คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2462/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่ใบแต่งทนายความของโจทก์ใช้ตราประทับของห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. แทนที่จะใช้ตราประทับของบริษัทโจทก์ เป็นผลมาจากการหยิบตราประทับผิด อันเป็นการผิดพลาดบกพร่องในตัวผู้แต่งทนายความไม่ใช่การพิจารณาผิดระเบียบ แม้โจทก์จะยื่นคำร้องขอแก้ไขพร้อมกับยื่นใบแต่งทนายความที่ถูกต้องเข้ามาใหม่พร้อมคำแก้อุทธรณ์ อันเป็นระยะเวลาภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว ก็ชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จะสั่งสอบสวนหรือยอมรับการแก้ไขนั้นได้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ไม่ว่าฝ่ายจำเลยจะยกเอาข้อบกพร่องนี้ขึ้นอุทธรณ์ด้วยหรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่าลายมือชื่อผู้แต่งทนายไม่เหมือนและไม่ใช่ลายมือชื่อของ บ. ก็เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น เพราะจำเลยอุทธรณ์ว่า บ. ลงลายมือชื่อและประทับตราของห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. เป็นการกระทำในนามของห้างไม่ใช่บริษัทโจทก์ นอกจากนี้บทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 วรรคสอง ที่ว่าไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนมีคำพิพากษา… นั้น มิได้หมายความถึงก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เพราะบทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติทั่วไปที่ใช้ได้ในทุกชั้นศาล เมื่อความสามารถในการฟ้องของโจทก์บกพร่องและโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขพร้อมทั้งยื่นใบแต่งทนายความฉบับใหม่เข้ามาพร้อมกับคำแก้อุทธรณ์และศาลชั้นต้นรับขึ้นมาแล้ว เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจึงเห็นสมควรอนุญาตยอมรับการแก้ไขนั้น ดังนี้อำนาจฟ้องที่ไม่สมบูรณ์จึงกลับเป็นอำนาจฟ้องที่สมบูรณ์มาแต่แรก โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินตามเช็คและดอกเบี้ย 2,040,516.50 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,899,244 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,899,244 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 141,272.50 บาท ตามที่โจทก์ขอ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า ใบแต่งทนายความโจทก์บกพร่อง การแก้ไขข้อบกพร่องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 56 คู่ความสามารถกระทำการใด ๆ ก่อนมีคำพิพากษา แม้มาตรา 66 จะให้อำนาจศาลทำการสอบสวนเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมก็ไม่ได้บังคับศาลต้องทำการสอบสวน เมื่อปรากฏว่าคดีนี้โจทก์ขอแก้ไขความบกพร่องเมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว และเป็นการแก้ไขตามที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์เป็นปัญหาข้อกฎหมายขึ้นมาย่อมเป็นการไม่ชอบ เมื่อใบแต่งทนายความที่แต่งตั้งนายวัชรินทร์ มาศอมรพันธุ์ เป็นทนายความบกพร่อง นายวัชรินทร์จึงไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อในคำฟ้องแทนโจทก์ ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทซึ่งเป็นเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาอุดรธานี เช็คเลขที่ 0374610 ลงวันที่ 30 กันยายน 2538 จำนวนเงิน 1,899,244 บาท มีจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อและประทับตราของจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ เมื่อถึงกำหนดโจทก์เรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโดยเหตุผลว่า มีคำสั่งให้ระงับการจ่าย
โจทก์ฎีกาประการแรกในปัญหาข้อกฎหมายว่า ใบแต่งทนายความของโจทก์ฉบับลงวันที่ 30 กันยายน 2539 ซึ่งนายบุญยืน แจ่มผล กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทโจทก์ลงชื่อแต่งตั้งนายวัชรินทร์ มาศอมรพันธุ์ เป็นทนาย แต่ใช้ตราประทับของห้างหุ้นส่วนจำกัดเทพปรานีเคหะการมาประทับโดยผิดหลง แต่ต่อมาในชั้นอุทธรณ์โจทก์ได้ทำการแก้ไขข้อบกพร่องโดยยื่นคำร้องขอแก้ไขและยื่นใบแต่งทนายความฉบับใหม่ลงวันที่ 4 กันยายน 2541 อำนาจฟ้องของโจทก์จึงสมบูรณ์แต่แรกแล้วนั้น เห็นว่า ใบแต่งทนายความฉบับลงวันที่ 30 กันยายน 2539 ระบุว่าบริษัทเทพปรานี (1991) จำกัด โดยนายบุญยืน แจ่มผล กรรมการผู้ลงชื่อผูกพันบริษัทได้เป็นผู้แต่งตั้งทนายความ และนายบุญยืน แจ่มผล ลงชื่อเป็นผู้แต่งทนายความ ทนายความผู้ได้รับการแต่งตั้งรับรองลายมือชื่อ ชั้นพิจารณานายบุญยืน แจ่มผล ก็เบิกความเป็นพยานในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ นอกจากนั้นข้อเท็จจริงยังปรากฏว่า นายบุญยืน แจ่มผล เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดเทพปรานีเคหะการ ดังนั้น การที่ใบแต่งทนายความใช้ตราประทับของห้างหุ้นส่วนจำกัดเทพปรานีเคหะการแทนที่จะใช้ตราประทับของบริษัทโจทก์ จึงมีเหตุผลน่าเชื่อว่าเป็นการหยิบตราประทับผิดเป็นการผิดพลาดบกพร่องในตัวผู้แต่งทนายความ ไม่ใช่การพิจารณาผิดระเบียบ แม้โจทก์จะยื่นคำร้องขอแก้ไขพร้อมกับยื่นใบแต่งทนายความที่ถูกต้องเข้ามาใหม่พร้อมคำแก้อุทธรณ์อันเป็นระยะเวลาภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วก็ชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จะสั่งสอบสวนหรือยอมรับการแก้ไขนั้นได้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมไม่ว่าฝ่ายจำเลยจะยกเอาข้อบกพร่องนี้ขึ้นอุทธรณ์ด้วยหรือไม่ก็ตาม การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่าลายมือชื่อผู้แต่งทนายไม่เหมือนและไม่ใช่ลายมือชื่อของนายบุญยืน แจ่มผล ก็เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น เพราะจำเลยอุทธรณ์ว่า นายบุญยืน แจ่มผล ลงลายมือชื่อและประทับตราของห้างหุ้นส่วนจำกัดเทพปรานีเคหะการเป็นการกระทำในนามของห้างไม่ใช่บริษัทโจทก์ นอกจากนี้บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 56 วรรคสอง ที่ว่า ไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนมีคำพิพากษา…นั้น มิได้หมายความถึงก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยแต่อย่างใด เพราะบทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติทั่วไปที่ใช้ได้ในทุกชั้นศาล เมื่อความสามารถในการฟ้องของโจทก์บกพร่องและโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขพร้อมทั้งยื่นใบแต่งทนายความฉบับใหม่เข้ามาพร้อมกับคำแก้อุทธรณ์และศาลชั้นต้นสั่งรับขึ้นมาแล้วเช่นนี้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรอนุญาตยอมรับการแก้ไขนั้น ดังนี้อำนาจฟ้องที่ไม่สมบูรณ์จึงกลับเป็นอำนาจฟ้องที่สมบูรณ์มาแต่แรก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ฎีกาของโจทก์ประการต่อไปเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยทั้งสองในเช็คพิพาทซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 มิได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ย้อนสำนวน คดีนี้จำเลยทั้งสองให้การว่า สั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้แทนนายธนา เลิศเดชาเสวกชัย ก่อนเช็คถึงกำหนดพบว่าจำนวนหนี้น้อยกว่าที่ระบุในเช็คพิพาทจึงสั่งระงับการจ่าย ตรวจสอบแล้วจำนวนหนี้ที่ถูกต้องคือ 1,340,030 บาท นายธนาจึงชำระหนี้จำนวนนี้และโจทก์ได้รับครบถ้วนแล้ว แต่ในชั้นพิจารณานายธนาพยานจำเลยเบิกความว่า นายบุญยืน แจ่มผล เป็นกรรมการของโจทก์ นายบุญยืนเป็นหนี้พยาน 600,000 บาท ภริยานายบุญยืนเอาเงินจากพยานไป 198,000 บาท และพยานสั่งจ่ายเช็คหนึ่งฉบับจำนวนเงิน 700,000 บาท จึงหักหนี้สองรายการแรกและเช็คที่จ่ายให้ใหม่ก็ครบถ้วนจำนวนที่เป็นหนี้โจทก์ตามที่ได้เจรจาตกลงกันระหว่างพยาน นายบุญยืนและจำเลยที่ 2 ในการที่สั่งจำเลยทั้งสองระงับการจ่ายเงินตามเช็คพิพาท แต่พยานลืมของเช็คพิพาทคืน ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นการอ้างเลื่อนลอยปราศจากหลักฐานขัดแย้งกับคำให้การจำเลยและไม่สมเหตุผล ไม่น่าเชื่อ ผิดกับพยานหลักฐานของโจทก์นอกจากจะมีนายบุญยืน แจ่มผล กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์เบิกความเป็นพยานชี้แจงความเป็นมาของหนี้รายนี้พร้อมด้วยหลักฐานต่าง ๆ และเช็คพิพาทเป็นพยานมีน้ำหนักน่าเชื่อว่าพยานจำเลย ฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นหนี้ตามเช็คพิพาทจึงต้องรับผิด ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share