คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6768/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 5 ได้รับค่าจ้างขับรถจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ครั้งแรก 25,000 บาท ครั้งที่สอง 50,000 บาท ค่าจ้างดังกล่าวเมื่อรวมกับค่าบัตรโดยสารเครื่องบินของจำเลยที่ 5 และที่ 6 อีกสองครั้งที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระให้แล้ว จึงเป็นค่าจ้างที่สูงกว่าปกติสำหรับการรับจ้างขับรถยนต์ตามปกติทั่วไป จำเลยที่ 5 ให้การในชั้นสอบสวนหลังถูกจับเพียง 1 วัน โดยมีทนายความร่วมฟังการสอบสวนและลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องด้วย น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 5 ให้การด้วยความสมัครใจตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น จึงใช้ยันจำเลยที่ 5 ในชั้นพิจารณาได้ ซึ่งเมื่อพิจารณาบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนดังกล่าวแล้ว ก็ปรากฏว่าสอดคล้องกับที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การในชั้นจับกุม ตามพฤติการณ์ของจำเลยที่ 5 ดังกล่าว เชื่อว่าจำเลยที่ 5 ทราบว่าภายในรถยนต์ ยี่ห้อซันยอง มีเมทแอมเฟตามีนของกลางซุกซ่อนอยู่ก่อนที่จะรับจ้าง ขณะจำเลยที่ 5 ขับรถจากจังหวัดสมุทรสาครไปอำเภอหาดใหญ่ จำเลยที่ 5 จึงเป็นผู้ครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลาง การกระทำของจำเลยที่ 5 กับพวกจึงเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ ถือว่าจำเลยที่ 5 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91 ริบเมทแอมเฟตามีน เฮโรอีน และไขควงของกลาง
จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยที่ 1 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม (2) (3) (ที่ถูก มาตรา 15 วรรคสาม (2) (3)), 66 วรรคสอง และวรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยที่ 3 และที่ 4 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม (2) (ที่ถูก มาตรา 15 วรรคสาม (2) ), 66 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 16 ปี และปรับคนละ 850,000 บาท จำเลยที่ 5 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม (2) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 จำคุกตลอดชีวิต และปรับ 5,000,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ คำให้การในชั้นสอบสวนและการนำสืบในชั้นพิจารณาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งสำหรับจำเลยที่ 1 และหนึ่งในสาม สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (2) (ที่ถูก 52 (1) ด้วย), 53 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย คงจำคุกตลอดชีวิตจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ฐานร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายคงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 8 ปี และปรับ 425,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 10 ปี 8 เดือน และปรับ 566,666.68 บาท และจำคุกจำเลยที่ 5 มีกำหนด 33 ปี 4 เดือน และปรับ 3,333,333.33 บาท สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อลงโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้ว จึงไม่อาจนำโทษจำคุกฐานอื่นมารวมได้ คงจำคุกตลอดชีวิตและปรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเงิน 425,000 บาท และ 566,666.68 บาท ตามลำดับ ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ได้ไม่เกิน 2 ปี ริบของกลาง ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 6
โจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า ฐานร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (3), 66 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำคุกคนละตลอดชีวิต และปรับคนละ 1,000,000 บาท ลดโทษให้จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง และจำเลยที่ 2 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 แล้ว คงลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 25 ปี และปรับ 500,000 บาท และจำเลยที่ 2 จำคุก 33 ปี 4 เดือน และปรับ 666,666.66 บาท เมื่อรวมกับโทษจำคุกตลอดชีวิตและโทษปรับของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตลอดชีวิต และปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 500,000 บาท ปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 666,666.66 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) จำเลยที่ 5 มีความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้ลงโทษประหารชีวิต ลดโทษให้จำเลยที่ 5 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) จำคุกจำเลยที่ 5 ตลอดชีวิต ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังจำเลยที่ 1 และที่ 2 เกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 5 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 เป็นภริยาคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 5 เป็นสามีจำเลยที่ 6 วันที่ 3 พฤษภาคม 2555 จำเลยที่ 1 และที่ 2 จ้างจำเลยที่ 5 ขับรถยนต์ ยี่ห้อซันยอง หมายเลขทะเบียน สท 4853 กรุงเทพมหานคร จากอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ไปไว้ที่จังหวัดสมุทรสาคร มีจำเลยที่ 6 เดินทางไปด้วย แล้วจำเลยที่ 5 และที่ 6 เดินทางกลับทางเครื่องบิน วันที่ 10 พฤษภาคม 2555 จำเลยที่ 1 และที่ 2 จ้างจำเลยที่ 5 ไปขับรถยนต์คันดังกล่าวที่จังหวัดสมุทรสาครเพื่อกลับมาที่อำเภอหาดใหญ่ โดยจำเลยที่ 1 ขับรถกระบะ ยี่ห้อมิตซูบิชิ หมายเลขทะเบียน ญฬ 1083 กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 5 ไปส่งจำเลยที่ 5 และที่ 6 ที่สนามบิน เสร็จแล้วจำเลยที่ 1 ขับรถกระบะของจำเลยที่ 5 มาจอดที่บ้านเกิดเหตุเลขที่ 426 ตำบลน้ำน้อย อำเภอหาดใหญ่ ค่าเครื่องบินทั้งสองครั้งจำเลยที่ 1 ออกให้ ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถกระบะของจำเลยที่ 5 มีจำเลยที่ 2 นั่งมาด้วย มาพบจำเลยที่ 5 ที่โรงแรมวินสตาร์ แลกเปลี่ยนกุญแจรถกัน โดยจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันที่จำเลยที่ 5 ขับมาจากจังหวัดสมุทรสาครเข้าไปจอดที่บ้านเกิดเหตุ นายวัฒนา หัวหน้าชุดปราบปรามยาเสพติดกรุงเทพมหานคร และพันตำรวจโท กฤษดา กับพวก เข้าจับกุมจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จากการตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีน 23 แท่ง และไขควงที่ช่องเก็บของท้ายรถยนต์ ยี่ห้อซันยอง และเมทแอมเฟตามีน 3 แท่ง ที่รถยนต์ ยี่ห้อโปรตอน กับเฮโรอีน 1 ถุง ที่โต๊ะเครื่องแป้งภายในห้องนอนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ส่วนร้อยตำรวจตรี พล กับพวก จับกุมจำเลยที่ 5 และที่ 6 ขณะอยู่ในห้องพักในโรงแรมวินสตาร์ จากการตรวจพิสูจน์เมทแอมเฟตามีนของกลาง น้ำหนัก 25,978.150 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 23,694.671 กรัม และเฮโรอีนของกลาง น้ำหนัก 22.430 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 20.427 กรัม ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 มีความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และยกฟ้องจำเลยที่ 6 โจทก์และจำเลยดังกล่าวไม่ฎีกา คดีเป็นที่สุดแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 5 ว่า จำเลยที่ 5 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 กระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ โดยจำเลยที่ 5 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 จ้างจำเลยที่ 5 ขับรถยนต์ ยี่ห้อซันยอง ไปไว้ที่จังหวัดสมุทรสาคร และขับรถกลับจากจังหวัดสมุทรสาครมายังอำเภอหาดใหญ่ ค่าจ้างทั้งสองครั้งรวมเป็นเงิน 50,000 บาท ไม่ใช่ 75,000 บาท จึงไม่ใช่ค่าจ้างที่มากผิดปกติ และจำเลยที่ 5 ไม่ทราบว่ามีเมทแอมเฟตามีนของกลางซุกซ่อนอยู่ในรถยนต์คันดังกล่าว ขณะถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 5 ไม่ได้ตกใจ ทั้งโจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นว่าจำเลยที่ 5 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 5 จึงไม่ได้เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 โจทก์มีนายวัฒนา พันตำรวจโท กฤษดาและร้อยตำรวจตรี พลเบิกความเป็นพยานได้ความทำนองเดียวกันว่า หลังจากจับกุมจำเลยที่ 5 และที่ 6 แล้ว ร้อยตำรวจตรี พลพาจำเลยที่ 5 และที่ 6 ไปที่บ้านเกิดเหตุ ชั้นจับกุมพันตำรวจโท กฤษดาแจ้งข้อหาแก่จำเลยทั้งหกว่า ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และยังแจ้งข้อหาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า ร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพว่า ได้จ้างจำเลยที่ 5 เป็นเงิน 50,000 บาท ให้ขับรถยนต์ ยี่ห้อซันยอง ซึ่งมีเมทแอมเฟตามีนของกลางซุกซ่อนอยู่จากจังหวัดสมุทรสาคร มาส่งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่อำเภอหาดใหญ่ แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับรถยนต์คันดังกล่าวจากจำเลยที่ 5 ขับไปที่บ้านเกิดเหตุเพื่อนำเมทแอมเฟตามีนของกลางออกจากไฟท้ายรถทั้งสองข้างมาตรวจนับเพื่อลำเลียงไปที่ประเทศมาเลเซีย แต่ถูกจับกุมเสียก่อน ส่วนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ให้การปฏิเสธ โดยจำเลยที่ 5 ให้การว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 จ้างจำเลยที่ 5 ขับรถยนต์ ยี่ห้อซันยอง ไปส่งให้พวกของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่จังหวัดสมุทรสาคร ได้รับค่าจ้าง 25,000 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 จ้างให้ไปรับรถยนต์คันดังกล่าวจากพวกของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่จังหวัดสมุทรสาคร และขับมาส่งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่โรงแรมวินสตาร์ อำเภอหาดใหญ่ ได้รับค่าจ้าง 50,000 บาท แต่ไม่ทราบว่ามีเมทแอมเฟตามีนซุกซ่อนอยู่ในรถยนต์ตามบันทึกการตรวจค้น/จับกุม และโจทก์มีพันตำรวจโท ธานินทร์ พนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความว่า ในชั้นสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยทั้งหกเช่นเดียวกับในชั้นจับกุม โดยมีสิบตำรวจเอก มะรอนิง เป็นล่ามให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่ปฏิเสธข้อหาร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ให้การปฏิเสธตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา เห็นว่า นอกจากโจทก์จะมีนายวัฒนาและพันตำรวจโท กฤษดาเบิกความยืนยันว่า ในชั้นจับกุมจำเลยที่ 5 ให้การว่า ได้รับการว่าจ้างจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ขับรถยนต์ ยี่ห้อซันยอง ไปส่งให้พวกของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่จังหวัดสมุทรสาคร ได้รับค่าจ้าง 25,000 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าจ้างให้เดินทางไปรับรถยนต์คันดังกล่าวจากพวกของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่จังหวัดสมุทรสาคร และขับมาส่งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่โรงแรมวินสตาร์ ได้รับค่าจ้าง 50,000 บาท แล้ว โจทก์ยังมีคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 5 มาแสดงว่าเมื่อพันตำรวจโท ธานินทร์แจ้งข้อหาว่าร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยที่ 5 ให้การปฏิเสธ และให้รายละเอียดว่าจำเลยที่ 2 ติดต่อให้จำเลยที่ 5 ขับรถยนต์ ยี่ห้อซันยอง ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปซ่อมที่จังหวัดสมุทรสาคร ได้รับค่าจ้างจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเงิน 25,000 บาท และจำเลยที่ 2 ติดต่อให้จำเลยที่ 5 ไปรับรถยนต์คันดังกล่าวที่จังหวัดสมุทรสาครมาส่งให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่อำเภอหาดใหญ่ ได้รับค่าจ้างจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเงิน 50,000 บาท มีจำเลยที่ 6 ไปด้วยทั้งสองครั้ง โดยโจทก์มีพันตำรวจโท ธานินทร์มาเบิกความประกอบยืนยันว่าจำเลยที่ 5 ให้การในชั้นสอบสวนตามบันทึกคำให้การดังกล่าว สำหรับคำให้การในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 5 ให้การหลังถูกจับเพียง 1 วัน ยังมิได้มีโอกาสคิดเสริมแต่งเรื่องให้ผิดไปจากความเป็นจริงเพื่อประโยชน์แก่การต่อสู้คดีของตน และยังมีนายนครินทร์ ทนายความร่วมฟังการสอบสวนและลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องด้วย กรณีไม่มีเหตุผลที่พนักงานสอบสวนจะบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนผิดไปจากที่จำเลยที่ 5 เต็มใจให้การ น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 5 ให้การด้วยความสมัครใจตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น จึงใช้ยันจำเลยที่ 5 ในชั้นพิจารณาได้ ซึ่งเมื่อพิจารณาบันทึกคำให้การดังกล่าวแล้ว ก็ปรากฏว่าสอดคล้องกับที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การในชั้นจับกุม สำหรับคำให้การในชั้นจับกุม แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคท้าย ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 จะห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน แต่กฎหมายห้ามมิให้รับฟังเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับเท่านั้น มิได้ห้ามรับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ร่วมกระทำความผิดคนอื่น ศาลสามารถนำมารับฟังประกอบกับพยานหลักฐานอื่นของโจทก์เพื่อลงโทษจำเลยที่ 5 ได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายห้ามรับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประกอบกับพยานโจทก์ดังกล่าวเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติภารกิจไปตามอำนาจหน้าที่ และไม่ปรากฏว่าเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 5 มาก่อน จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะสมคบกันเบิกความหรือสร้างพยานหลักฐานอันเป็นเท็จขึ้นเพื่อปรักปรำจำเลยที่ 5 ให้ต้องรับโทษ พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ ส่วนที่จำเลยที่ 5 นำสืบอ้างว่า จำเลยที่ 5 ไม่รู้ว่ามีเมทแอมเฟตามีนของกลางซุกซ่อนอยู่ในรถยนต์ ยี่ห้อซันยอง ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพียงแต่จำเลยที่ 5 รับจ้างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปซ่อมที่จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อซ่อมเสร็จแล้วจำเลยที่ 5 ก็ไปรับรถยนต์ขับกลับมาส่งมอบให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่โรงแรมวินสตาร์ ก็ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง เพราะนอกจากจะขัดกับคำให้การในชั้นสอบสวนที่จำเลยที่ 5 ไม่ได้โต้แย้งความถูกต้องแล้ว ยังขัดกับคำให้การในชั้นจับกุมของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 5 ได้รับค่าจ้างขับรถจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ครั้งแรก 25,000 บาท ครั้งที่สอง 50,000 บาท ค่าจ้างดังกล่าวเมื่อรวมกับค่าบัตรโดยสารเครื่องบินของจำเลยที่ 5 และที่ 6 อีกสองครั้งที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระให้แล้ว จึงเป็นค่าจ้างที่สูงกว่าปกติสำหรับการรับจ้างขับรถยนต์ตามปกติทั่วไป ตามพฤติการณ์ของจำเลยที่ 5 ดังกล่าว เชื่อว่าจำเลยที่ 5 ทราบว่าภายในรถยนต์ ยี่ห้อซันยอง มีเมทแอมเฟตามีนของกลางซุกซ่อนอยู่ก่อนที่จะรับจ้าง ขณะจำเลยที่ 5 ขับรถจากจังหวัดสมุทรสาครไปอำเภอหาดใหญ่ จำเลยที่ 5 จึงเป็นผู้ครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลาง การกระทำของจำเลยที่ 5 กับพวกจึงเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ ถือว่าจำเลยที่ 5 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 5 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share