คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 677/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การครอบครองที่ดินของผู้อื่น อันจะเป็นเหตุให้ผู้ครอบครองได้กรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 นั้น ต้องเป็นการครอบครองที่ดินของผู้อื่นที่ได้ออกโฉนดแล้วเท่านั้น ทั้งจะต้องครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปีด้วย เมื่อทางราชการเพิ่งออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งห้าเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2539 นับถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2540 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยทั้งสองฟ้องแย้ง ยังไม่ถึงสิบปี จำเลยทั้งสองจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์
จำเลยทั้งสองจะนับระยะเวลาที่ครอบครองที่พิพาทก่อนที่พิพาทออกโฉนดรวมเข้าด้วยไม่ได้เพราะการครอบครองปรปักษ์จะมีได้แต่เฉพาะที่ดินมีกรรมสิทธิ์เท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ทั้งห้าฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนบ้านดังกล่าว ขนย้ายทรัพย์สินกับบริวารออกไปจากที่ดินที่เช่าโฉนดเลขที่ 241768 ดังกล่าวของโจทก์ทั้งห้า และส่งมอบที่ดินดังกล่าวในสภาพเรียบร้อยแก่โจทก์ทั้งห้า กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายเดือนละ 2,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งห้า
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยทั้งสองได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2528 โดยปลูกบ้านบนที่ดินพิพาทเป็นเวลากว่าสิบปี จำเลยทั้งสองไม่เคยเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ทั้งห้า ค่าเสียหายไม่เกินเดือนละ 500 บาท ฟ้องของโจทก์ทั้งห้าเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้องและมีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทตามโฉนดเลขที่ 241768 ดังกล่าว เนื้อที่ประมาณ 32 ตารางวา เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสองโดยการครอบครอง ห้ามโจทก์ทั้งห้าเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินส่วนดังกล่าว กับให้โจทก์ทั้งห้าจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดดังกล่าวเนื้อที่ประมาณ 32 ตารางวา เป็นของจำเลยทั้งสอง หากโจทก์ทั้งห้าไม่ดำเนินการ ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ทั้งห้า
โจทก์ทั้งห้าให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยทั้งสองมิได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินของโจทก์ทั้งห้า ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรม โจทก์ทั้งห้ายื่นคำร้องขอให้หมายเรียกนายกู้เกียรติ ตันอังสนากุล จำเลยที่ 2 ทายาทของจำเลยที่ 1 เข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นคู่ความแทน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนบ้านเลขที่ 280 พร้อมขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 241768 ตำบลตลาด อำเภอพระประแดง (เมือง) จังหวัดสมุทรปราการ แล้วส่งมอบที่ดินในสภาพที่เรียบร้อยให้แก่โจทก์ทั้งห้า ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ 1,500 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 15 สิงหาคม 2540) จนกว่าจะส่งมอบที่ดินในสภาพเรียบร้อยให้แก่โจทก์ทั้งห้า และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งห้า โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 บัญญัติว่า “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี…ไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์” หมายความว่า อสังหาริมทรัพย์ที่จะถูกครอบครองปรปักษ์จนได้กรรมสิทธิ์นั้น จะต้องเป็นของบุคคลอื่น ซึ่งก็คือบุคคลนั้นจะต้องมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นั่นเอง หลักฐานที่แสดงว่าผู้ใดเป็นเจ้าของหรือมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์นั้น คือโฉนดที่ดินเพราะเป็นหลักฐานทางทะเบียนของทางราชการ ดังนั้น การครอบครองที่ดินของผู้อื่น อันจะเป็นเหตุให้ผู้ครอบครองได้กรรมสิทธิ์นั้นจะต้องเป็นการครอบครองที่ดินของผู้อื่นที่ได้ออกโฉนดแล้วเท่านั้น ทั้งจะต้องครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปีด้วย เมื่อทางราชการเพิ่งออกโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ. 7 ให้แก่โจทก์ทั้งห้า เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2539 เช่นนี้ การนับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2539 เป็นต้นไปเท่านั้น ระยะเวลาที่ครอบครองก่อนที่ดินพิพาทออกโฉนดไม่อาจนำมานับรวมกันได้ ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5279/2537 เมื่อคิดถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2540 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยทั้งสองฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองจึงยังไม่ถึงสิบปี จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามบทกฎหมายดังกล่าวนั้นได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์นั้นชอบแล้ว
อนึ่ง คำพิพากษาศาลชั้นต้นมิได้กล่าวยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองและสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมส่วนฟ้องแย้งด้วยนั้นยังไม่ถูกต้อง ทั้งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็มิได้แก้ไขให้ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องเสียด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองเสียด้วย ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,500 บาท แทนโจทก์ทั้งห้า ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมที่เกี่ยวกับฟ้องแย้งทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

Share