัน 1 คน ครอบครัวมีความมั่นคงสมบูรณ์ ศาลฎีกากำหนดค่าทดแทนให้เพียง 100,000 บาท ส่วนโจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทดแทนน้อยเกินไปเพราะโจทก์ถูกเหยียดหยามศักดิ์ศรีชายชาติทหารและเกียรติยศนั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 พาจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาโจทก์ไปร่วมประเวณี ย่อมทำให้โจทก์ผู้เป็นสามีได้รับความเสื่อมเสียทั้งด้านจิตใจ เกียรติยศ และชื่อเสียง ซึ่งไม่อาจคิดเป็นราคาเงินได้ และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1525 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การกำหนดค่าทดแทนให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์ โดยศาลจะสั่งให้ชำระครั้งเดียวหรือแบ่งชำระเป็นงวด ๆ มีกำหนดเวลาตามที่ศาลจะเห็นสมควรก็ได้ เช่นนี้ ศาลจึงต้องกำหนดโดยคำนึงถึงฐานานุรูปของคู่ความและพฤติการณ์แห่งคดี ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงเหตุที่จำเลยที่ 2 และโจทก์กล่าวอ้างมาในฎีกาประกอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดจำนวนค่าทดแทนพร้อมดอกเบี้ยให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์นั้น นับว่าเหมาะสมตามควรแก่พฤติการณ์แล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะกำหนดค่าทดแทนให้เปลี่ยนแปลงเป็นอื่นไป ฎีกาทั้งของโจทก์และจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ