คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6800/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยให้การปฏิเสธว่าโจทก์ได้สำแดงราคาสินค้าต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาด จำเลยจึงได้ประเมินราคาใหม่ตามราคาแท้จริงในท้องตลาดประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่าสินค้าของโจทก์มีราคาอันแท้จริงในท้องตลาดเท่าใด แม้จำเลยจะให้การไว้ว่าได้ประเมินราคาใหม่โดยเปรียบเทียบราคาสินค้าของโจทก์กับบัญชีราคาสินค้า ซึ่งถือเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดก็ตาม จำเลยก็สามารถนำสืบหักล้างพยานโจทก์ให้เห็นว่าราคาที่โจทก์สำแดงนั้นไม่ใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด เนื่องจากราคาสินค้าของโจทก์มีราคาที่ออกจากโรงงานผู้ผลิตตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 71 สูงกว่าราคาที่โจทก์สำแดงไว้ได้ เมื่อศาลเห็นว่าราคาที่โจทก์สำแดงไว้และราคาที่จำเลยได้ประเมินใหม่ตามคำให้การมิใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด แต่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาดมีราคาตามที่ออกจากโรงงานผู้ผลิตซึ่งมีราคาสูงกว่าที่โจทก์สำแดงและต่ำกว่าที่จำเลยประเมินใหม่เป็นประโยชน์แก่โจทก์ ศาลก็ย่อมรับฟังราคาอันแท้จริงในท้องตลาดตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 71 มาเป็นราคากำหนดในการประเมินอากรขาเข้าให้ถูกต้องได้ เพราะเป็นการวินิจฉัยถึงราคาอันแท้จริงในท้องตลาดตามประเด็นที่โจทก์จำเลยโต้แย้งกันนั่นเองเมื่อจำเลยประเมินอากรขาเข้าของสินค้าโจทก์เกินกว่าที่โจทก์ต้องชำระ ศาลก็ย่อมพิพากษาเพิกถอนส่วนที่ประเมินเกินไปนั้น และกำหนดให้ประเมินอากรขาเข้าในส่วนที่โจทก์จะต้องชำระให้ถูกต้องได้ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกคำให้การ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม 2533 โจทก์นำสินค้า คือเกียร์รถยนต์บรรทุกเครื่องหมายการค้า “ZF ECOMAT”(AUTOMATIC TRANSMISSION IN USE) จากประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันเข้ามาในราชอาณาจักรจำนวน 8 ชุด ราคาชุดละ11,613 มาร์กเยอรมันนี เอฟ.โอ.บี เมื่อรวมค่าประกันและค่าขนส่งด้วยจะเป็นราคาชุดละ 11,963 มาร์กเยอรมันนี ซี.ไอ.เอฟ. กรุงเทพรวม 8 ชุด เป็นเงิน 95,704 มาร์กเยอร์มันนี ซี.ไอ.เอฟ. กรุงเทพโจทก์ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าสำแดงรายการต่อกรมศุลกากร โดยสำแดงราคาสินค้าเท่าที่โจทก์ซื้อเข้ามาตามความเป็นจริงอันเป็นราคาขายส่งเงินสดในท้องตลาดขณะนั้นเป็นราคารวม 95,704 มาร์กเยอรมันนี ซี.ไอ.เอฟ. กรุงเทพ สำหรับสินค้า 8 ชุดคำนวณเป็นเงินไทยเท่ากับ 3,063,875.51 บาท โจทก์สำแดงรายการเสียภาษีตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 รวมเป็นเงินค่าภาษีอากร และค่าธรรมเนียมพิเศษ 1,216,721 บาท เจ้าพนักงานศุลกากรได้ตรวจสอบเอกสารและใบขนสินค้าขาเข้าของโจทก์แล้วพอใจจึงให้โจทก์ชำระเงินค่าภาษีอากร โจทก์ได้ชำระเงินค่าภาษีอากรแก่รัฐเป็นเงินรวม1,216,721 บาท แล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2533 โจทก์นำใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าที่ชำระค่าภาษีอากรดังกล่าวพร้อมเอกสารประกอบไปยื่นและรับการตรวจปล่อยออกของจากเจ้าพนักงานกองตรวจสินค้าขาเข้า แต่มิได้รับการปล่อยสินค้าเพราะเจ้าพนักงานหน่วยป้องกันและปราบปรามของด่านศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 อายัดกักยึดสินค้าโจทก์ไว้ที่คลังสินค้าของการท่าเรือตามเดิม อ้างเหตุผลว่า โจทก์สำแดงรายการสินค้าเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงอากรเป็นเหตุให้เงินอากรขาด จึงแจ้งให้เจ้าพนักงานประเมินอากรพิจารณาราคาใหม่ว่าราคาสินค้าและค่าภาษีอากรขาดไปเท่าใด ต่อมาระหว่างวันที่ 11 ธันวาคม 2533เจ้าพนักงานประเมินอากรได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่า โจทก์สำแดงรายการชนิดของ พิกัดอัตราศุลกากร และราคาสินค้าถูกต้องแล้ว ได้ส่งเรื่องราวและเอกสารของโจทก์ไปพิจารณาคดีที่กองคดีของกรมศุลกากรแล้วก็ได้ความยุติ มีความเห็นต้องกับกองพิธีการและประเมินอากรดังกล่าวต่อมาระหว่างวันที่ 13 ธันวาคม 2533 ถึงวันที่ 4 มกราคม 2534จำเลยที่ 2 ซึ่งโดยระเบียบการแบ่งส่วนราชการในกรมศุลกากรแล้วไม่มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดราคาสินค้าและประเมินค่าภาษีอากรได้สั่งการให้เจ้าพนักงานประเมินราคากองพิธีการและประเมินอากรทำการประเมินราคาสินค้าและคำนวณค่าภาษีอากรให้โจทก์ชำระเพิ่มใหม่โดยให้กำหนดราคาประเมินขึ้นตามแนวทางที่ตนมีความต้องการอย่างไม่มีข้อเท็จจริงและเหตุผลที่ชอบซึ่งจากการประเมินตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว ทำให้ตัวเลขราคาสินค้าโจทก์เพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่ถูกต้อง 2,248,862.08 บาท อากรขาเข้าเพิ่มขึ้น 1,349,317.96บาท ภาษีการค้าเพิ่มขึ้น 408,034.33 บาท (ลด 2% แล้ว)ภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่มขึ้น 40,803.43 บาท ค่าธรรมเนียมพิเศษที่ต้องเสียร้อยละ 0.5 ของราคาก็เพิ่มขึ้น 11,244.31 บาท ด้วยรวมเป็นเงินค่าภาษีอากรที่โจทก์ต้องชำระเพิ่มอีก 1,809,400.03 บาทโจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินราคาสินค้าเพิ่มของเจ้าพนักงานจำเลยในครั้งที่ 2 จึงไม่ยอมชำระและได้วางหลักทรัพย์เป็นหนังสือค้ำประกันของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ให้คุ้มกับเงินค่าภาษีอากรที่เพิ่มกับค่าปรับตามที่เจ้าพนักงานจำเลยเรียกร้องในวงเงิน 5,488,000 บาทโจทก์จึงสามารถนำของออกจากอารักขาของกรมศุลกากรได้ แต่โจทก์ก็ไม่สามารถส่งมอบของที่นำเข้ามาให้แก่คู่สัญญาที่สั่งซื้อได้เพราะโจทก์ส่งสินค้าล่าช้ากว่ากำหนดมาก จึงขอบอกเลิกสัญญากับผู้ซื้อแล้ว โจทก์จึงได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยสินค้าเกียร์รถยนต์บรรทุกที่โจทก์นำเข้ามาและยื่นใบขนสินค้าชำระภาษีอากรและค่าธรรมเนียมพิเศษแก่รัฐนั้น โจทก์ซื้อมาตามราคาในท้องตลาดของต่างประเทศซึ่งผู้ขายเสนอราคาขายแก่โจทก์โดยที่โจทก์และผู้ขายในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันไม่เคยรู้จักไม่เคยเห็นและไม่มีความสัมพันธ์กันพิเศษแต่อย่างใด โจทก์ติดต่อขอซื้อสินค้าได้ราคาตามที่ผู้ขายเสนอขายให้โจทก์ตามปกติเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ฉะนั้นที่เจ้าพนักงานจำเลยภายใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 กล่าวหาว่าโจทก์สำแดงราคาสินค้าต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาดแล้วประเมินราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น โดยปราศจากหลักเกณฑ์และมีความมุ่งประสงค์จะให้ค่าภาษีอากรขาดมากขึ้น เป็นการกระทำที่ไม่ชอบ เพราะราคาสินค้าที่เจ้าพนักงานจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 นำมาใช้ประเมินต่อสินค้าโจทก์นั้น มิใช่ราคาสินค้าอันแท้จริงในท้องตลาด ขอให้พิพากษาว่าราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงในใบขนสินค้า เลขที่ 093-64187-8เป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด การประเมินราคาสินค้าเพิ่มครั้งที่ 2ของจำเลยไม่ชอบ ให้เพิกถอนการประเมินนั้นเสีย
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ได้นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรตามใบขนสินค้าสำแดงว่าเป็นเกียร์อัตโนมัติ ใช้แล้ว ยี่ห้อ”ZF ECOMAT” จำนวน 8 ชุด ขั้นแรกเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1พิจารณาตามใบขนสินค้า แล้วหลงเชื่อว่าเป็นของเก่าใช้แล้วจริงตามที่สำแดงไว้ และราคาเหมาะสมกับในราคาของเก่า จึงยอมรับราคาตามที่โจทก์สำแดงไว้ แต่เมื่อได้ตรวจสอบสินค้าแล้ว เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 พบว่า สินค้านั้นเป็นเกียร์อัตโนมัติจริงแต่เป็นของใหม่ทั้ง8 ชุด มิใช่ของเก่าตามที่สำแดงไว้ โจทก์ได้ใช้กลอุบายทำการให้ดูคล้ายสภาพของเก่า อันเป็นการสำแดงเท็จ เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1จึงได้อายัดสินค้าของโจทก์ไว้เพื่อส่งไปทำการประเมินราคาใหม่ให้เป็นไปตามสภาพสินค้าที่แท้จริง จำเลยที่ 1 จึงได้เปรียบเทียบราคาสินค้าของโจทก์กับบัญชีราคาสินค้า (PRICE LIST) ยี่ห้อ”ZF ECOMAT” ซึ่งเป็นสินค้าประเภทเกียร์อัตโนมัติและมีหมายเลขกำกับอะไหล่ (PART NO.) 4139006410 ตรงกับของโจทก์ทุกประการ ซึ่งบัญชีราคาสินค้า (PRICE LIST) ที่นำมาเปรียบเทียบนั้นเป็นราคาของผู้จำหน่ายหรือผู้ผลิตโดยตรง อันถือได้ว่าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ผลการตรวจสอบเกียร์ดังกล่าวทั้ง 8 ชุด ปรากฏว่าราคาที่โจทก์สำแดงนั้นต่ำกว่าราคาซึ่งเป็นราคาแท้จริงในท้องตลาดอยู่ถึง 2,248,862.08 บาท ซึ่งเป็นผลให้ค่าภาษีอากรขาดไป ดังนี้อากรขาเข้า 1,349,317.96 บาท ภาษีการค้า 408,034.33 บาทภาษีบำรุงเทศบาล 40,803.43 บาท ค่าธรรมเนียมพิเศษตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 77/2533 เป็นเงิน 11,244.31 บาท เพื่อให้เป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1จึงได้ประเมินเพิ่มราคาขึ้นตามจำนวนดังกล่าวเป็นการชอบแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินภาษีอากรของจำเลยที่ 1 บางส่วน โดยให้ใช้ราคาที่โรงงานผู้ผลิตขายให้โจทก์เป็นราคาที่แท้จริงในท้องตลาดเป็นเกณฑ์ประเมินภาษีอากร คำขออื่นให้ยกเสีย
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ส่วนปัญหาว่า การที่ศาลภาษีอากรกลางฟังราคาตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 71 เป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกคำให้การหรือไม่เห็นว่า จำเลยให้การปฏิเสธว่าโจทก์ได้สำแดงราคาสินค้าต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาด จำเลยจึงได้ประเมินราคาใหม่ตามราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่าสินค้าของโจทก์มีราคาอันแท้จริงในท้องตลาดเท่าใด แม้จำเลยจะให้การไว้ว่าได้ประเมินราคาใหม่โดยเปรียบเทียบราคาสินค้าของโจทก์กับบัญชีราคาสินค้า (PRICE LIST) ซึ่งถือเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดก็ตามจำเลยก็สามารถนำสืบหักล้างพยานโจทก์ให้เห็นว่าราคาที่โจทก์สำแดงนั้นไม่ใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด เนื่องจากราคาสินค้าของโจทก์มีราคาที่ออกจากโรงงานผู้ผลิตตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 71สูงกว่าราคาที่โจทก์สำแดงไว้ได้ เมื่อศาลเห็นว่าราคาที่โจทก์สำแดงไว้และราคาที่จำเลยได้ประเมินใหม่ตามคำให้การมิใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด แต่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาดมีราคาตามที่ออกจากโรงงานผู้ผลิตซึ่งมีราคาสูงกว่าที่โจทก์สำแดงและต่ำกว่าที่จำเลยประเมินใหม่เป็นประโยชน์แก่โจทก์ ศาลก็ย่อมรับฟังราคาอันแท้จริงในท้องตลาดตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 71 มาเป็นราคากำหนดในการประเมินอากรขาเข้าให้ถูกต้องได้ เพราะเป็นการวินิจฉัยถึงราคาอันแท้จริงในท้องตลาดตามประเด็นที่โจทก์จำเลยโต้แย้งกันนั่นเองเมื่อจำเลยประเมินอากรขาเข้าของสินค้าโจทก์เกินกว่าที่โจทก์ต้องชำระ ศาลก็ย่อมพิพากษาเพิกถอนส่วนที่ประเมินเกินไปนั้นและกำหนดให้ประเมินอากรขาเข้าในส่วนที่โจทก์จะต้องชำระให้ถูกต้องได้หาเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกคำให้การแต่อย่างใดไม่ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share