แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า โจทก์อุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางสั่งว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่าเป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ จึงไม่รับอุทธรณ์โจทก์เห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์ข้อ 2 มีประเด็นว่า การที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 31 ให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานโดยอนุโลม นั้น จะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง มาใช้บังคับได้หรือไม่ มาตรา 177 วรรคสอง จะแตกต่างหรือขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 38,39 ตามที่ศาลแรงงานกลางอ้างเป็นเหตุผลในการยกคำร้องลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2529 ของโจทก์หรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายหาใช่ข้อเท็จจริงไม่ และประเด็นที่ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์หรือไม่ ก็เป็นปัญหาข้อกฎหมายด้วย อุทธรณ์ข้อ 3.1ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางวินิจฉัยขัดต่อพยานหลักฐานในสำนวนและแปลความหมายคำให้การของนายสมภพวงศ์สอาด พยานโจทก์ที่ให้การว่านายอายิตซิงห์พูดกับโจทก์ว่า ให้ออกไปได้ไม่ต้องทำงานเพราะโจทก์ทำตามกฎไม่ได้ ผิดไปจากความจริง เป็นปัญหาข้อกฎหมายอุทธรณ์ข้อ 3.2 ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางวินิจฉัยคำพูดของนายอายิตซิงห์ลักเดอ ที่พูดกับโจทก์ว่าให้ออกไปได้ ไม่ต้องทำงานเพราะโจทก์ทำตามกฎไม่ได้ ไม่เป็นข้อความที่ทำให้เข้าใจได้ว่านายอายิตซิงห์ลักเดอ พูดเลิกจ้างโจทก์ เป็นการวินิจฉัยข้ามขั้นตอน โดยยังมิได้วินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงให้ยุติเสียก่อนว่านายอายิตซิงห์ลักเดอ พูดกับโจทก์ว่าอย่างไรเสียก่อน เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมาย หาใช่ข้อเท็จจริงไม่อุทธรณ์ข้อ 3.3 ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่เอกสารหมาย ล.2 และ ล.3ไม่ใช่คำเตือนเป็นหนังสือตามกฎหมาย จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยตามฟ้องแก่โจทก์ นั้น เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย มิใช่ข้อเท็จจริงอุทธรณ์ข้อ 3.4 ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยไม่ได้ต่อสู้ว่าโจทก์ไม่ได้รับค่าจ้างเดือนละ 4,000 บาท ตั้งแต่วันเริ่มเข้าทำงานจนกระทั่งถึงวันที่ 11 มิถุนายน 2529 ศาลแรงงานกลางไม่ชอบที่จะยกเรื่องนี้ขึ้นวินิจฉัยเอง นั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย หาใช่ข้อเท็จจริงไม่ และอุทธรณ์ข้อ 3.5 ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์นำสืบไม่ตรงกับคำขอท้ายฟ้องเพราะความบกพร่องของนิติกรผู้ร่างฟ้องให้โจทก์ นั้นเพื่อความเป็นธรรม ศาลแรงงานกลางชอบที่จะพิจารณาพิพากษานอกเหนือจากที่ปรากฏในคำขอท้ายฟ้องได้ หาชอบที่จะยกฟ้องโจทก์ไม่โดยศาลแรงงานกลางมีอำนาจที่จะคำนวณค่าทำงานได้โดยเอาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายในวันที่โจทก์เริ่มเข้าทำงานวันแรกเป็นเกณฑ์คำนวณในฐานะที่เป็นค่าจ้างจำนวนน้อยที่สุดที่จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายแก่โจทก์ ซึ่งการอุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางมีอำนาจดังกล่าวเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย อาศัยเหตุผลดังกล่าว โปรดมีคำสั่งกลับคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของศาลแรงงานกลาง
หมายเหตุ จำเลยยื่นคำร้องคัดค้าน (อันดับ 35)
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยให้จ่ายค่าจ้างค้างจ่าย 500 บาทเงินค่าจ้าง 22,132.78 บาท ค่าทำงานในวันหยุด 10,399.74 บาท และค่าชดเชย 24,000 บาท แก่โจทก์
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน800 บาทให้โจทก์ คำขออื่นของโจทก์ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ดังกล่าว(อันดับ 31)
โจทก์จึงยื่นคำร้องนี้ และต่อมาโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำร้องดังกล่าว (อันดับ 32,33)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ ข้อ 2 ที่ว่าคำให้การของจำเลยเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่มีประเด็นนำสืบนั้นเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย ส่วนอุทธรณ์ข้ออื่นนอกจากนี้เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงทั้งสิ้น จึงให้รับเฉพาะอุทธรณ์ข้อ 2 ของโจทก์ดังกล่าว ให้ศาลแรงงานกลางดำเนินการต่อไป