คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6796/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ กำหนดให้ลงโทษปรับแก่ผู้กระทำความผิดเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงโทษปรับจำเลยทั้งสองเป็นเงินสี่เท่าของราคาของรวมค่าอากรเข้าด้วยนั้นชอบแล้ว แต่ที่ให้แบ่งปรับคนละ 18,200 บาท นั้นไม่ชอบ เพราะแม้มาตรา 27 ทวิ จะมิได้บัญญัติข้อความเจาะจงลงไปว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วเช่นเดียวกับมาตรา 27ก็ตาม แต่มาตรา 27 ทวิ เป็นบทบัญญัติต่อท้ายและเป็นความผิดต่อเนื่องจากมาตรา 27ดังนั้น ในเรื่องโทษนี้ก็ย่อมมีความหมายเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 ว่าสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ นั่นเองไม่ใช่ให้ปรับสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ แล้วแบ่งปรับเป็นรายบุคคลคนละเท่า ๆ กัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2496(ที่ถูก พ.ศ. 2469) มาตรา 27 ทวิ พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484มาตรา 4, 7, 11, 48, 69, 73, 74, 74 ทวิ, 74 จัตวา ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33, 83, 91 ริบของกลาง และจ่ายสินบนแก่ผู้แจ้งความนำจับตามกฎหมาย
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ในข้อหาร่วมกันทำไม้ยางโดยไม่ได้รับอนุญาตร่วมกันแปรรูปไม้ยางโดยไม่ได้รับอนุญาตและร่วมกันมีไม้ยางยังไม่ได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสอง (1), 73 วรรคสอง (1)พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 2 ปี ฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามซึ่งยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 2 ปี รวมจำคุกคนละ 4 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี และลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันซื้อหรือรับไว้ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรข้อห้ามหรือข้อจำกัด จำคุกคนละ 1 ปี รวมโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 5 ปี สำหรับข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยกริบของกลางและให้จ่ายสินบนร้อยละสามสิบของราคาเครื่องเลื่อยยนต์ซึ่งเป็นของกลางโดยสินบนให้จ่ายแก่ผู้นำจับตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2498 (ที่ถูก พ.ศ. 2489) มาตรา 5(2), 8 วรรคหนึ่ง ส่วนที่โจทก์มีคำขอให้จ่ายเงินสินบนนำจับตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 74 จัตวา ด้วยนั้น ปรากฏว่าคดีนี้ศาลมิได้พิพากษาลงโทษปรับจำเลย กรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าวที่จะให้ศาลสั่งจ่ายเงินสินบนนำจับได้ จึงยกคำขอของโจทก์ในส่วนนี้
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยทั้งสองในความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ กระทงละ 5,000 บาท อีกสถานหนึ่ง รวม 2 กระทง เป็นเงิน10,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่ง คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 5,000 บาทปรับจำเลยทั้งสองในความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยกันแล้วคนละ 18,200 บาท อีกสถานหนึ่ง รวมปรับจำเลยที่ 1เป็นเงิน 23,200 บาท และปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 28,200 บาท ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้รอการลงโทษจำคุกไว้คนละ 2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 จ่ายสินบนนำจับแก่ผู้นำจับกึ่งหนึ่งของเงินค่าปรับตามพระราชบัญญัติป่าไม้ มาตรา 74 จัตวา วรรคหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องพิจารณาตามฎีกาโจทก์ว่า การวางโทษปรับจำเลยทั้งสองของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ กำหนดให้ลงโทษปรับแก่ผู้กระทำความผิดเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงโทษปรับจำเลยทั้งสองเป็นเงินสี่เท่าของราคาของรวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วนั้นชอบแล้วแต่ที่ให้แบ่งปรับคนละ 18,200 บาท นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เพราะแม้ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ จะมิได้บัญญัติข้อความเจาะจงลงไปว่าสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วเช่นเดียวกับมาตรา 27 ก็ตาม แต่มาตรา 27 ทวิ เป็นบทบัญญัติต่อท้ายและเป็นความผิดต่อเนื่องจากมาตรา 27 ในเรื่องโทษนี้ก็ย่อมมีความหมายเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 ว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ นั่นเอง ไม่ใช่ให้ปรับสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ แล้วแบ่งปรับเป็นรายบุคคลคนละเท่า ๆ กัน ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษามา”
พิพากษาแก้เป็นว่า ปรับจำเลยทั้งสองในความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรมาตรา 27 ทวิ รวมกันเป็นเงิน 36,400 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share