คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6786/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า “ค่าจ้างหรือสินจ้างอย่างอื่น” ที่ลูกจ้างใช้สิทธิเรียกร้องเอาจากนายจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (9) หมายถึงสินจ้างตามมาตรา 575 ซึ่งเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นตามสัญญาจ้าง แต่สิทธิที่จะได้รับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม รวมทั้งสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่ลูกจ้างเรียกร้องเอาจากนายจ้าง อันเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากการเลิกจ้างภายหลังสัญญาจ้างสิ้นสุดแล้ว ไม่ใช่สิทธิตามสัญญาจ้าง ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 193/34 (9) จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายอันเนื่องมาจากจำเลยทำละเมิดและผิดสัญญาจ้าง เป็นเงิน 8,491,124.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งขอศาลสั่งให้โจทก์รับจำเลยกลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิมพร้อมทั้งจ่ายค่าจ้างย้อนหลังให้จำเลยตั้งแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะรับกลับเข้าทำงาน พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีจนกว่าจะชำระเสร็จ หรือให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่จำเลยเป็นเงิน 13,549,440 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จกับให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเพิ่มอีก 120,000 บาท และ 5,333 บาท ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กับจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าอีก 81,160 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าเสียหาย 500,000 บาท กับจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเพิ่มเป็นเงิน 120,000 บาท 5,333 บาท และ 81,160 บาท ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2542 สำหรับค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับหยุดพักผ่อนประจำปี และนับแต่วันฟ้องแย้ง (วันที่ 9 เมษายน 2546) สำหรับค่าเสียหายและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่จำเลยฟ้องแย้งในคดีนี้เป็นสินจ้างอย่างอื่นตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (9) จึงมีอายุความ 2 ปี ไม่ใช่ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 บัญญัติว่า “อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า นายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้” โดยมิได้มีบทมาตราใดให้คำจำกัดความว่าสินจ้างจะต้องเป็นสิ่งใด จึงอาจเป็นได้ทั้งเงินและทรัพย์สินอื่น คำว่า “ค่าจ้างหรือสินจ้างอย่างอื่น” ที่ลูกจ้างใช้สิทธิเรียกร้องเอาจากนายจ้างตามความในมาตรา 193/34 (9) จึงหมายถึงสินจ้างตามมาตรา 575 ซึ่งเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นตามสัญญาจ้าง แต่สิทธิที่จะได้รับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมรวมทั้งสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างฟ้องแย้งเรียกร้องเอาจากโจทก์ผู้เป็นนายจ้างในคดีนี้ เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นเนื่องจากการเลิกจ้างภายหลังสัญญาจ้างสิ้นสุดแล้ว ไม่ใช่สิทธิตามสัญญาจ้าง ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 193/34 (9) จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน.

Share