คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 679/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่เจ้าพนักงานตำรวจได้ยึดรถยนต์พิพาทเพราะสงสัยว่าจะเป็นรถยนต์ผิดกฎหมายมีสาเหตุมาจากสภาพรถยนต์พิพาทที่ถูกแก้ไขเลขประจำตัวถังรถเมื่อไม่ปรากฏว่าเกิดจากการกระทำของโจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อโจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชอบในการที่รถยนต์พิพาทถูกยึดไปดังกล่าวและโจทก์ผู้เช่าซื้อรถยนต์พิพาทไม่สามารถใช้หรือรับประโยชน์จากรถยนต์คันนั้นตามวัตถุประสงค์แห่งสัญญาได้จำเลยที่2ผู้ให้เช่าซื้อจึงต้องรับผิดต่อโจทก์จำเลยที่2จะมาโต้เถียงว่ารถยนต์พิพาทมิใช่รถยนต์ผิดกฎหมายแม้จะฟังได้เช่นนั้นก็หาทำให้ความรับผิดของจำเลยที่2ต่อโจทก์เปลี่ยนแปลงไปไม่เพราะความเสียหายของโจทก์ที่ไม่ได้ประโยชน์ในทรัพย์ที่เช่าซื้อตามสัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว สัญญาเช่าซื้อข้อ12ระบุว่าไม่ว่าโดยเหตุใดก็ตามถ้ารถยนต์เช่าซื้อถูกจับถูกยึดหรือถูกใช้สิทธิยึดหน่วงผู้เช่าซื้อต้องรีบแจ้งให้จำเลยที่2ผู้ให้เช่าซื้อทราบเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน7วันนับแต่วันถูกจับถูกยึดหรือถูกใช้สิทธิยึดหน่วงและผู้เช่าซื้อต้องจัดการประการหนึ่งประการใดหรือจัดการชำระหนี้อันเป็นมูลให้ถูกยึดหน่วงแล้วแต่กรณีเพื่อให้ได้รถยนต์เช่าซื้อคืนมาโดยเร็วมิฉะนั้นบริษัทจะถือว่าโจทก์ผู้เช่าซื้อปฏิบัติผิดสัญญานี้การที่รถยนต์พิพาทถูกเจ้าพนักงานตำรวจยึดเอาไปก็เพราะมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเป็นรถยนต์ผิดกฎหมายโดยมีการแก้ไขเลขประจำตัวถังรถซึ่งมิใช่การกระทำหรือเป็นความผิดของโจทก์ที่เป็นเพียงผู้เช่าซื้อการแสดงหลักฐานและประวัติของรถยนต์พิพาทว่ามิใช่รถยนต์ผิดกฎหมายย่อมเป็นหน้าที่ของเจ้าของกรรมสิทธิ์คือจำเลยที่2ผู้ให้เช่าซื้อทั้งโจทก์ก็ได้ปฏิบัติตามสัญญาข้อ12โดยแจ้งให้จำเลยที่2ผู้ให้เช่าซื้อทราบถึงการที่รถยนต์ถูกยึดภายใน7วันนับจากวันถูกยึดแล้วถือได้ว่าโจทก์ได้ทำหน้าที่ผู้เช่าซื้อครบถ้วนตามสัญญาแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2531 โจทก์ตกลงเช่าซื้อรถยนต์ จากจำเลยทั้งสองในราคา 435,520 บาท โดยวางมัดจำไว้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 100,000 บาท ต่อมาเมื่อวันที่16 พฤษภาคม 2531 จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวจากจำเลยที่ 2 ในราคา 335,520 บาท ตกลงผ่อนชำระ24 งวด งวดละ 13,980 บาท เริ่มชำระงวดแรกในวันที่ 15 มิถุนายน2531 งวดต่อไปชำระทุกวันที่ 15 ของเดือนติดต่อกันไป โจทก์ได้รับมอบรถยนต์ในวันทำสัญญาเช่าซื้อแล้วและได้ผ่อนชำระให้จำเลยที่ 2 จำนวน 11 งวด เป็นเงิน 153,780 บาท ครั้นเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2532 เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ได้ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อโดยสงสัยว่าจะเป็นรถยนต์ที่ผิดกฎหมาย โจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบและให้จำเลยสองนำหลักฐานความถูกต้องไปแสดงต่อเจ้าพนักงานตำรวจ แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยทั้งสอง การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถครอบครองใช้ประโยชน์จากรถยนต์ที่เช่าซื้อได้ โจทก์ได้ชำระค่าเช่าซื้อให้จำเลยทั้งสองไปแล้วเป็นเงิน 253,780 บาท จำเลยทั้งสองจะต้องคืนเงิน 253,780 บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่26 มิถุนายน 2532 อันเป็นวันที่จำเลยทั้งสองได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาถึงวันฟ้องเป็นเวลา 830 วัน เป็นเงินค่าดอกเบี้ย86,563 บาท โจทก์ขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์นับแต่วันที่4 พฤษภาคม 2532 เป็นวันที่รถยนต์ถูกเจ้าพนักงานตำรวจยึดถึงวันที่ 26 มิถุนายน 2532 เป็นเวลา 54 วัน วันละ 700 บาท เป็นเงิน37,800 บาท รวมค่าเสียหายถึงวันฟ้องเป็นเงิน 378,143 บาทขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 378,143 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากยอดเงิน 253,780 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 2 โจทก์จึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 รถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นรถยนต์ที่นำเข้ามาโดยถูกต้องตามกฎหมายและผ่านพิธีการของศุลกากรแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า เดิมโจทก์ตกลงซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 1 แต่โจทก์ไม่มีเงินสดพอที่จะชำระค่ารถยนต์พิพาทได้หมดโจทก์จึงชำระราคาให้จำเลยที่ 1 เพียงบางส่วน และตกลงให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระราคาที่เหลือแก่จำเลยที่ 1 ทั้งหมดจากนั้นจำเลยที่ 1 จึงโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2โดยให้โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 2 ตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 12 ระบุว่าหากรถยนต์พิพาทถูกยึดโจทก์จะต้องรับผิดชอบเอง การที่รถยนต์พิพาทถูกยึดมิใช่ความผิดของจำเลยที่ 2จำเลยที่ 2 ได้นำหลักฐานต่าง ๆ แสดงต่อเจ้าพนักงานตำรวจแต่ไม่เป็นผลจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด โจทก์เป็นผู้ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อจนสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 134,707 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่3 กรกฎาคม 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1
จำเลย ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 2 ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.2 โจทก์ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อให้แก่จำเลยที่ 2รวม 11 งวด เป็นเงิน 153,780 บาท และรถยนต์พิพาทถูกเจ้าพนักงานตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชยึดไปอ้างว่าเป็นรถยนต์นำเข้าผิดกฎหมายเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2532 ในวันที่10 พฤษภาคม 2533 โจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบว่ารถยนต์พิพาทถูกเจ้าพนักงานตำรวจยึดไปเพื่อตรวจสอบเพราะสงสัยว่าเป็นรถยนต์ที่นำมาเข้ามาโดยผิดกฎหมาย ขอให้จำเลยที่ 2 นำเอกสารเกี่ยวกับรถยนต์พิพาทไปแสดงความถูกต้องของรถยนต์ต่อเจ้าพนักงานโดยด่วน ต่อมาวันที่ 16 พฤษภาคม 2532 โจทก์มีหนังสือแจ้งของดส่งเงินค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดวันที่ 15 พฤษภาคม 2532 และในวันที่23 มิถุนายน 2532 โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 ตามลำดับ
มีปัญหาว่า การที่รถยนต์พิพาทถูกยึดจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดหรือไม่ ได้ความว่ารถยนต์พิพาทเป็นรถยนต์นำเข้าจากต่างประเทศมีการโอนเปลี่ยนมือกันมาแล้ว 3 เจ้าของก่อนที่จะโอนมาเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.19 หากปรากฏว่ารถยนต์ที่ทางกรมศุลกากรประมูลขายบริเวณหมายเลขตัวถังมีการปะและพ่นสีทับ ถ้าผู้นำมาจดทะเบียนมีเอกสารเกี่ยวกับใบเสร็จรับเงินที่ทางกรมศุลกากรออกให้ประกอบกับหนังสือของกรมศุลกากรระบุว่าผู้ใดเป็นผู้ประมูลได้นำมาประกอบการจดทะเบียนแล้ว ทางกองทะเบียนกรมตำรวจสมัยนั้นก็จะรับจดทะเบียนให้ ปัจจุบันกรมการขนส่งทางบกเข้มงวดกวดขันในการตรวจสภาพและจดทะเบียนรถยนต์ทุกชนิดบริเวณที่จะตรวจสอบเป็นพิเศษ คือ บริเวณที่เป็นเลขเครื่องและเลขตัวรถ หากสงสัยว่าบริเวณเลขตัวรถมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขตัวเลขก็จะขูดสีดู ถ้าสภาพปรากฏตามภาพถ่ายจำลองวัตถุพยานหมาย จ.6ก็จะไม่รับจดทะเบียนให้เพราะไม่เรียบร้อย เมื่อรถยนต์พิพาทถูกส่งไปตรวจสอบที่แผนกพิสูจน์หลักฐาน กองบังคับการตำรวจภูธร 11เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2532 ปรากฏว่าตรวจพบการแก้ไขที่บริเวณเลขหมายประจำตัวถังของรถยนต์มีรอยเชื่อมโลหะรอบแผ่นกั้นห้องเครื่องซึ่งมีเลขหมายปรากฏ เชื่อว่าได้มีการตัดเอาแผ่นโลหะซึ่งมีเลขหมายแท้จริงออกไป และนำเอาแผ่นโลหะซึ่งมีเลขหมายที่ปรากฏเชื่อมติดแทนไว้ น่าเชื่อว่ากรมการขนส่งทางบกจะไม่รับจดทะเบียนให้ แต่ที่จดทะเบียนได้ในครั้งแรกนั้นเพราะมีเอกสารจากกรมศุลกากรถูกต้อง กองทะเบียน กรมตำรวจ ซึ่งมีหน้าที่จดทะเบียนรถยนต์ในขณะนั้นจึงได้จดทะเบียนให้ การที่เจ้าพนักงานตำรวจได้ยึดรถยนต์พิพาทเพราะสงสัยว่าจะเป็นรถยนต์ผิดกฎหมายจึงมีสาเหตุมาจากสภาพรถยนต์พิพาทที่ถูกแก้ไขเลขประจำตัวถังรถ เมื่อไม่ปรากฏว่าเกิดจากการกระทำของโจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อ โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชอบในการที่รถยนต์พิพาทถูกยึดไปดังกล่าว ทั้งได้ความจากนายวิชัย ธนะรัชติกานนท์ พยานจำเลยที่ 2 เองว่า ในขณะที่พยานเบิกความคือปี 2536 รถยนต์พิพาทยังถูกยึดอยู่ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชแสดงว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของและผู้ให้เช่าซื้อมิได้กระทำการใด ๆ อันจักให้เจ้าพนักงานตำรวจเชื่อว่ารถยนต์พิพาทเป็นรถยนต์ที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายและปล่อยรถยนต์พิพาท ทำให้โจทก์ผู้เช่าซื้อรถยนต์พิพาทไม่สามารถใช้หรือรับประโยชน์จากรถยนต์คันนั้นตามวัตถุประสงค์แห่งสัญญาได้จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จะมาโต้เถียงแสดงหลักฐานในชั้นนี้ว่ารถยนต์พิพาทมิใช่รถยนต์ผิดกฎหมาย แม้จะฟังได้เช่นนั้นก็หาทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์เปลี่ยนแปลงไปไม่เพราะความเสียหายของโจทก์ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในทรัพย์ที่เช่าซื้อตามสัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าตามสัญญาเช่าซื้อ 12 การติดตามเอารถยนต์พิพาทคืนจากเจ้าพนักงานตำรวจเป็นหน้าที่ของโจทก์มิใช่จำเลยที่ 2 นั้น สัญญาข้อ 12 ระบุว่า”ไม่ว่าโดยเหตุใดก็ตาม ถ้ารถยนต์เช่าซื้อถูกจับ ถูกยึดหรือถูกใช้สิทธิยึดหน่วง ผู้เช่าซื้อต้องรีบแจ้งให้บริษัท (จำเลยที่ 2)ทราบเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 7 วัน นับแต่วันถูกจับ ถูกยึดหรือถูกใช้สิทธิยึดหน่วง และผู้เช่าซื้อต้องจัดการประการหนึ่งประการใดหรือจัดการชำระหนี้อันเป็นมูลให้ถูกยึดหน่วงแล้วแต่กรณีเพื่อให้ได้รถยนต์เช่าซื้อมาโดยเร็ว มิฉะนั้นบริษัทจะถือว่าผู้เช่าซื้อ(โจทก์) ปฏิบัติผิดสัญญานี้” เห็นว่า การที่รถยนต์พิพาทถูกเจ้าพนักงานตำรวจยึดเอาไปก็เพราะมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเป็นรถยนต์ผิดกฎหมาย โดยมีการแก้ไขเลขประจำตัวถังรถดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ซึ่งมิใช่การกระทำหรือเป็นความผิดของโจทก์ที่เป็นเพียงผู้เช่าซื้อ การแสดงหลักฐานและประวัติของรถยนต์พิพาทว่ามิใช่รถยนต์ผิดกฎหมายย่อมเป็นหน้าที่ของเจ้าของกรรมสิทธิ์คือจำเลยที่ 2 ผู้ให้เช่าซื้อดังเช่นที่จำเลยที่ 2 ก็ได้นำมาสืบแสดงต่อศาลในคดีนี้แล้ว ทั้งนี้เพราะโจทก์ผู้เช่าซื้อมิใช่ผู้ที่ทราบหรือครอบครองหลักฐานต่าง ๆ อันเกี่ยวกับรถยนต์พิพาททั้งโจทก์ก็ได้ปฏิบัติตามสัญญาข้อ 12 โดยแจ้งให้จำเลยที่ 2ผู้ให้เช่าซื้อทราบถึงการที่รถยนต์ถูกยึดภายใน 7 วัน นับจากวันถูกยึดแล้วตามเอกสารหมาย จ.7 ถือได้ว่าโจทก์ได้ทำหน้าที่ผู้เช่าซื้อครบถ้วนตามสัญญาแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 134,707 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 กรกฎาคม2532 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share