คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 680/2514

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยตกลงท้ากันให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของจำเลยโดยให้ส่งเอกสารที่โจทก์หามาได้ไปตรวจพิสูจน์ด้วยครั้นโจทก์ส่งเอกสารดังกล่าวต่อศาลเพื่อส่งไปตรวจพิสูจน์ จำเลยกลับขอถอนคำท้า โจทก์ยื่นคำแถลงคัดค้านโดยกล่าวด้วยว่า เอกสารที่โจทก์หามาส่งศาลนี้ ลายมือชื่อจำเลยเหมือนกับลายมือชื่อจำเลยในสัญญากู้รายพิพาท จำเลยได้รับสำเนาคำแถลงคัดค้านของโจทก์แล้วก็นิ่งเสีย ไม่ปฏิเสธต่อศาลว่าลายมือชื่อในเอกสารที่โจทก์หามาส่งศาลนั้นไม่ใช่ของจำเลย ดังนี้ ย่อมถือไม่ได้ว่าเอกสารนั้นไม่ใช่เอกสารที่จำเลยได้ลงลายมือชื่อไว้
ตกลงกันให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของผู้กู้ในสัญญากู้รายพิพาทว่าเป็นลายมือชื่อของจำเลยหรือไม่ โดยให้เปรียบเทียบกับลายมือชื่อในลายมือชื่อตัวอย่าง ลายมือชื่อในใบแต่งทนายและลายมือชื่อในเอกสารที่โจทก์หามาได้ เมื่อผู้เชี่ยวชาญตรวจพิสูจน์แล้วมีความเห็นว่าลายมือชื่อจำเลยในสัญญากู้รายพิพาทกับในเอกสารที่โจทก์ส่งศาลน่าเชื่อว่าเป็นลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญนี้ตรงตามความประสงค์ที่ขอให้ตรวจพิสูจน์แล้ว แม้ผู้เชี่ยวชาญจะไม่ได้ให้ความเห็นยืนยันเกี่ยวกับลายมือชื่อในใบแต่งทนายและในลายมือชื่อตัวอย่างเพราะมีลักษณะการเขียนต่างแบบกัน ก็ไม่ทำให้ความเห็นข้างต้นนั้นเสียไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2510 จำเลยได้กู้ยืมเงินของโจทก์ไป 10,000 บาท คิดดอกเบี้ยตามกฎหมาย กำหนดส่งใช้ต้นเงินคืนภายในวันที่ 1 มีนาคม 2511 ปรากฏตามสำเนาสัญญากู้เงินท้ายฟ้องบัดนี้พ้นกำหนดใช้เงินคืนแล้ว โจทก์ทวงหลายครั้ง จำเลยก็ขอผัดเรื่อยมา ดอกเบี้ยค้างชำระตั้งแต่วันกู้ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 761 บาท41 สตางค์ จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยใช้ต้นเงินกู้ 10,000 บาทกับดอกเบี้ย 761 บาท 41 สตางค์ และดอกเบี้ยต่อจากวันฟ้องร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี จนกว่าจะชำระเงินให้โจทก์เสร็จ กับให้จำเลยเสียค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์ด้วย

จำเลยให้การว่า ได้ดูลายเซ็นในสัญญากู้เงินแล้ว ไม่เหมือนลายเซ็นของจำเลย จำเลยจึงไม่ทราบแน่ชัดว่าจะเป็นสัญญาซึ่งจำเลยได้เซ็นหรือไม่ หากเป็นลายเซ็นของจำเลยจริง ก็ต้องเนื่องมาจากเมื่องานสงกรานต์ 3 ปีก่อน จำเลยยืมเงินนายหมื่น 500 บาทเพื่อเล่นการพนันนายหมื่นให้จำเลยเซ็นชื่อไว้ในสัญญากู้ฉบับหนึ่ง โดยมิได้กรอกข้อความใด ๆ แต่จำเลยเล่นการพนันไม่เสีย จึงคืนเงิน 500 บาทให้นายหมื่น จำเลยขอสัญญากู้คืน นายหมื่นบอกว่าสัญญากู้ไม่ได้กรอกข้อความไว้ไม่ต้องเอาไปก็ได้และจะทำลายสัญญาให้ จำเลยเข้าใจว่าเป็นความจริงจึงมิได้เอาสัญญาคืน

ในวันนัดสืบพยานโจทก์ คู่ความตกลงท้ากันประเด็นเดียวว่าลายเซ็นชื่อในสัญญากู้เป็นของจำเลยจริงหรือไม่ ถ้าจริงจำเลยยอมแพ้คดีตามฟ้อง ถ้าไม่ใช่ลายเซ็นจำเลย โจทก์ยอมแพ้ โดยส่งไปให้ผู้เชี่ยวชาญพิสูจน์ลายมือของกรมตำรวจทำการพิสูจน์

ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอเลิกคำท้าที่ตกลงให้ส่งเอกสารไปพิสูจน์ ขอให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามคำให้การต่อสู้ของจำเลย โจทก์คัดค้าน ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยถอนคำท้า คงส่งเอกสารสัญญากู้พิพาท พร้อมกับลายเซ็นตัวอย่างของจำเลยในกระดาษเบอร์ 40 ลายเซ็นชื่อจำเลยในใบแต่งทนาย ลายเซ็นตัวอย่างของจำเลยในสัญญากู้เงิน และเอกสารลายเซ็นชื่อจำเลยที่โจทก์หามาได้ คิดเรื่องราวขออนุญาตขายสุราของจำเลย และสัญญากู้เงินระหว่างนายทองกับจำเลย ไปให้ผู้เชี่ยวชาญกรมตำรวจทำการตรวจพิสูจน์

จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งไม่อนุญาตให้จำเลยถอนคำท้าศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์ โดยเห็นว่าเป็นการอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาต้องห้ามอุทธรณ์ จำเลยยื่นคำแถลงคัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นเพื่อสงวนสิทธิในการอุทธรณ์ต่อไป พร้อมกับยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย แต่จำเลยยื่นเกิน 10 วัน ศาลชั้นต้นจึงสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยอีก

ครั้นเมื่อผู้เชี่ยวชาญกรมตำรวจส่งผลการตรวจพิสูจน์มาแล้วศาลชั้นต้นเห็นว่า ผลการพิสูจน์ฟังได้ว่า ลายเซ็นชื่อในสัญญากู้พิพาทเป็นลายเซ็นของจำเลย จำเลยจึงแพ้คดีตามคำท้า พิพากษาให้จำเลยใช้ต้นเงิน 10,000 บาทดอกเบี้ย 761 บาท 41 สตางค์ และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งในต้นเงิน 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ และเสียค่าฤชาธรรมเนียมค่าทนายความ 100 บาทแทนโจทก์

จำเลยอุทธรณ์ว่า การที่ผู้เชี่ยวชาญพิสูจน์ว่าลายเซ็นชื่อจำเลยในเอกสารอื่นที่โจทก์นำส่งศาลเหมือนกับลายเซ็นชื่อของจำเลยในสัญญากู้เงินพิพาท โดยที่ไม่มีการรับรองว่าลายเซ็นในเอกสารที่โจทก์ส่งศาลนั้นเป็นลายเซ็นชื่อของจำเลย ไม่ตรงกับคำท้าและจำเลยมีสิทธิถอนคำท้าได้

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การตรวจพิสูจน์ของผู้เชี่ยวชาญเทียบเคียงลายเซ็นชื่อของจำเลยในสัญญากู้พิพาทกับลายเซ็นตัวอย่างของจำเลยในกระดาษเบอร์ 40 และในใบแต่งทนาย ผู้เชี่ยวชาญไม่อาจลงความเห็นได้ว่าเป็นลายเซ็นชื่อของบุคคลคนเดียวกัน การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยอาศัยผลการตรวจพิสูจน์ว่าลายเซ็นชื่อจำเลยตามเรื่องราวขออนุญาตขายสุราเป็นลายเซ็นของคนคนเดียวกับที่เซ็นไว้ในสัญญากู้พิพาทนั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยรับโดยชัดแจ้งว่าลายเซ็นนั้นเป็นของจำเลย จึงได้ผลไม่ตรงกับประเด็นที่คู่ความท้ากัน จึงพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่

โจทก์ฎีกา ขอให้โจทก์ชนะคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาแล้ว ที่โจทก์ขอแถลงการณ์ด้วยวาจานั้น เห็นว่าไม่จำเป็น ให้งด

คดีคงมีประเด็นที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประเด็นเดียวว่า ผลของการพิสูจน์ของผู้เชี่ยวชาญกรมตำรวจฟังได้ว่าลายมือชื่อจำเลยในเอกสารสัญญากู้พิพาทเป็นลายมือชื่อของจำเลยจริงตรงตามคำท้าของคู่ความหรือไม่ ส่วนประเด็นเรื่องจำเลยมีสิทธิขอถอนคำท้าหรือไม่ จำเลยมิได้ฎีกา แม้จะกล่าวมาในคำแก้ฎีกา แต่จำเลยก็ยื่นคำแก้ฎีกาเมื่อพ้นเวลาแล้ว ศาลชั้นต้นไม่รับเป็นคำแก้ฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ข้อตกลงท้ากันของโจทก์จำเลยนี้ ศาลชั้นต้นได้จดไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 7 มิถุนายน 2511 ว่า

“นัดสืบพยานโจทก์วันนี้ โจทก์จำเลยและทนายความมาศาล

คู่ความตกลงท้ากันประเด็นเดียวว่า ลายเซ็นชื่อในสัญญากู้เป็นของจำเลยจริงหรือไม่ ถ้าจริงจำเลยยอมแพ้เต็มตามฟ้อง ถ้าไม่ใช่ลายเซ็นจำเลย โจทก์ยอมแพ้คดี โดยส่งไปให้ผู้เชี่ยวชาญพิสูจน์ลายมือชื่อของกรมตำรวจพิสูจน์ โดยรับออกค่าธรรมเนียมฝ่ายละกึ่ง

จำเลยรับเซ็นชื่อต่อหน้าศาล

โจทก์แถลงขอลายเซ็นจำเลย ณ ที่อื่นมาประกอบภายใน 10 วัน หากหาไม่ได้ก็สละสิทธิเรื่องนี้

ให้ส่งลายมือตัวอย่าง ลายเซ็นชื่อจำเลยในใบแต่งทนายความและลายมือชื่อซึ่งโจทก์หามาได้ส่งไปกองพิสูจน์หลักฐาน

ฯลฯ”

ดังนี้ ความในวรรคที่ 5 ของรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าว ย่อมมีความหมายว่า ให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบลายมือชื่อจำเลยในเอกสารสัญญากู้รายพิพาท กับลายมือชื่อตัวอย่าง ลายมือชื่อจำเลยในใบแต่งทนายความ และลายมือชื่อจำเลยในเอกสารที่โจทก์หามาได้ หาใช่ให้ตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบเฉพาะแต่ลายมือชื่อตัวอย่างและลายมือชื่อจำเลยในใบแต่งทนายเท่านั้นไม่

ครั้นเมื่อผู้เชี่ยวชาญทำการตรวจพิสูจน์แล้ว มีความเห็นว่าลายมือชื่อจำเลยในสัญญากู้รายพิพาท กับลายมือชื่อจำเลยในเอกสารที่โจทก์ส่งศาล คือเรื่องราวขออนุญาตขายสุรา และสัญญากู้เงินนายทองลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2507 นั้น มีลีลาการเขียน การลากเส้น ยกปากกาตลอดจนรูปลักษณะของตัวอักษร คล้ายคลึงกันเป็นส่วนมาก ดังได้ชี้ให้เห็นด้วยลูกศรสีแดงในภาพประกอบรายงาน จึงน่าเชื่อว่าเป็นลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน ส่วนลายมือชื่อของจำเลยในใบแต่งทนายความและตัวอย่างลายมือชื่อในแบบพิมพ์สัญญากู้เงินเปล่า ๆ และในกระดาษเบอร์ 40 ของศาลเปรียบเทียบกับลายมือชื่อในสัญญากู้รายพิพาท มีรูปลักษณะของตัวอักษรบางตัวคล้ายคลึงกัน ดังได้ชี้ให้เห็นด้วยลูกศรสีแดงในภาพประกอบรายงาน แต่เนื่องจากเป็นการเขียนต่างแบบกัน ในกรณีนี้จึงไม่อาจลงความเห็นให้เป็นหลักฐานแต่ประการหนึ่งประการใดได้ ดังปรากฏตามรายงานการตรวจพิสูจน์ของผู้เชี่ยวชาญที่ 394/2511ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2511

ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าพอแปลได้ว่า ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าลายมือชื่อจำเลยในเอกสารที่โจทก์ส่งศาลกับลายมือชื่อจำเลยในสัญญากู้รายพิพาทเป็นลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน เป็นการตรงกับความประสงค์ที่ส่งให้พิสูจน์แล้ว แม้ผู้เชี่ยวชาญจะไม่ให้ความเห็นยืนยันเกี่ยวกับลายมือชื่อจำเลยในใบแต่งทนายความและในลายมือชื่อตัวอย่าง เพราะมีลักษณะการเขียนต่างแบบกัน ก็หาทำให้ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ เมื่อเปรียบเทียบกับเอกสารที่โจทก์ส่งศาลเสียไปไม่

ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เอกสารที่โจทก์หามาส่งศาลนั้น จำเลยมิได้รับรองโดยชัดแจ้งว่าลายมือชื่อนั้นเป็นของจำเลย ข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยทราบข้อตกลงในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นดีอยู่แล้วว่า ให้ส่งเอกสารที่โจทก์หามาได้ไปตรวจพิสูจน์ด้วย ครั้นเมื่อโจทก์ส่งเอกสารดังกล่าวต่อศาลเพื่อส่งไปตรวจพิสูจน์ จำเลยกลับยื่นคำร้องขอถอนคำท้า โจทก์ยื่นคำแถลงคัดค้าน โดยกล่าวว่า เอกสารที่โจทก์หามาส่งศาล ลายมือชื่อจำเลยเหมือนกับลายมือชื่อจำเลยในสัญญากู้รายพิพาท จำเลยได้รับสำเนาคำแถลงคัดค้านของโจทก์แล้ว ก็นิ่งเฉย หาได้ปฏิเสธต่อศาลว่า เอกสารที่โจทก์หามาส่งศาลนั้นไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยไม่ รูปคดีไม่มีทางเห็นไปได้ว่า เอกสารที่โจทก์หามาส่งศาล ไม่ใช่เป็นเอกสารที่จำเลยได้ลงลายมือชื่อไว้ เมื่อผู้เชี่ยวชาญพิสูจน์ลายมือชื่อจำเลยในเอกสารที่โจทก์ส่งศาลกับลายมือชื่อจำเลยในสัญญากู้พิพาท เป็นลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน จำเลยจึงต้องแพ้คดีโจทก์ตามคำท้า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาแล้วพิพากษาใหม่นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ฎีกาแทนโจทก์ด้วย โดยกำหนดค่าทนายความสองศาลให้ 400 บาท

Share