คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3169/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยอาจฟ้องไล่เบี้ยเรียกค่าเสียหายเบื้องต้นที่จ่ายไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถจากจำเลยทั้งสองได้ตั้งแต่วันที่โจทก์จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นไปคือวันที่ 2 ธันวาคม 2540 และวันที่ 28 พฤษภาคม 2541 ซึ่งขณะนั้น พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2540 มีผลใช้บังคับแล้ว กำหนดอายุความจึงต้องถือตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2540 ซึ่งตามมาตรา 31 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดว่าการใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลภายนอกต้องกระทำภายใน 1 ปี นับแต่วันรู้ตัวผู้ซึ่งต้องรับผิด เมื่อโจทก์รู้ตัวผู้ซึ่งต้องรับผิดตั้งแต่ก่อนวันที่ 2 ธันวาคม 2540 แต่โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2541 เกิน 1 ปี นับแต่วันที่รู้ตัวผู้ซึ่งต้องรับผิดแล้ว จึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 รถยนต์หมายเลขทะเบียน ก – 3123 ร้อยเอ็ด ไว้จากนายอดุลย์ เกษมทรัพย์ มีระยะคุ้มครอง 1 ปี นับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2539 เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2540 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน น – 0905 กาฬสินธุ์ ไปในทางการที่จ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทเฉี่ยวชนกับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก – 3123 ร้อยเอ็ด ซึ่งนายอดุลย์เป็นผู้ขับเป็นเหตุให้นายอดุลย์ นางสาวประดับศรี ช่อประพันธ์ นางกาญจนา เกษมทรัพย์ นางสาวพยอม พาประโยชน์ และนายประยงค์ ทองเผือก ซึ่งโดยสารไปในรถยนต์คันดังกล่าวได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่กาย โจทก์ได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นให้แก่ผู้บาดเจ็บทั้งห้าคน เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2540 และวันที่ 28 พฤษภาคม 2541 เป็นเงินรวม 50,000 บาท โจทก์จึงรับช่วงสิทธิมาฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายดังกล่าวจากจำเลยทั้งสอง โจทก์ติดตามทวงถามแล้ว จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 53,750 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 50,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี นับแต่วันเกิดเหตุ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ฎีกาได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 239 ประกอบมาตรา 247 ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ว่า โจทก์รู้ตัวจำเลยที่ 1 ว่าเป็นผู้ซึ่งต้องรับผิดตั้งแต่ก่อนวันที่ 2 ธันวาคม 2540 มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการเดียวว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า การเริ่มนับอายุความใช้สิทธิไล่เบี้ยเรียกค่าเสียหายเบื้องต้นที่โจทก์จ่ายให้แก่ผู้ประสบภัยจากรถในคดีนี้เอาแก่บุคคลภายนอกต้องใช้กฎหมายที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ คดีนี้คือพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2540 ที่แก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ซึ่งตามมาตรา 31 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 กำหนดให้โจทก์ใช้สิทธิไล่เบี้ยภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้จ่ายเงินค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัย หรือภายใน 5 ปี นับแต่วันรู้ตัวผู้ซึ่งต้องรับผิด นอกจากนั้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2540 หาได้มีบทบัญญัติให้ใช้บังคับย้อนหลังไปถึงวันเกิดเหตุหรือให้ใช้บังคับนับแต่วันเกิดเหตุแต่อย่างใดไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 บัญญัติว่า อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป… ดังนั้น การที่โจทก์จะฟ้องไล่เบี้ยเรียกค่าเสียหายเบื้องต้นที่จ่ายไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถจากจำเลยทั้งสอง โจทก์จึงอาจบังคับใช้สิทธิเรียกร้องได้ตั้งแต่วันที่โจทก์จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นไปคือวันที่ 2 ธันวาคม 2540 และวันที่ 28 พฤษภาคม 2541 ซึ่งขณะนั้นพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2540 มีผลใช้บังคับแล้ว กำหนดอายุความจึงต้องถือตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2540 ซึ่งตามมาตรา 31 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดว่าในกรณีความเสียหายเกิดขึ้นจากการกระทำของบุคคลภายนอกเมื่อบริษัทได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัย บริษัทมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลดังกล่าวได้ การใช้สิทธิดังกล่าวต้องกระทำภายใน 1 ปี นับแต่วันรู้ตัวผู้ซึ่งต้องรับผิด เมื่อตามข้อเท็จจริงที่ยุติได้ความว่าโจทก์รู้ตัวผู้ซึ่งต้องรับผิด คือจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ก่อนวันที่ 2 ธันวาคม 2540 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2541 จึงเกิน 1 ปี นับแต่วันที่รู้ตัวผู้ซึ่งต้องรับผิดแล้ว ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share