คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6791/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เงินการฌาปนกิจสงเคราะห์ที่หน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดสำนักพระราชวังจัดส่งมาเพื่อให้เจ้าหน้าที่ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบนำส่งกองคลัง สำนักพระราชวัง สำหรับจัดสรรเป็นสวัสดิการเกี่ยวกับการฌาปนกิจสงเคราะห์ของสมาชิกที่ล้วนเป็นข้าราชการหรือลูกจ้างหน่วยงานกิจการในพระองค์ ถือเป็นกิจการภายในของส่วนราชการ มิได้มีวัตถุประสงค์จัดตั้งให้เป็นสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ที่มีกฎหมายบังคับให้จดทะเบียนและมีฐานะเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.การฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2545 มาตรา 5 โดยงานการฌาปนกิจสงเคราะห์ของสำนักพระราชวังมีระเบียบใช้บังคับเป็นการเฉพาะ ดังนี้ กรณีที่เกิดความเสียหายแก่เงินที่ข้าราชการหรือลูกจ้างกิจการในพระองค์จัดส่งมาสำหรับใช้ในกิจการดังกล่าว สำนักพระราชวังที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเงินในส่วนนี้ย่อมเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำทุจริตเงินดังกล่าวได้ การสอบสวนของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง และการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นการสอบสวนและไต่สวนที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 91, 147 และ 157 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 142 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวมจำคุก 426 ปี 568 เดือน แต่ความผิดตามมาตรา 147 มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และ 157 จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123 จำเลยทั้งสามกระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยที่ 1 ฐานเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังทรัพย์โดยทุจริต จำคุก 5 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 256 กระทง จำเลยที่ 2 ฐานเป็นเจ้าพนักงานงานเบียดบังทรัพย์โดยทุจริต จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 123 กระทง ฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 134 กระทง จำเลยที่ 3 ความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 133 กระทง ทางนำสืบของจำเลยทั้งสามเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำเลยที่ 1 ฐานเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังทรัพย์โดยทุจริต คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน ฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ คงจำคุกกระทงละ 8 เดือน รวม 256 กระทง รวมจำคุก 2,048 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 ปี 2,052 เดือน จำเลยที่ 2 ฐานเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังทรัพย์โดยทุจริต คงจำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 123 กระทง รวมจำคุก 369 ปี 492 เดือน ฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ คงจำคุกกระทงละ 8 เดือน รวม 134 กระทง รวมจำคุก 1,072 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 369 ปี 1,564 เดือน จำเลยที่ 3 ความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ คงจำคุกกระทงละ 8 เดือน รวม 133 กระทง รวมจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 1,064 เดือน สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ความผิดกระทงที่หนักที่สุด ฐานเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังทรัพย์โดยทุจริตมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีกำหนดคนละ 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) สำหรับจำเลยที่ 3 ความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 รับราชการ เป็นพนักงานเอก ระดับ 6 ทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายสวัสดิการ กองการเจ้าหน้าที่ สำนักพระราชวัง ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการและเลขานุการในคณะกรรมการอำนวยการการฌาปนกิจสงเคราะห์ข้าราชการในพระองค์ สำนักพระราชวัง ชุดที่ 7 พ.ศ.2536 จำเลยที่ 1 เป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมกำกับดูแลงานในฝ่ายสวัสดิการทั้งหมดให้เป็นไปตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ รับผิดชอบดำเนินการเกี่ยวกับการฌาปนกิจสงเคราะห์ข้าราชการในพระองค์ตลอดจนดูแลและปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการ จัดพิมพ์ เก็บรักษา ควบคุมการออกใบเสร็จรับเงินให้แก่สมาชิกที่ชำระเงินผ่านกองคลัง สำนักพระราชวัง และสมาชิกนอกราชการที่มาชำระเงินด้วยตนเองที่ฝ่ายสวัสดิการ รักษาเงินในบัญชี เงินฝากธนาคารให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการฌาปนกิจสงเคราะห์ของส่วนราชการ องค์การของรัฐ และรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2517 ระเบียบการฌาปนกิจสงเคราะห์ข้าราชการในพระองค์ สำนักพระราชวัง พ.ศ.2535 และระเบียบการฌาปนกิจสงเคราะห์ข้าราชการในพระองค์ ว่าด้วยการเงินการบัญชี พ.ศ.2536 จำเลยที่ 2 รับราชการ เป็นพนักงานโท ระดับ 5 ทำหน้าที่งานเงินเดือน ค่าจ้าง และบำเหน็จบำนาญ กองคลัง ช่วยปฏิบัติงานหน้าที่ฝ่ายสวัสดิการ กองการเจ้าหน้าที่ สำนักพระราชวัง และได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการและรองเหรัญญิกในคณะกรรมการอำนวยการการฌาปนกิจสงเคราะห์ข้าราชการในพระองค์ สำนักพระราชวัง ชุดที่ 7 พ.ศ.2536 ทำหน้าที่งานการเงินการฌาปนกิจสงเคราะห์ข้าราชการในพระองค์ กับรับผิดชอบการรับเงินการฌาปนกิจสงเคราะห์ข้าราชการในพระองค์ สำนักพระราชวัง จากสมาชิกและออกใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้ชำระเงินทุกครั้ง เมื่อสิ้นเวลารับเงิน ต้องนำเงินที่ได้รับพร้อมสำเนาใบเสร็จรับเงินที่จัดเก็บทั้งหมดส่งต่อเจ้าหน้าที่การเงิน แผนกการเงิน กองคลัง ในวันที่รับเงินตามระเบียบการฌาปนกิจสงเคราะห์ข้าราชการในพระองค์ ว่าด้วยการเงินการบัญชี พ.ศ.2536 และตรวจสอบการรับส่งเงินเข้าบัญชีการฌาปนกิจสงเคราะห์ที่ได้รับจากหน่วยงานต่าง ๆ ของสำนักพระราชวัง รวม 10 หน่วยงาน จำเลยที่ 3 รับราชการเป็นเจ้าหน้าที่บริหารงานในพระองค์ เป็นบุคลากร ระดับ 5 ฝ่ายสวัสดิการ กองการเจ้าหน้าที่ ทำหน้าที่รับผิดชอบงานด้านการฌาปนกิจสงเคราะห์ทำหน้าที่ลงการ์ด กับได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ทำหน้าที่รวบรวมเงินสมัครสมาชิกสงเคราะห์ราชการในพระองค์ สำนักพระราชวัง ทำหนังสือถึงสมาชิก ทวงถามเงินการฌาปนกิจสงเคราะห์และเงินอื่นที่ค้างชำระ ตามระเบียบการฌาปนกิจสงเคราะห์ข้าราชการในพระองค์ว่าด้วยการเงินการบัญชี พ.ศ.2536 จำเลยทั้งสามเป็นเจ้าพนักงานและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 คดีในส่วนจำเลยที่ 2 ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยจำเลยที่ 2 ไม่ฎีกา
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ประการแรกว่า สำนักพระราชวังเป็นผู้เสียหายและโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เงินการฌาปนกิจสงเคราะห์ที่หน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดสำนักพระราชวังจัดส่งมาเพื่อให้เจ้าหน้าที่ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบนำส่งกองคลัง สำนักพระราชวัง สำหรับจัดสรรเป็นสวัสดิการเกี่ยวกับการฌาปนกิจสงเคราะห์ของสมาชิกที่ล้วนเป็นข้าราชการหรือลูกจ้างหน่วยงานกิจการในพระองค์ ถือเป็นกิจการภายในของส่วนราชการ มิได้มีวัตถุประสงค์ จัดตั้งให้เป็นสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ที่มีกฎหมายบังคับให้ต้องจดทะเบียนและมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2545 มาตรา 5 โดยงานการฌาปนกิจสงเคราะห์ของสำนักพระราชวังมีระเบียบใช้บังคับเป็นการเฉพาะ ประกอบด้วยระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการฌาปนกิจสงเคราะห์ของส่วนราชการ องค์การของรัฐ และรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2517 ระเบียบการฌาปนกิจสงเคราะห์ข้าราชการในพระองค์ สำนักพระราชวัง พ.ศ.2535 และระเบียบการฌาปนกิจสงเคราะห์ข้าราชการในพระองค์ ว่าด้วยการเงินการบัญชี พ.ศ.2536 ดังนี้ กรณีที่เกิดความเสียหายแก่เงินที่ข้าราชการหรือลูกจ้างกิจการในพระองค์จัดส่งมาสำหรับใช้ในกิจการดังกล่าว สำนักพระราชวังที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเงินในส่วนนี้ย่อมเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำทุจริตเงินดังกล่าวได้ การสอบสวนของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง และการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นการสอบสวนและไต่สวนที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ประการต่อไปว่า นายแก้วขวัญ มอบอำนาจให้นายจินตนา เป็นตัวแทนร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุนายแก้วขวัญมีตำแหน่งเป็นเลขาธิการพระราชวัง มีอำนาจหน้าที่ดูแลรับผิดชอบบริหารราชการสำนักพระราชวังเทียบเท่าตำแหน่งปลัดกระทรวง เงินการฌาปนกิจสงเคราะห์ที่หน่วยงานในสังกัดสำนักพระราชวังจัดส่งมาเพื่อให้เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังที่มีหน้าที่รับผิดชอบนำส่งกองคลัง สำนักพระราชวัง สำหรับใช้เพื่อจัดสรรเป็นสวัสดิการแก่สมาชิกซึ่งเป็นข้าราชการและลูกจ้างกิจการในพระองค์ โดยมีสำนักพระราชวังที่เป็นต้นสังกัดเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบเงินในส่วนดังกล่าว และฟังได้ว่าสำนักพระราชวังเป็นผู้เสียหายดังได้วินิจฉัยแล้ว นายแก้วขวัญในฐานะเลขาธิการพระราชวังซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของสำนักพระราชวัง ย่อมมีอำนาจทำหนังสือมอบอำนาจแต่งตั้งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นตัวแทนร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดได้ โดยหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไม่จำต้องให้นายจินตนาผู้รับมอบอำนาจลงลายมือชื่อก็มีผลสมบูรณ์ ทั้งมาตรา 118 แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดเพียงว่า “ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีก หรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้ จนกว่าจะได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวน…” ดังนี้ การที่นายแก้วขวัญทำหนังสือมอบอำนาจให้นายจินตนาเป็นตัวแทนร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีในทางอาญา ย่อมสมบูรณ์และใช้บังคับได้ตามกฎหมาย การสอบสวนของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพระราชวังและการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจึงชอบด้วยกฎหมาย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ประการต่อไปว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า ในปัญหาว่าจำเลยที่ 1 เบียดบังเงินการฌาปนกิจสงเคราะห์โดยทุจริต และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตหรือไม่นั้น โจทก์มีเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นข้าราชการในพระองค์และไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 เป็นพยานเบิกความยืนยันตรงกันได้ความว่า จำเลยที่ 1 เป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการการฌาปนกิจสงเคราะห์ข้าราชการในพระองค์ สำนักพระราชวัง และเป็นหัวหน้าฝ่ายสวัสดิการมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการจัดการควบคุมดูแลการรับชำระเงิน การออกใบเสร็จรับเงิน และเมื่อสิ้นเวลาการรับเงินจะต้องกำกับดูแลให้จำเลยที่ 2 นำส่งเงินที่ได้รับไว้พร้อมสำเนาใบเสร็จรับเงินแก่กองคลังให้เป็นไปตามระเบียบการฌาปนกิจสงเคราะห์ข้าราชการในพระองค์ ว่าด้วยการเงินการบัญชี พ.ศ.2536 โดยครบถ้วน แต่จำเลยที่ 1 ไม่ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 2 ทั้งจำเลยที่ 1 ยังยอมให้จำเลยที่ 3 ซึ่งไม่มีหน้าที่รับเงินการฌาปนกิจสงเคราะห์ รับเงินการฌาปนกิจสงเคราะห์จากหน่วยงานต่าง ๆ ที่นำส่งเงินฝ่ายสวัสดิการอีกหลายครั้ง ซึ่งเป็นการปฏิบัติในพฤติการณ์ที่อาจทำให้ผู้อื่นเชื่อว่าจำเลยที่ 3 มีหน้าที่รับเงินการฌาปนกิจสงเคราะห์และทำให้จำเลยที่ 3 ใช้โอกาสนั้นแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้ อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123 จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 แต่ที่โจทก์นำสืบมาไม่มีข้อเท็จจริงยืนยันว่าจำเลยที่ 1 รู้เห็นกับการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับเงินการฌาปนกิจสงเคราะห์แล้วไม่นำเงินส่งกองคลังในแต่ละครั้งที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ทุจริตเบียดบังเงินไป จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดเพียงกระทงเดียว หาใช่เป็นความผิด 256 กระทง โดยนับรวมจำนวนกระทงความผิดที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้กระทำทุจริตเงินการฌาปนกิจสงเคราะห์ไป และโจทก์ยังมีหลักฐานยืนยันว่า เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2541 จำเลยที่ 1 ได้รับเงินการฌาปนกิจสงเคราะห์จากโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา 8,720 บาท แต่จำเลยที่ 1 ไม่นำเงินดังกล่าวส่งกองคลัง อันเป็นการเบียดบังเงินดังกล่าวเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริต จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 อีกกระทงหนึ่ง
สำหรับจำเลยที่ 3 มีหน้าที่รับผิดชอบงานด้านการฌาปนกิจสงเคราะห์โดยทำหน้าที่ลงการ์ด รวบรวมเงินสมัครสมาชิกการฌาปนกิจสงเคราะห์ข้าราชการในพระองค์ ทวงถามเงินการฌาปนกิจสงเคราะห์หรือเงินค้างชำระอื่น ไม่มีหน้าที่รับเงิน การฌาปนกิจสงเคราะห์จากหน่วยงานต่าง ๆ นำส่งกองคลัง สำนักพระราชวัง แต่ทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่า จำเลยที่ 3 ทำหน้าที่รับเงินการฌาปนกิจสงเคราะห์จากหน่วยงานต่าง ๆ หลายครั้งอย่างสม่ำเสมอ โดยปฏิบัติในพฤติการณ์ที่อาจทำให้ผู้อื่น เชื่อว่าเป็นผู้มีหน้าที่รับเงินการฌาปนกิจสงเคราะห์และเบียดบังเงินที่ตนได้รับมาเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริต ดังเห็นได้ว่า เมื่อกองคลัง สำนักพระราชวัง ตรวจพบว่า เงินการฌาปนกิจสงเคราะห์ที่หน่วยงานต่าง ๆ นำส่งฝ่ายสวัสดิการเพื่อนำส่งกองคลังจำนวนหนึ่งสูญหายไป จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับเงินการฌาปนกิจสงเคราะห์ก็ยินยอมร่วมชดใช้เงินคืนด้วยเป็นเงิน 400,000 บาท มากกว่าส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามพฤติการณ์ดังที่กล่าวมามีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกระทำทุจริตด้วย จำเลยที่ 3 จึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123 รวม 133 กระทง ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และเห็นว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 4 และมาตรา 171 ที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 3 จึงต้องให้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยที่ 3
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และ 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังทรัพย์โดยทุจริต จำคุก 5 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จำคุก 1 ปี ลดโทษให้จำเลยที่ 1 กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 ปี 12 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share