แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีแรงงาน จำเลยยื่นคำร้องขอพิจารณาใหม่อ้างว่า ในวันนัดพิจารณาทนายจำเลยติดว่าความที่ศาลอื่นที่ได้นัดไว้ก่อนแล้ว จึงทำคำให้การ คำร้องขอเลื่อนการพิจารณา และใบแต่งทนายความมอบฉันทะให้เสมียนทนายมายื่นต่อศาลแรงงานระหว่างเดินทางเสมียนทนายจำเลยประสบปัญหาการจราจรติดขัดจึงเปลี่ยนเส้นทางไปใช้ทางด่วน แต่รถแท็กซี่ที่เสมียนทนายจำเลยโดยสารมาเครื่องยนต์เสียอยู่บนทางด่วนเสมียนทนายจำเลยมาถึงศาลแรงงานเลยกำหนดนัดเพียง 15 นาที เสมียนทนายจำเลยเข้าไปนั่งรอในห้องพิจารณา แต่ผู้พิพากษาไม่ออกนั่งพิจารณาเมื่อไปตรวจสอบที่ศูนย์หน้าบัลลังก์จึงทราบว่าได้ย้ายห้องพิจารณาไปที่ห้องพิจารณาอื่น เสมียนทนายจำเลยตามไปห้องพิจารณานั้น แต่ปรากฏว่าผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดีนี้ และเสร็จการพิจารณาก่อนเสมียนทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนการพิจารณาต่อผู้พิพากษาในห้องพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงในสำนวนปรากฏว่าเจ้าหน้าที่งานรับฟ้องของศาลแรงงานประทับตรารับในคำให้การ คำร้องขอเลื่อนการพิจารณา และใบแต่งทนายความของจำเลยระบุว่าได้ร้องขอเลื่อนคดีไว้ก่อนเวลาที่ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดีตามที่ระบุไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา ดังนี้ หากข้อเท็จจริงเป็นตามคำร้องจำเลยดังกล่าวก็แสดงว่ามีเหตุจำเป็น ซึ่งศาลแรงงานควรไต่สวนถึงเหตุแห่งความจำเป็นนั้นก่อนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 41 ที่ศาลแรงงานกลางสั่งยกคำร้องโดยไม่ไต่สวนก่อนจึงไม่ชอบ
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 41 ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วว่าในการขอพิจารณาใหม่ให้โจทก์หรือจำเลยแถลงให้ศาลแรงงานทราบถึงความจำเป็นที่ไม่อาจมาศาลได้ และศาลแรงงานมีอำนาจไต่สวนถึงเหตุแห่งความจำเป็นนั้น ไม่ได้บัญญัติให้โจทก์หรือจำเลยต้องกล่าวโดยละเอียดถึงข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลแรงงานด้วย จึงไม่นำ ป.วิ.พ. มาตรา 208วรรคสอง มาอนุโลมใช้ในคดีแรงงาน