คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 678/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เห็นว่าโจทก์ไม่ต้องเสียภาษีการค้าเพิ่ม.ตามที่เจ้าพนักงานแจ้งการประเมินได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้วอุทธรณ์ฉบับแรกคณะกรรมการฯ สั่งไม่รับเพราะยื่นไม่ถูกแบบ ฉบับหลังสั่งให้ยกอุทธรณ์เพราะยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาแล้ว และในคำวินิจฉัยนี้ ได้สั่งให้โจทก์นำเงินภาษีไปชำระตามจำนวนที่เจ้าพนักงานประเมินเรียกเก็บด้วย ดังนี้ย่อมถือว่าคณะกรรมการฯ ได้รับอุทธรณ์ไว้พิจารณาแล้วโจทก์ย่อมฟ้องโต้เถียงว่าได้ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดและการประเมินตลอดจนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ ไม่ถูกต้อง ขอให้ศาลพิพากษาว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ ไม่ชอบ ให้เพิกถอนเสียได้ ไม่ใช่ว่าจะฟ้องได้แต่เพียงให้ศาลสั่งคณะกรรมการฯ ให้รับอุทธรณ์ไว้พิจารณาเท่านั้น
จำเลยให้การต่อสู้ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและฟ้องเคลือบคลุมศาลชั้นต้นเพียงแต่ตรวจคำฟ้องและคำให้การแล้วสั่งงดการดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แล้ววินิจฉัยว่าโจทก์ยังไม่มีสิทธิฟ้องพิพากษายกฟ้อง โจทก์จึงอุทธรณ์และจำเลยแก้อุทธรณ์โต้เถียงกันเรื่องอำนาจฟ้องเพียงประเด็นเดียวก่อน ครั้นศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง และพิพากษาให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาสืบพยานไปตามประเด็นแล้วพิพากษาใหม่ ดังนี้ จำเลยจะยกเรื่องฟ้องเคลือบคลุมเป็นข้อฎีกาขึ้นมาด้วยในชั้นนี้ไม่ได้เพราะยังไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการประเมินภาษีที่ให้เรียกเก็บเพิ่มและขอให้พิพากษาว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้เพิกถอนเสีย

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์มิได้ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดจึงขัดมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากร และฟ้องเคลือบคลุม การประเมินนั้นชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องและคำให้การแล้วเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้จึงงดดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป และพิพากษาว่า กรณีตามคำฟ้องเป็นเรื่องที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คือจำเลยทั้งสี่มีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์เพราะฉบับแรกโจทก์ยื่นไม่ถูกแบบ ฉบับหลังยื่นเมื่อพ้นกำหนดแล้ว จึงตกไปเพราะประมวลรัษฎากร มาตรา 28 บัญญัติว่าการอุทธรณ์นั้น ให้อุทธรณ์ตามแบบที่อธิบดีกำหนด สำหรับอุทธรณ์ฉบับหลังโจทก์อ้างว่ายื่นภายในกำหนดเวลา แต่จำเลยสั่งว่ายื่นเกินเวลา จึงมีประเด็นว่ายื่นภายในกำหนดหรือเกิน ซึ่งตัวโจทก์เห็นว่าไม่เกินก็ควรฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยรับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์เสียก่อน หากศาลพิพากษาเช่นนั้นแล้วจำเลยยังไม่ปฏิบัติตาม จึงจะมีสิทธิมาฟ้องขอให้ศาลวินิจฉัยต่อไปชั้นนี้ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงในอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์จะเลยมาฟ้องขอให้ศาลวินิจฉัยเสียเองยังไม่ได้ จึงไม่ต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงต่อไป ให้ยกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ว่า คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัยอุทธรณ์แล้วโจทก์นำคดีมาฟ้องศาลได้

ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาสืบพยานไปตามประเด็นแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ศาลวินิจฉัยว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ชอบ เพราะคณะกรรมการฯ ยังไม่ได้รับอุทธรณ์ไว้พิจารณา จึงถือเสมือนว่ายังไม่มีการอุทธรณ์ โจทก์จะฟ้องได้ก็แต่เพียงให้ศาลสั่งคณะกรรมการฯ รับอุทธรณ์ไว้พิจารณาเท่านั้น และฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม

ศาลฎีกาเห็นว่า ที่จำเลยฎีกาเป็นข้อตัดฟ้องว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมนั้น ในชั้นนี้ศาลชั้นต้นยกประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องข้อเดียวขึ้นวินิจฉัย แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ เมื่อโจทก์อุทธรณ์และจำเลยแก้อุทธรณ์นั้น คู่ความจึงโต้เถียงกันเฉพาะเรื่องอำนาจฟ้องนี้เพียงเรื่องเดียวก่อน ฉะนั้นจึงต้องถือว่าปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่นั้น ยังไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จำเลยจึงยกเป็นข้อฎีกาขึ้นมาในชั้นนี้ไม่ได้

คดีคงมีปัญหาเฉพาะข้อที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลวินิจฉัยว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ชอบ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าการที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัยว่าให้ยกอุทธรณ์ ให้ผู้อุทธรณ์นำเงินภาษีการค้าตามจำนวนที่เจ้าพนักงานประเมินเรียกเก็บไปชำระภายใน 30 วัน ดังนี้ จะถือว่ายังไม่มีการอุทธรณ์ดังที่จำเลยฎีกาไม่ได้ เพราะในคำวินิจฉัยอุทธรณ์ได้มีคำสั่งให้ผู้อุทธรณ์นำเงินภาษีไปชำระตามจำนวนที่เจ้าพนักงานประเมินเรียกเก็บด้วย แม้เหตุที่อ้างจะเป็นเพราะการยื่นอุทธรณ์ไม่ถูกแบบหรือถูกแบบก็มิได้ยื่นภายในกำหนด แต่ผลแห่งคำสั่งนั้นชัดอยู่ในตัวว่าคณะกรรมการฯ ได้รับอุทธรณ์ไว้พิจารณาแล้ว ผู้อุทธรณ์จึงอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ ต่อศาลได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลวินิจฉัยว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ ไม่ชอบ และขอให้เพิกถอนเสียได้ เมื่อจำเลยปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ คดีจึงมีปัญหาที่จะต้องพิจารณาต่อไปว่าความจริงเป็นอย่างไร ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share