คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6772/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การจะลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้หนักขึ้นตามลักษณะฉกรรจ์ตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคสองได้ ก็ต่อเมื่อได้ความว่าขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รู้อยู่แล้วว่ารถกระบะของกลางเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำผิดฐานชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 62 วรรคท้าย เมื่อทางพิจารณาได้ความเพียงว่า รถกระบะของกลางเป็นทรัพย์ที่ น. ได้มาจากการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ไม่ปรากฏว่าขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รู้อยู่แล้วว่ารถกระบะของกลางเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการชิงทรัพย์ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคสองได้ คงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 เท่านั้น ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 3 ที่ถอนฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 357
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 8 ปี คำให้การของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำคุกคนละ 5 ปี 4 เดือน ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 เห็นว่า เหตุที่มีการจับกุมจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 สืบเนื่องมาจากเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนายนิรุตหรือจำลอง คนร้ายที่ฆ่านายสมศักดิ์ เพื่อชิงทรัพย์รถกระบะคันเกิดเหตุและนายนิรุตให้การรับสารภาพว่า นำรถกระบะไปขายให้แก่จำเลยที่ 1 ที่จังหวัดสงขลา โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 นำสืบรับว่าได้ช่วยจำหน่ายรถกระบะของกลาง เพียงแต่อ้างว่าไม่รู้ว่าเป็นรถกระบะที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ อย่างไรก็ตามคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีรายละเอียดสอดคล้องกันได้ความว่า นายนิรุตเคยนำรถกระบะไปให้จำเลยที่ 1 ช่วยจำหน่ายมาแล้วหลายคัน โดยนายนิรุตซึ่งเป็นหลานของจำเลยที่ 3 ภริยาของจำเลยที่ 1 ติดต่อให้ไปรับรถที่ด้านหลังสนามบินหาดใหญ่เหมือนครั้งก่อน ๆ หลังจากส่งมอบรถให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วนายนิรุตเดินทางกลับกรุงเทพมหานครในทันทีโดยไม่รอรับเงินจากการจำนำหรือจำหน่ายรถเสียก่อน จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ช่วยติดต่อหาผู้รับจำนำหรือจำหน่ายรถโดยไม่ได้ไถ่ถามถึงเจ้าของรถหรือตรวจสอบรายละเอียดหลักฐานทางทะเบียนตลอดจนเอกสารที่จำเป็นเกี่ยวกับการซื้อขาย จึงเป็นเรื่องผิดปกติ เมื่อตรวจยึด รถกระบะมีสภาพถูกถอดแผ่นป้ายทะเบียนและโครงหลังคาถูกถอดไปขายให้ผู้อื่น ผิดปกติวิสัยของสุจริตชน ราคาที่จำหน่ายรถคันละ 100,000 ถึง 110,000 บาท ก็ต่ำกว่าราคารถที่แท้จริง สอดคล้องกับที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้รับส่วนแบ่งคันละ 20,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 ได้รับเงินจากจำเลยที่ 3 คันละ 3,000 ถึง 5,000 บาท พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันกระทำความผิดฐานรับของโจร แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ช่วยจำหน่ายรถกระบะคันเกิดเหตุโดยไม่ได้กระทำเพื่อค้ากำไรและไม่ปรากฏว่ารู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดร่วมกับนายนิรุต จึงเห็นสมควรกำหนดโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์ การกำหนดโทษในการกระทำความผิดเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีอำนาจพิพากษาไปถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คนละ 6 ปี ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คนละ 4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอถอนฎีกา ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับคดีของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 4 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่อุทธรณ์ จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่รู้ว่านายนิรุตหรือจำลอง ได้รถกระบะของกลางมาจากการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 มีความเข้าใจโดยสุจริตว่าเจ้าของรถมีความเดือดร้อนเรื่องเงิน คำซัดทอดของนายนิรุตซึ่งเป็นคำให้การในชั้นสอบสวนมิได้มีบุคคลที่นายนิรุตไว้ใจและเชื่อถือหรือทนายความเข้าร่วมในการสอบสวนด้วย จึงเป็นพิรุธไม่สามารถรับฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ได้และที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ไม่รู้ว่ารถกระบะของกลางเป็นรถที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์เพราะจำเลยที่ 1 แจ้งว่าหลานของจำเลยที่ 1 ขอให้ช่วยหาคนรับจำนำเพราะเจ้าของรถมีความจำเป็นเรื่องเงิน เรื่องดังกล่าวจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การไว้ในชั้นสอบสวนในวันที่ถูกจับจึงมีน้ำหนักควรรับฟังเพราะไม่มีเวลาคิดปรุงแต่งข้อเท็จจริงราคารถ 130,000 บาท ตามที่จำเลยที่ 1 แจ้งมาก็ไม่มีเหตุน่าสงสัยเพราะเป็นราคาที่เหมาะสม คำซัดทอดของจำเลยที่ 1 คำเบิกความของผู้จับกุมและพนักงานสอบสวนประกอบคำให้การของนายนิรุตเป็นพยานบอกเล่าต้องห้ามมิให้รับฟังตามกฎหมาย เรื่องที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยพฤติการณ์ว่า นายนิรุตเคยนำรถไปให้จำเลยที่ 1 ขายหลายครั้งก็ได้มาจากเอกสาร ซึ่งเป็นลายมือเขียนที่อ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 เบิกความปฏิเสธว่าไม่ได้เขียน พนักงานสอบสวนไม่ได้ให้จำเลยที่ 1 ยืนยันในบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา ซึ่งเป็นคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 จึงมีพิรุธนำมารับฟังไม่ได้และพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 นำรถไปจอดไว้โดยมิได้ซุกซ่อนแสดงว่ากระทำโดยสุจริตนั้น เห็นว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 9 ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ชอบด้วยเหตุผลแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษา ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 จำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คนละ 8 ปี ก่อนลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 และศาลอุทธรณ์ภาค 9 เพียงแต่พิพากษาแก้เป็นลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คนละ 6 ปี ก่อนลดโทษโดยมิได้แก้ไขบทลงโทษนั้น เห็นว่า การจะลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้หนักขึ้นตามลักษณะฉกรรจ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสอง ได้ก็ต่อเมื่อได้ความว่าในขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รู้อยู่แล้วว่ารถกระบะของกลางเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำผิดฐานชิงทรัพย์ ทั้งนี้ตามมาตรา 62 วรรคท้าย ซึ่งในข้อนี้ตามทางพิจารณาได้ความเพียงว่า รถกระบะของกลางเป็นทรัพย์ที่นายนิรุตได้มาจากกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ จำเลยที่ 1 และที่ 3 ช่วยรับรถกระบะของกลางไว้แล้วนำไปให้จำเลยที่ 2 ขายหรือจำนำแก่บุคคลอื่น โดยไม่ปรากฏว่าขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รู้อยู่แล้วว่ารถกระบะของกลางเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการชิงทรัพย์ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสอง ได้ คงลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 เท่านั้น ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 3 ที่ถอนฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกคนละ 5 ปี ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คนละ 3 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share