แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำร้ายร่างกายเขาได้รับอันตรายสาหัสถึงแท้งลูกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297(5) โจทก์จะยกเหตุอันตรายสาหัสเพราะป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาหรือประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20 วันตามมาตรา 297(8) มาอ้างในชั้นฎีกาไม่ได้ เพราะไม่ได้กล่าวไว้ในฟ้อง
การกระทำอันจะเป็นผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกทำร้ายได้รับอันตรายถึงสาหัสถึงแท้งลูกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297(5) นั้น จะต้องเป็นกรณีที่กระทำให้ลูกในครรภ์ของผู้ถูกทำร้ายคลอดออกมาในลักษณะที่ลูกนั้นไม่มีชีวิต ส่วนการคลอดก่อนกำหนดเวลาในลักษณะที่เด็กยังมีชีวิตอยู่ต่อมาอีก 8 วันแล้วจึงตาย ดังนี้ ไม่เป็นการทำให้ได้รับอันตรายสาหัสถึงแท้งลูกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297(5)
คดีที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าเบาไป และโจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษตามมาตรา 297 ถือได้ว่าโจทก์ฎีกาในทำนองที่ขอลงโทษจำเลยให้หนักขึ้น ดังนี้ ศาลฎีกามีอำนาจที่จะลงโทษจำเลยให้หนักกว่าที่ศาลอุทธรณ์กำหนดได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบด้วยมาตรา 225
(ตัดสินโดยมติที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 14/2510)
ย่อยาว
คดีดำที่ ๓๐๒๗/๒๕๐๗ และคดีดำที่ ๓๐๑๑/๒๕๐๗ ทั้งสองสำนวนนี้ ศาลสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาไปด้วยกัน ซึ่งโจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องร่วมกันทำร้ายร่างกายนางกี แซ่โค้ว ซึ่งตั้งครรภ์ได้ประมาณ ๗ เดือน โดยใช้มือเท้า ตบ ถีบ กระทืบ เป็นเหตุให้นางกีได้รับอันตรายสาหัสถึงแท้งลูก ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙๗, ๘๓, ๘๔
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า นางเอ็งจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๙๑ ให้จำคุก ๑ เดือน นายตงหยูจำเลยมีความผิดตามมาตรา ๒๙๗(๕) (๘), ๘๓, ๘๔ ให้จำคุก ๒ ปี
นายตงหยูจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงเช่นเดียวกันกับศาลชั้นต้นว่า นายตงหยูได้พูดจายุยงส่งเสริมให้นางเสียวทำร้ายร่างกายนางกี แต่เห็นว่าการแท้งลูกอันจะเป็นผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๗(๕) จะต้องเป็นการทำให้ลูกคลอดออกจากครรภ์มารดาก่อนกำหนดระยะเวลาในลักษณะที่ไม่มีชีวิต การคลอดก่อนกำหนดระยะเวลาในลักษณะที่มีชีวิต ดังเช่นนางกีผู้เสียหายคลอดบุตรก่อนกำหนดในคดีนี้ ยังไม่เป็นการแท้งลูกอันจะเป็นผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙๗(๕) และข้อที่อ้างว่านางกีได้รับการเจ็บป่วยประกอบด้วยอาการทุกขเวทนาจนประกอบกรณียกิจไม่ได้เกินกว่า ๒๐ วันนั้น ทางพิจารณาได้ความเพียงว่า นางก็ต้องรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ๒๘ วัน เมื่อกลับบ้าน ต้องไปหาหมออีก ๑๐ วัน การรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ๒๘ วัน ยังไม่เข้าลักษณะป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า ๒๐ วัน เพราะไม่ปรากฏอาการอย่างใดที่จะถือว่านางก็ได้รับการเจ็บป่วยด้วยทุกขเวทนาเกินกว่า ๒๐ วัน จึงเห็นว่าอาการป่วยเจ็บของนางก็ยังไม่เป็นอันตรายถึงสาหัส พิพากษาว่านางตงหยูจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙๕, ๘๔ ให้จำคุก ๖ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
พนักงานอัยการโจทก์ฝ่ายเดียวฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำร้ายร่างกายนางกีจนเป็นเหตุให้นางกีได้รับอันตรายสาหัสถึงแท้งลูกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๗(๕) เท่านั้น ไม่ได้กล่าวหาว่าจำเลยกับพวกได้ทำร้ายนางกีจนเป็นเหตุให้นางกีได้รับอันตรายแก่กาย โดยได้รับการป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า ๒๐ วัน ฉะนั้น โจทก์จะฎีกาว่านางกีได้รับบาดเจ็บสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙๗(๘) ไม่ได้ เป็นเรื่องนอกฟ้อง ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ ในเบื้องต้น คดีฟังข้อเท็จจริงได้ว่า ขณะเกิดเหตุ นางกีผู้เสียหายมีครรภ์ได้ประมาณ ๗ เดือนเศษ นางกีถูกกระทืบที่ท้องเมื่อเวลาประมาณ ๑๕ นาฬิกาเศษ ปรากฏว่าน้ำทูลหัวเด็กแตกก่อนนางกีจะไปถึงโรงพยาบาล นางกีไปถึงโรงพยาบาลเมื่อประมาณ ๑ ทุ่ม ครั้นเวลาประมาณ ๓ ทุ่ม นางกีก็คลอดลูก ลูกของนางกีอยู่ได้ ๘ วันก็ตายเนื่องจากโรคปอดบวม เมื่อฟังข้อเท็จจริงได้ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า การกระทำจะเป็นผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกทำร้ายได้รับอันตรายสาหัสถึงแท้งลูกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙๗(๕) นั้น จะต้องเป็นกรณีที่กระทำให้ลูกในครรภ์ของผู้ถูกทำร้ายคลอดออกมาในลักษณะที่ลูกนั้นไม่มีชีวิต ส่วนการคลอดก่อนกำหนดเวลาในลักษณะที่เด็กยังมีชีวิตอยู่ต่อมาอีก ๘ วันแล้วจึงตาย ดังกรณีของผู้เสียหายนี้ ไม่เป็นการทำให้ได้รับอันตรายสาหัสถึงแท้งลูกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙๗(๕) ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
แต่ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำของนายตงหยูร้ายแรงมาก สมควรลงโทษให้รู้สำนึกตัวและให้หลาบจำ ที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยให้จำคุกเพียง ๖ เดือนนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเบาไป และเนื่องจากคดีนี้โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษนายตงหยูจำเลยฐานทำให้นางกีได้รับอันตรายถึงสาหัส ถือได้ว่าโจทก์ได้ฎีกาในทำนองที่ขอให้ลงโทษจำเลยให้หนักขึ้น ฉะนั้น ศาลฎีกาจึงมีอำนาจที่จะลงโทษจำเลยให้หนักกว่าที่ศาลอุทธรณ์กำหนดได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒๑๒ ประกอบด้วยมาตรา ๒๒๕ จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นให้จำคุกนางตงหยูจำเลยมีกำหนด ๑ ปี ๖ เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.