แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ยอมรับว่า จำเลยออกเช็คพิพาทชำระหนี้แก่โจทก์เมื่อปี 2542 แต่ปรากฏว่าเช็คพิพาทมีการแก้ไขตัวเลขปี พ.ศ.2541 เป็น 2544 โดยแก้ไขเลขสุดท้ายของปีจากเลข 1 เป็นเลข 4 ซึ่งไม่ทราบว่าผู้ใดแก้ไข ทั้งผู้เชี่ยวชาญก็ไม่อาจให้ความเห็นได้ว่าจำเลยเป็นผู้แก้ไขและไม่ปรากฏว่าเช็คพิพาทแก้ไขตั้งแต่เมื่อใด การแก้ไขดังกล่าวเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญ เช็คนั้นก็เป็นอันเสีย เว้นแต่ยังคงใช้ได้ต่อคู่สัญญาซึ่งเป็นผู้ทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือได้ยินยอมด้วยกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้นกับทั้งผู้สลักหลังภายหลังตาม ป.พ.พ. มาตรา 1007 วรรคหนึ่ง ซึ่งไม่ปรากฏว่าฝ่ายจำเลยหรือโจทก์ได้ยินยอมให้มีการแก้ไขดังกล่าว อย่างไรก็ตามการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ประจักษ์ เมื่อเช็คพิพาทตกอยู่ในมือของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงโดยชอบ กรณีต้องด้วยบทบัญญัติในมาตรา 1007 วรรคสอง ซึ่งผู้ทรงจะถือเอาประโยชน์จากเช็คนั้นเสมือนดังว่ามิได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเลย และจะบังคับใช้เงินตามเช็คนั้นก็ได้เมื่อฟังว่าจำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ตั้งแต่ปี 2541 โจทก์นำเช็คพิพาทมาฟ้องเกิน 1 ปี นับแต่วันที่เช็คพิพาทถึงกำหนด คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1002
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 206,575 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การว่า เช็คฉบับลงวันที่ 25 มีนาคม 2542 ไม่มีมูลหนี้แต่อย่างใด จำเลยที่ 3 ออกเช็คดังกล่าวเพื่อค้ำประกันการขายลดเช็คที่จำเลยที่ 2 ได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ของจำเลยที่ 2 ในวงเงิน 150,000 บาท ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากมีการแก้ไขเพิ่มเติมปีที่สั่งจ่ายเงินตามเช็คพิพาท เช็คพิพาทจึงเป็นเช็คปลอม โจทก์ไม่อาจนำมาฟ้องได้ และดอกเบี้ยที่รวมไว้ในเช็คพิพาทเป็นโมฆะ จำเลยที่ 3 กระทำในฐานะตัวแทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 206,575 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียม แทนโจทก์ ส่วนค่าทนายความโจทก์ว่าความเองจึงไม่กำหนดให้
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 จำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรม นางสาวสุจินต์ จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 9 อนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ตกเป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 2 และเป็นบิดาของจำเลยที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 3 ก็เป็นหุ้นส่วนของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ( มหาชน ) สาขาย่อยถนนรัถการ ( หาดใหญ่ ) ลงวันที่ 25 มีนาคม 2542 จำนวนเงิน 150,000 บาท แต่เช็คดังกล่าวธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน ตามเช็คและใบคืนเช็ค ส่วนเช็คพิพาทนั้นจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่าย แต่ด้านหลังของเช็คจำเลยที่ 3 ได้ลงลายมือชื่อและมีการประทับตราของจำเลยที่ 2 ไว้ โดยเช็คดังกล่าวมีข้อความระบุว่าเช็คถึงกำหนดชำระในวันที่ 26 มิถุนายน 2544 และธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2544 โดยให้เหตุผลว่าโปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย ตามเช็คและใบคืนเช็คและกองพิสูจน์หลักฐานได้ตรวจพิสูจน์เช็คพิพาทแล้ว มีความเห็นว่ามีการแก้ไข พ.ศ. จาก 2541 เป็น 2544 โดยน่าจะมีการแก้ไขหมายเลข 1 เป็นเลข 4 อันเป็นเลขอารบิค ตามรายงานการตรวจพิสูจน์ดังนี้ คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในเบื้องต้นก่อนว่า เช็คพิพาทที่มีการแก้ไขเลขพ.ศ. จาก 2541 เป็น 2544 ใครเป็นผู้แก้ไข ตามปัญหาดังกล่าวตัวโจทก์เบิกความอ้างว่า เมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2542 จำเลยที่ 1 ได้สั่งจ่ายเช็คพิพาท จำนวนเงิน 200,000 บาท ซึ่งเป็นเช็คลงวันที่ 26 มิถุนายน 2544 โดยมีจำเลยที่ 3 สลักหลังและประทับตราของจำเลยที่ 2 ชำระหนี้แก่โจทก์แทนเช็คฉบับลงวันที่ 25 มีนาคม 2542 ที่จำเลยทั้งสามนำไปขายลดเช็คแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 150,000 บาท ซึ่งธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยโจทก์ได้รวมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี เป็นเวลา 27 เดือน เป็นเงิน 50,600 บาท แต่ฝ่ายจำเลยขอชำระเพียง 50,000 บาท จึงได้ยอดเงินรวม 200,000 บาท เห็นว่า โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า ฝ่ายจำเลยเป็นผู้แก้ไขหรือยินยอมให้แก้ไขอันจะเป็นเหตุให้จำเลยต้องรับผิด เพราะการแก้ไขตัวเลขในปี พ.ศ. นั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญ ซึ่งกองพิสูจน์หลักฐานผู้เชี่ยวชาญที่ได้ตรวจพิสูจน์ลายมือเขียนตัวเลขในช่องวันที่ในเช็คตาม เปรียบเทียบกับตัวเลขของจำเลยที่ 3 ที่เขียนต่อหน้าศาล และในสมุดต้นขั้ว ผู้เชี่ยวชาญก็ได้ให้ความเห็นว่าลายมือเขียนตัวเลขทั้งหมดยกเว้นตัวเลขที่ขีดเส้นใต้สีแดงเป็นลายมือของบุคคลเดียวกัน ส่วนลายมือเขียนตัวเลขที่ขีดเส้นใต้สีแดง มีการเขียนต่อเติม ทำให้ลักษณะพิเศษของการเขียนไม่ชัดเจน จึงไม่อาจตรวจลงความเห็นให้เป็นหลักฐานอย่างหนึ่งอย่างใดได้ ดังนั้น คงฟังได้เพียงว่าจำเลยฝ่ายจำเลยเป็นผู้ออกเช็คนี้เท่านั้น จะฟังเลยไปว่าฝ่ายจำเลยแก้ไขเปลี่ยนแปลงเช็คพิพาทยังไม่ได้ เพราะไม่ได้ความว่าเช็คพิพาทถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงเมื่อใด อาจถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงภายหลังการออกเช็ค คือ ในระหว่างที่เช็คอยู่ในความครอบครองของโจทก์ก็เป็นได้เช่นกัน เมื่อโจทก์ไม่มีพยานแสดงให้เห็นได้เลยว่า ฝ่ายจำเลยแก้ไขตัวเลข 4 ซึ่งเป็นเลขสุดท้ายของปี พ.ศ.2544 ในเช็คพิพาทโดยไม่ทราบว่าใครเป็นผู้แก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญ เพราะมิฉะนั้นก็จะขาดอายุความนำมาฟ้องร้องกันไม่ได้ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1007 วรรคหนึ่ง ว่า ” ถ้าข้อความในตั๋วเงินใด หรือในคำรับรองตั๋วเงินรายใด มีผู้แก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญ โดยที่คู่สัญญาทั้งปวงผู้ต้องรับผิดตามตั๋วเงินมิได้ยินยอมด้วยหมดทุกคนไซร้ ท่านว่าตั๋วเงินนั้นก็เป็นอันเสีย เว้นแต่ยังคงใช้ได้ต่อคู่สัญญาซึ่งเป็นผู้ทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น หรือได้ยินยอมด้วยกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น กับทั้งผู้สลักหลังในภายหลัง ” ซึ่งก็ไม่ปรากฏว่า ฝ่ายจำเลยหรือโจทก์ได้ยินยอมให้มีการแก้ไขดังกล่าว ทั้งการเปลี่ยนแปลงแก้ไขนี้ก็ปรากฏว่า เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่ไม่ประจักษ์ ซึ่งโจทก์ก็ไม่ทราบมาก่อน พยานโจทก์คือนายเกษม อัครภิญโญญาน พนักงานธนาคารตำแหน่งเจ้าหน้าที่อำนวยการอาวุโสก็เบิกความว่า รายการที่ปรากฏในเช็คไม่มีการแก้ไข ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาทโดยให้เหตุผลว่า ” โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย ” แสดงว่าเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจตรวจดูได้ด้วยตาเปล่าเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่ไม่ประจักษ์ และกรณีต้องถือว่า เช็คพิพาทตกอยู่ในมือของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงโดยชอบ กรณีต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1007 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า ” แต่หากตั๋วเงินใดได้มีผู้แก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญ แต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ประจักษ์ และตั๋วเงินนั้นตกอยู่ในมือผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้ทรงคนนั้นจะเอาประโยชน์จากตั๋วเงินนั้นก็ได้ เสมือนดังว่ามิได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเลย และจะบังคับใช้เงินตามเนื้อความเดิมแห่งตั๋วนั้นก็ได้ ” ซึ่งเนื้อความเดิมแห่งเช็คนั้นก่อนมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ตามรายงานการตรวจพิสูจน์ของผู้เชี่ยวชาญ ให้ความเหมือนว่า ตัวเลขเดิมน่าจะเป็นเลข 1 ซึ่งก็สอดคล้องกับทางนำสืบของฝ่ายจำเลยว่า ได้ออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ตั้งแต่ปี 2541 จึงฟังได้ว่า ฝ่ายจำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ตั้งแต่ปี 2541 เมื่อโจทก์นำเช็คพิพาทมาฟ้องคดีนี้เกิน 1 ปี แต่วันที่เช็คพิพาทถึงกำหนด คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1002 ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ