คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 539/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ฎีกาของจำเลยที่ว่าหนังสือสัญญาค้ำประกันผู้ต้องหาเป็นสัญญาค้ำประกัน เมื่อไม่ได้ปิดอากรแสตมป์จึงใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งฟ้องบังคับจำเลยไม่ได้ แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยจึงยกขึ้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง
หนังสือสัญญาค้ำประกันผู้ต้องหาที่จำเลยสัญญาว่าหาก ส. หลบหนี และศาลสั่งปรับโจทก์เป็นเงินเท่าใด จำเลยขอรับผิดชอบชดใช้เงินค่าปรับนั้นแทนโจทก์ทั้งสิ้น เป็นกรณีที่จำเลยแสดงเจตนาผูกพันรับผิดต่อโจทก์โดยตรง ไม่ใช่เรื่องที่จำเลยผูกพันต่อโจทก์ว่าจะชำระหนี้ในเมื่อ ส. ไม่ชำระหนี้ จึงไม่ใช่สัญญาค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 หากแต่เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่ใช้บังคับระหว่างโจทก์กับจำเลยเท่านั้น และไม่อยู่ในลักษณะแห่งตราสารที่จะต้องเสียอากรตามบัญชีอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 แห่ง ป.รัษฎากร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2541 โจทก์ทำสัญญาประกันตัวนายสมศักดิ์ อัศนิวุฒิกร ผู้ต้องหาในคดีอาญาต่อศาลในวงเงิน 120,000 บาท จำเลยทำสัญญาค้ำประกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่โจทก์ โดยจำเลยสัญญาว่าหากผู้ต้องหาไม่ไปศาลตามกำหนดนัด และผู้ประกันหรือโจทก์ถูกศาลสั่งปรับเป็นจำนวนเงินเท่าใดจำเลยขอรับผิดชอบชดใช้ค่าปรับตามคำสั่งศาลแทนผู้ประกันหรือโจทก์ หลังจากนั้นนายสมศักดิ์ประพฤติผิดสัญญาประกันโดยหลบหนี ศาลอาญาสั่งปรับโจทก์เป็นเงิน 120,000 บาท ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยต้องชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งปรับผู้ประกันเป็นเวลา 1 ปี 3 เดือน คิดเป็นดอกเบี้ย 10,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 130,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 130,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 120,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาค้ำประกันจริงโดยรับรองกับโจทก์ว่าจะติดตามผู้ต้องหาไปศาลตามนัดแต่หนังสือสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นโมฆะ เพราะไม่ได้ระบุจำนวนเงินค้ำประกันและไม่มีพยานลงลายมือชื่อ 2 คน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกา จำเลยถึงแก่กรรม นางสาวศศิวรพร พัฒนโอฬาร ผู้จัดการมรดกของจำเลยยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องตันฟังเป็นยุติว่าจำเลยทำสัญญาลงวันที่ 15 มกราคม 2541 ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันผู้ต้องหาและจำเลยเอกสารหมาย จ.5 ให้โจทก์เพื่อประกันความเสียหายในการที่โจทก์ทำสัญญาประกันตัวนายสมศักดิ์ อัศนิวุฒิกร ในระหว่างสอบสวนต่อศาลอาญา ต่อมานายสมศักดิ์หลบหนี ศาลอาญาจึงสั่งปรับโจทก์เต็มตามสัญญาประกันเป็นเงิน 120,000 บาท โจทก์ชำระค่าปรับดังกล่าวแล้วตามใบรับเงินค่าปรับเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยอ้างว่าหนังสือสัญญาค้ำประกันผู้ต้องหาและจำเลยเอกสารหมาย จ.5 เป็นสัญญาค้ำประกันเมื่อไม่ได้ปิดอากรแสตมป์จึงใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งฟ้องบังคับจำเลยไม่ได้ ซึ่งปัญหาในข้อนี้แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยจึงยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง เห็นว่า สาระสำคัญในหนังสือสัญญาค้ำประกันผู้ต้องหาและจำเลยเอกสารหมาย จ.5 เป็นเรื่องที่จำเลยสัญญาว่าหากนายสมศักดิ์หลบหนี และศาลสั่งปรับโจทก์เป็นเงินเท่าใด จำเลยขอรับผิดชอบชดใช้เงินค่าปรับนั้นแทนโจทก์ทั้งสิ้น จึงเป็นกรณีที่จำเลยแสดงเจตนาผูกพันรับผิดต่อโจทก์โดยตรงไม่ใช่เรื่องที่จำเลยผูกพันต่อโจทก์ว่าจะชำระหนี้ในเมื่อนายสมศักดิ์ไม่ชำระหนี้ หนังสือสัญญาค้ำประกันผู้ต้องหาและจำเลยเอกสารหมาย จ.5 จึงไม่ใช่สัญญาค้ำประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 หากแต่เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่ใช้บังคับระหว่างโจทก์กับจำเลยเท่านั้น และไม่อยู่ในลักษณะแห่งตราสารที่จะต้องเสียอากรตามบัญชีอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 แห่งประมวลรัษฎากร หนังสือสัญญาค้ำประกันผู้ต้องหาและจำเลยเอกสารหมาย จ.5 ย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการฟ้องคดีนี้ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน โจทก์ไม่ได้แก้ฎีกา จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้.

Share