แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในการอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลภาษีอากรกลางรับรองว่าคดีของจำเลยที่ 3 และที่ 4 มีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง และผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลภาษีอากรกลางรับรองว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 มีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ตามคำร้องของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ดังนี้ แม้คดีในส่วนของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จะมีทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกินห้าหมื่นบาทก็ไม่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามที่ยกเว้นใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 25
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าส่งออกต่อโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าส่งออก ขอโอนสิทธิรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 6 โจทก์ได้จ่ายเงินชดเชยค่าภาษีอากรดังกล่าวโดยออกบัตรภาษีให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 6 ตามคำขอของจำเลยที่ 1 แล้ว ต่อมาโจทก์พบว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ เอกสารที่จำเลยที่ 1 ยื่นประกอบคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรเป็นเอกสารเท็จและเอกสารปลอม จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรตามคำขอที่จำเลยที่ 1 ยื่นต่อโจทก์และไม่มีสิทธิขอโอนบัตรภาษีให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 6 จำเลยที่ 3 และที่ 6 ไม่มีสิทธิได้รับบัตรภาษีไปจากโจทก์ ดังนี้ ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์เป็นเรื่องจำเลยที่ 1 จงใจทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายให้โจทก์เสียหายแก่ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด อันเป็นละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 6 ไม่ปรากฏว่ามีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำละเมิดต่อโจทก์ การที่จำเลยที่ 3 และที่ 6 ได้รับบัตรภาษีไปจากโจทก์จึงเป็นการได้บัตรภาษีไปโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบจำเลยที่ 3 และที่ 6 ต้องรับผิดคืนบัตรภาษีแก่โจทก์ในมูลลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 ที่โจทก์แก้อุทธรณ์ว่า ในการรับโอนบัตรภาษีจำเลยที่ 3 และที่ 6 ได้ยื่นคำร้องขอรับโอนบัตรภาษีต่อโจทก์ระบุว่า “กรณีที่เกิดการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรและเกิดความเสียหายแก่กรมศุลกากร (โจทก์) ไม่ว่ากรณีใด ๆ ข้าพเจ้า (จำเลยที่ 3 และที่ 6) ยินยอมรับผิดต่อกรมศุลกากร (โจทก์) ทุกประการโดยไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ ทั้งสิ้น” จำเลยที่ 3 และที่ 6 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามที่ได้ให้คำรับรองไว้นั้น เป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 3 และที่ 6 ได้แสดงเจตนายินยอมรับผิดต่อโจทก์ในกรณีที่เกิดการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ อันเป็นสิทธิเรียกร้องตามสัญญาและเป็นคนละข้อหากับความผิดฐานละเมิดและลาภมิควรได้ตามที่โจทก์ฟ้อง เมื่อโจทก์ไม่ได้แสดงสภาพแห่งข้อหานี้มาในคำฟ้องจึงไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง แม้ศาลภาษีอากรกลางจะได้ยกความข้อนี้ขึ้นวินิจฉัยเป็นคุณแก่โจทก์ในประเด็นอำนาจฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะยกขึ้นเป็นประเด็นข้อต่อสู้ในคำแก้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 29 ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่รับวินิจฉัย
บัตรภาษีออกให้แทนการคืนเงินชดเชยค่าภาษีอากรเป็นเงินสดเพื่อให้ผู้รับนำบัตรภาษีไปใช้แทนเงินสดในการชำระค่าภาษีอากรแก่โจทก์ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต หรือภาษีอากรอื่นตามมูลค่าของบัตรภาษีตามที่บัญญัติใน พ.ร.บ.ชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักรฯ มาตรา 4 และ 18 จึงถือได้ว่าเป็นเงินจำนวนหนึ่งและ ป.พ.พ. มาตรา 412 บัญญัติว่า “ถ้าทรัพย์สินซึ่งได้รับไว้เป็นลาภมิควรได้นั้นเป็นเงินจำนวนหนึ่ง ท่านว่าต้องคืนเต็มจำนวนนั้น เว้นแต่เมื่อบุคคลได้รับไว้โดยสุจริตจึงต้องคืนลาภมิควรได้เพียงส่วนที่ยังมีอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืน” เมื่อจำเลยที่ 3 และที่ 6 ได้รับโอนบัตรภาษีโดยสุจริต จึงต้องคืนบัตรภาษีตามมูลค่าที่ยังมีอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืน แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 3 และที่ 6 นำบัตรภาษีที่ได้รับไปชำระค่าภาษีอากรแล้ว จำเลยที่ 3 และที่ 6 จึงไม่ต้องรับผิดคืนบัตรภาษีหรือชดใช้เงินตามมูลค่าบัตรภาษีให้แก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันคืนเงินชดเชยที่ได้รับในรูปบัตรภาษีมูลค่า 86,188.83 บาท หรือคืนเป็นเงินสดพร้อมดอกเบี้ยจำนวน 41,478.37 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 86,188.83 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันคืนเงินชดเชยที่ได้รับในรูปบัตรภาษีมูลค่า 23,610.78 บาทหรือคืนเป็นเงินสดพร้อมดอกเบี้ยจำนวน 11,215.12 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 23,610.78 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 5 ร่วมกันคืนเงินชดเชยที่ได้รับในรูปบัตรภาษีมูลค่า 89,301.46 บาท หรือคืนเป็นเงินสดพร้อมดอกเบี้ยจำนวน 41,020.38 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 89,301.46 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 6 ร่วมกันคืนเงินชดเชยที่ได้รับในรูปบัตรภาษีมูลค่า 43,619.85 หรือคืนเป็นเงินสดพร้อมดอกเบี้ยจำนวน 19,901.56 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 43,619.85 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 และที่ 6 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนบัตรภาษีแก่โจทก์มูลค่า 242,720.92 บาท หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาเป็นเงินจำนวน 242,720.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่รับบัตรภาษีแต่ละฉบับไปจากโจทก์จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยคิดถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2546 ต้องไม่เกิน 113,615.43 บาท ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 คืนบัตรภาษีมูล่คา 86,188.83 บาท หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาเป็นเงินจำนวน 86,188.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2546 จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 คืนบัตรภาษีมูลค่า 23,610.78 บาท หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาเป็นเงินจำนวน 23,610.78 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2546 จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 คืนบัตรภาษีมูลค่า 89,301.46 หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาเป็นเงินจำนวน 89,301.46 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2546 จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 6 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 คืนบัตรภาษีมูลค่า 43,619.85 บาท หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาเป็นเงินจำนวน 43,619.85 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2546 จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งหกร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท
จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 อุทธรณ์โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลภาษีอากรกลางรับรองว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 มีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ตามคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 25 บัญญัติว่า “ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกินห้าหมื่นบาท ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เว้นแต่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลภาษีอากรได้ทำความเห็นแย้งไว้หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ หรือ…” ข้อเท็จจริงตามสำนวนปรากฏว่าในการอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลภาษีอากรกลางรับรองว่าคดีของจำเลยที่ 3 และที่ 4 มีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง และผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลภาษีอากรกลางรับรองว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 มีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ตามคำร้องของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ดังนี้ แม้คดีในส่วนของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จะมีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกินห้าหมื่นบาทก็ไม่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามที่ยกเว้นในบทกฎหมายดังกล่าว คำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ว่า จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ตามที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องและนำสืบพยานหลักฐานได้ความว่า จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าส่งออกต่อโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าส่งออก โดยจำเลยที่ 1 ได้ส่งออกสินค้าที่ผลิตในราชอาณาจักรจำหน่ายไปยังต่างประเทศผ่านทางด่านศุลกากรท่าเรือกรุงเทพตามใบขนสินค้าขาออกและเอกสารที่จำเลยที่ 1 ยื่นประกอบคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากร และจำเลยที่ 1 ขอโอนสิทธิรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 6 โจทก์ได้จ่ายเงินชดเชยค่าภาษีอากรดังกล่าวโดยออกบัตรภาษีให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 6 ตามคำขอของจำเลยที่ 1 แล้ว ต่อมาโจทก์พบว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ เอกสารที่จำเลยที่ 1 ยื่นประกอบคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรเป็นเอกสารเท็จและเอกสารปลอม จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรตามคำขอที่จำเลยที่ 1 ยื่นต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิขอโอนบัตรภาษีให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 6 จำเลยที่ 3 และที่ 6 ไม่มีสิทธิได้รับบัตรภาษีไปจากโจทก์ ดังนี้ ความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์เป็นเรื่องจำเลยที่ 1 จงใจทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายให้โจทก์เสียหายแก่ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด อันเป็นละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 6 ไม่ปรากฏว่ามีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการทำละเมิดต่อโจทก์ แต่เป็นกรณีที่โจทก์ออกบัตรภาษีให้จำเลยที่ 3 และที่ 6 โดยเชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากร และโจทก์มีหน้าที่ต้องออกบัตรภาษีให้ตามคำขอของจำเลยที่ 1 ตามกฎหมาย เมื่อความปรากฏภายหลังว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิเช่นว่านั้น การที่จำเลยที่ 3 และที่ 6 ได้รับบัตรภาษีไปจากโจทก์จึงเป็นการได้บัตรภาษีไปโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบจำเลยที่ 3 และที่ 6 ต้องรับผิดคืนบัตรภาษีแก่โจทก์ในมูลลาภมิควรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 ที่โจทก์แก้อุทธรณ์ว่า ในการรับโอนบัตรภาษีจำเลยที่ 3 และที่ 6 ได้ยื่นคำร้องขอรับโอนบัตรภาษีต่อโจทก์ระบุว่า “กรณีที่เกิดการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรและเกิดความเสียหายแก่กรมศุลกากร (โจทก์) ไม่ว่ากรณีใด ๆ ข้าพเจ้า (จำเลยที่ 3 และที่ 6) ยินยอมรับผิดต่อกรมศุลกากรทุกประการโดยไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ ทั้งสิ้น จำเลยที่ 3 และที่ 6 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามที่ได้ให้คำรับรองไว้นั้น เป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 3 และที่ 6 ได้แสดงเจตนายินยอมรับผิดต่อโจทก์ในกรณีที่เกิดการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ อันเป็นสิทธิเรียกร้องตามสัญญาและเป็นคนละข้อหากับความผิดฐานละเมิดและลาภมิควรได้ตามที่โจทก์ฟ้อง เมื่อโจทก์ไม่ได้แสดงสภาพแห่งข้อหานี้มาในคำฟ้อง จึงไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง แม้ศาลภาษีอากรกลางจะได้ยกความข้อนี้ขึ้นวินิจฉัยเป็นคุณแก่โจทก์ในประเด็นอำนาจฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะยกขึ้นเป็นประเด็นข้อต่อสู้ในคำแก้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่รับวินิจฉัย โดยที่บัตรภาษีออกให้แทนการคืนเงินชดเชยค่าภาษีอากรเป็นเงินสดเพื่อให้ผู้รับนำบัตรภาษีไปใช้แทนเงินสดในการชำระค่าภาษีอากรแก่โจทก์ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต หรือภาษีอากรอื่นตามมูลค่าของบัตรภาษีตามที่บัญญัติในพระราชบัญญัติชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักร พ.ศ.2524 มาตรา 4 และ 18 บัตรภาษีจึงถือได้ว่าเป็นเงินจำนวนหนึ่งและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 412 บัญญัติว่า “ถ้าทรัพย์สินซึ่งได้รับไว้เป็นลาภมิควรได้นั้นเป็นเงินจำนวนหนึ่ง ท่านว่าต้องคืนเต็มจำนวนนั้น เว้นแต่เมื่อบุคคลได้รับไว้โดยสุจริตจึงต้องคืนลาภมิควรได้เพียงส่วนที่ยังมีอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืน” เมื่อจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ต่างให้การต่อสู้คดีและนำสืบพยานอ้างว่า จำเลยที่ 3 และที่ 6 รับโอนบัตรภาษีโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนซึ่งโจทก์ไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานหักล้างให้รับฟังเป็นอย่างอื่น จึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 3 และที่ 6 ได้รับโอนบัตรภาษีโดยสุจริตและต้องคืนบัตรภาษีตามมูลค่าที่ยังมีอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืน เมื่อข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่โจทก์มิได้โต้แย้งรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 และที่ 6 นำบัตรภาษีที่ได้รับไปชำระค่าภาษีอากรแล้ว จำเลยที่ 3 และที่ 6 จึงไม่ต้องรับผิดคืนบัตรภาษีหรือใช้เงินตามมูลค่าบัตรภาษีให้แก่โจทก์ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ข้อนี้ฟังขึ้น สำหรับอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ไม่ทำให้ผลคดีของจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 เปลี่ยนแปลงไปจึงงดไม่วินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 โดยกำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์คนละ 600 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง