คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5477/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ความรับผิดของจำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คเกิดขึ้นเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ดังนั้น สถานที่ที่เช็คพิพาทถูกปฏิเสธการจ่ายเงินย่อมเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดด้วย เมื่อธนาคารตามเช็คที่ถูกปฏิเสธการจ่ายเงินตั้งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นย่อมถือได้ว่ามูลคดีนี้เกิดขึ้นในเขตศาลชั้นต้น โจทก์จึงเสนอคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมนายอินทรีย์ ผูกเกสร ร่วมลงทุนซื้อที่ดินกับจำเลยเป็นเงิน 140,000 บาท ต่อมาจำเลยสั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาพระปิ่นเกล้า ลงวันที่ 30 เมษายน 2535 จำนวน 140,000 บาท ระบุชื่อนายอินทรีย์เป็นผู้รับเงินเพื่อคืนเงินที่รวมลงทุนให้แก่นายอินทรีย์ เมื่อถึงกำหนดชำระเงินนายอินทรีย์นำเช็คไปเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ในวันเดียวกันนายอินทรีย์ได้โอนเช็คพิพาทให้แก่โจทก์โดยสลักหลังและส่งมอบให้แก่โจทก์และรับเงินจำนวน 140,000 บาท ไปจากโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้ทรง โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระเงินตามเช็ค แต่จำเลยไม่ชำระ จึงขอคิดดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินตามเช็คเป็นเวลา 10 ปี เป็นเงิน 105,000 บาท รวมเป็นเงิน 245,000 บาท เนื่องจากธนาคารตามเช็คตั้งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น จึงขออนุญาตฟ้องที่ศาลชั้นต้นขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 245,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 140,000 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำฟ้องแล้ว เห็นว่า สถานที่ที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คมิใช่สถานที่ที่มูลคดีเกิด เมื่อจำเลยไม่มีภูมิลำเนาในศาลชั้นต้น คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 (1) ไม่รับฟ้อง คืนค่าธรรมเนียมทั้งหมด
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า มูลคดีนี้เกิดในเขตอำนาจศาลชั้นต้นหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า เช็คพิพาทเป็นเช็คของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาพระปิ่นเกล้า ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้นและธนาคารดังกล่าวปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค กรณีของโจทก์เป็นการฟ้องตามมูลคดีที่เกิดจากการที่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ศาลล่างทั้งสองชอบที่จะรับฟ้องไว้พิจารณานั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 (1) บัญญัติว่า คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่ ตามบทบัญญัติดังกล่าว คำว่า มูลคดี หมายถึง ต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์เกิดอำนาจฟ้อง ตามคำฟ้องของโจทก์ระบุว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทระบุชื่อนายอินทรีย์เป็นผู้รับเงินเพื่อคืนเงินที่นายอินทรีย์ได้ร่วมลงทุนซื้อที่ดินกับจำเลยจำนวน 140,000 บาท ให้แก่นายอินทรีย์ เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนดวันสั่งจ่าย นายอินทรีย์นำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน แม้จะถือว่านายอินทรีย์เป็นผู้เสียหายในขณะที่เช็คพิพาทถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายก็ตาม แต่เมื่อได้ความว่านายอินทรีย์ได้โอนเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ โดยสลักหลังเช็คพิพาทและส่งมอบแก่โจทก์ โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงและมีสิทธิเช่นเดียวกับนายอินทรีย์ในอันที่จะบังคับเอาแก่จำเลยซึ่งมีความผูกพันอยู่แล้วก่อนตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 967 วรรคสาม ประกอบมาตรา 989 วรรคแรก โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายให้จำเลยชำระเงินตามเช็คแก่โจทก์ได้ ความรับผิดของจำเลยเกิดขึ้นเมื่อเช็คพิพาทถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ดังนั้น สถานที่ที่เช็คพิพาทถูกปฏิเสธการจ่ายเงินย่อมเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดด้วย เมื่อธนาคารตามเช็คที่ถูกปฏิเสธการจ่ายเงินตั้งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นย่อมถือได้ว่ามูลคดีนี้เกิดขึ้นในเขตศาลชั้นต้น โจทก์จึงมีอำนาจเสนอคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลล่างทั้งสองไม่รับคำฟ้องของโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share