แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ยื่นคำร้องซึ่งเป็นเพียงแสดงให้ปรากฏต่อศาลชั้นต้นว่าหากศาลเห็นเป็นการสมควรหรือจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมก็ขอให้เรียกจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 เข้ามาเป็นจำเลย ศาลชั้นต้นจึงใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3) ข เรียกเข้ามา กรณีดังนี้ไม่อยู่ในบังคับว่าคำร้องดังกล่าวจะต้องยื่นพร้อมกับคำฟ้องเพื่อหมายเรียกตามมาตรา 57(3)
ผัวเมียที่แต่งงานกันก่อนวันใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 ทรัพย์สินซึ่งแม้จะเป็นเครื่องประดับใช้สำหรับแต่งตัวที่ผัวหรือเมียมีอยู่ก่อนแต่งงานที่มีราคาย่อมนำไปใช้เป็นทุนสำหรับประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพเกิดผลประโยชน์ได้ จึงเป็นสินเดิมของฝ่ายนั้น จะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 มาใช้บังคับไม่ได้จึงอ้างว่าเป็นของใช้ประจำตัวพอเหมาะสมกับฐานะของผัวหรือเมียผู้มีทรัพย์สินนั้นและถือว่าเป็นสินส่วนตัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1464(2) หาได้ไม่ ต้องถือว่ามีสินเดิม
บิดาครอบครองมรดกของมารดาแทนบุตรผู้เยาว์ แล้วบิดาแบ่งขายที่ดินมรดกไปบางส่วน ดังนี้ไม่เป็นพฤติการณ์ที่ถือว่าบิดาได้บอกกล่าวเปลี่ยนเจตนาแห่งการยึดถือทรัพย์ว่าจะไม่ยึดถือทรัพย์แทนบุตรต่อไปอันจะทำให้คดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754
ทรัพย์มรดกย่อมตกทอดแก่ทายาททันทีเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายจำเลยที่ 1 เอามรดกของ ย. ภริยาเดิมส่วนที่ตกได้แก่บุตรซึ่งเป็นทายาทของ ย. ไปจดทะเบียนยกให้จำเลยที่ 2,3,4 บุตรซึ่งเกิดจากภรรยาคนใหม่โดยไม่มีสิทธิหรืออำนาจที่จะทำได้ตามกฎหมายพนักงานอัยการเพื่อประโยชน์แก่บุตรของ ย. ฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนเสียได้ กรณีไม่ใช่เรื่องจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์เป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน
ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 แบ่งที่ดินพร้อมด้วยส่วนควบให้ทายาทของ ย. คนละ 1 ใน 30 ส่วน หากแบ่งไม่ได้ให้ประมูลระหว่างกันเองถ้าไม่ตกลงกันให้เอาออกขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งกันตามส่วนโดยไม่กำหนดจำนวนเงินขึ้นสูงที่โจทก์ตีราคามาในฟ้อง ดังนี้เป็นการพิพากษาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 ซึ่งการที่ศาลไม่กำหนดจำนวนเงินตามที่ระบุในคำขอท้ายฟ้องก็เพราะราคาที่กล่าวในฟ้องเป็นเพียงการกำหนดราคาเพื่อคิดค่าธรรมเนียมศาล หาใช่ราคาที่ดินที่ขายทอดตลาดได้ไม่จึงไม่เป็นการพิพากษานอกคำขอหรือไม่ชอบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อ พ.ศ. 2461 จำเลยที่ 1 สมรสกับนางยุก โดยนางยุกมีสินเดิมเป็นเครื่องเพชรและทองรูปพรรณราคา 2,000 บาท จำเลยที่ 1 กับนางยุกมีบุตร 5 คน คือนางมาลินีและน้องอีก 4 คน ปี พ.ศ. 2464 จำเลยที่ 1กับนางยุกซื้อที่ดินโฉนดที่ 843 อำเภอยานนาวา และใน พ.ศ. 2473 นางยุกตายโดยมิได้ทำพินัยกรรม จำเลยที่ 1 และนางมาลินีกับน้องครอบครองที่ดินมรดกตลอดมา พ.ศ. 2477 จำเลยที่ 1 สมรสกับนางกีเกียว และต่อมามีบุตรด้วยกัน 6 คน ซึ่งได้แก่จำเลยที่ 2, ที่ 3, ที่ 4 (ซึ่งศาลชั้นต้นเรียกเข้ามาเป็นจำเลยร่วม) และน้องอีก 3 คน ในปี พ.ศ. 2477 จำเลยที่ 1 และนางมาลินีกับน้องเห็นชอบให้ผู้มีชื่อเช่าที่ดินดังกล่าวปลูกบ้าน 2 หลัง ให้กรรมสิทธิ์ตกเป็นของเจ้าของที่ดินและ พ.ศ. 2503 ให้ผู้มีชื่อปลูกตึกแถว 20 คูหาครึ่งให้ตึกแถวตกเป็นของเจ้าของที่ดิน ต่อมา พ.ศ. 2509 จำเลยที่ 1 ขายที่ดินดังกล่าวเฉพาะส่วนเนื้อที่ 50 ตารางวาเป็นเงิน 320,000 บาท โดยรับเงินไว้แต่ผู้เดียว ครั้น พ.ศ. 2510 จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมยกที่ดินที่เหลือให้จำเลยที่ 2, ที่ 3, ที่ 4 โดยไม่มีสิทธิที่จะทำได้ ที่ดินดังกล่าวรวมทั้งบ้าน 2 หลังและตึกแถว 20 คูหาครึ่ง ราคารวมกัน 2,708,000 บาท เป็นทรัพย์มรดกของนางยุกครึ่งหนึ่งเป็นเงิน 1,354,000 บาท ซึ่งนางมาลินีกับน้องมีสิทธิได้รับคนละ 1 ใน 6 ส่วน เป็นเงินคนละ 225,666 บาท ขอให้ศาลบังคับเพิกถอนนิติกรรมสัญญาให้ดังกล่าวให้จำเลยแบ่งเงินค่าขายที่ดิน 50 ตารางวาให้นางมาลินีกับน้องรวม 5 คนเป็นเงินคนละ 26,666 บาท แบ่งที่ดินให้คนละ78.08 ตารางวา ราคาที่ดินคนละ 117,120 บาท แบ่งตึกแถวและเรือนไม้คนละ1 ใน 6 ส่วนของกึ่งจำนวนสิ่งปลูกสร้างเป็นเงินคนละ 81,875 บาท รวมเป็นเงินคนละ 198,995 บาท ถ้าไม่สามารถแบ่งได้ก็ขอให้สั่งขายและแบ่งเงินให้คนละ1 ใน 6 ส่วนของกึ่งจำนวนที่ขายได้ คือแบ่งให้คนละ 225,666 บาท
จำเลยทั้ง 4 ให้การว่า นางยุกไม่มีสินเดิม จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินโฉนดที่ 823ตามฟ้องโดยเอาสินเดิมของจำเลยที่ 1 ซื้อ ที่ดินจึงเป็นสินเดิมของจำเลยที่ 1เรือนไม้และตึกแถวได้มาภายหลังนางยุกตาย นางมาลินีกับพวกไม่มีสิทธิขอแบ่ง จำเลยที่ 1 สมรสกับนางยุกก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 นางยุกจึงไม่มีสิทธิแบ่งสินสมรส และถึงแม้นางยุกจะมีสินเดิมนางยุกก็มีส่วนในสินสมรสเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น การแบ่งมรดกต้องแบ่งตามกฎหมายลักษณะมรดกและพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมลักษณะมรดก ร.ศ.121 ซึ่งทรัพย์สินส่วนสมรสเป็นของสามีทั้งสิ้น หากนางมาลินีมีสิทธิแบ่งสินสมรส 1 ใน 3 ก็ต้องแบ่งมรดกของนางยุกออกเป็น 2 ภาค คือจำเลยได้กึ่งหนึ่ง อีกกึ่งหนึ่งจึงให้นางมาลินีกับพวก คือแต่ละคนได้ 1 ใน 30 ของที่ดินจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินอย่างเจ้าของมาเกิน 10 ปี จึงได้กรรมสิทธิ์ และคดีขาดอายุความมรดก ตามฟ้องไม่มีมูลที่ศาลจะเรียกจำเลยที่ 2, ที่ 3, ที่ 4 เข้ามาเป็นจำเลยร่วม โจทก์ยื่นคำร้องให้เรียกหลังฟ้องขัดกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3) ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนสัญญาให้ที่ดินโฉนดที่ 823 ให้กรรมสิทธิ์กลับมาเป็นของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 แบ่งที่ดินพร้อมด้วยเรือนไม้และตึกแถวให้แก่นางมาลินีและน้องอีก 4 คน คนละ 1 ใน 30 ส่วน หากแบ่งไม่ได้ให้ประมูลระหว่างกันเอง ถ้าไม่ตกลงกันให้เอาออกขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งกันตามส่วนโดยไม่กำหนดจำนวนเงินขึ้นสูงที่ตีราคามาในฟ้อง และให้จำเลยที่ 1 แบ่งเงินค่าขายที่ดิน 320,000 บาท ให้บุคคลดังกล่าวคนละ 1 ใน 30 ส่วน
โจทก์และจำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2, ที่ 3, ที่ 4 ฎีกาข้อแรกว่า โจทก์เรียกจำเลยที่ 2, 3, 4 เข้ามาเป็นจำเลยร่วม และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3) เพราะไม่กระทำพร้อมกับคำฟ้องหรือคำให้การ ปรากฏตามคำร้องของโจทก์ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2510ว่า หากศาลเห็นเป็นการสมควรหรือจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมก็ขอให้เรียกนายศุภชัย ชินอมรพงษ์ นางสาวประไพพิศ ชินอมรพงษ์ และนายประสาน ชินอมรพงษ์ เข้ามาเป็นจำเลยร่วมในคดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมให้เรียกบุคคลดังกล่าวเข้ามาเป็นจำเลยที่ 2, 3, 4 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3) ข. ศาลฎีกาเห็นว่า คำร้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นเพียงแสดงให้ปรากฏต่อศาลชั้นต้นว่าหากศาลชั้นต้นเห็นเป็นการสมควรหรือจำเป็นก็ให้เรียกจำเลยที่ 2, 3, 4 เข้ามาเป็นจำเลย ซึ่งศาลชั้นต้นได้ใช้อำนาจที่มีอยู่ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเรียกจำเลยที่ 2, 3, 4 เข้ามาเป็นจำเลย กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับว่าคำร้องของโจทก์ดังกล่าวจะต้องยื่นพร้อมกับคำฟ้องเพื่อให้หมายเรียกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3)
จำเลยฎีกาข้อที่ 2 ว่า ก่อนนางยุกแต่งงานกับจำเลยที่ 1 นางยุกมีแต่ทรัพย์สินติดตัวมาคือ เข็มขัดทอง เข็มขัดนาก ตุ้มหูราคาประมาณ 2,000 บาททรัพย์สินของนางยุกดังกล่าวเป็นของใช้ประจำตัวพอเหมาะสมกับฐานะของนางยุกจึงเป็นสินส่วนตัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1464(2)นางยุกจึงไม่มีสินเดิม ไม่มีสิทธิได้แบ่งสินสมรส เห็นว่านางยุกแต่งงานกับจำเลยที่ 1 ก่อนวันใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 จะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ดังจำเลยอ้างในฎีกามาใช้บังคับไม่ได้ ทรัพย์สินแม้จะเป็นเครื่องประดับใช้สำหรับแต่งตัวที่ผัวหรือเมียฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนแต่งงานที่มีราคา ย่อมนำไปใช้เป็นทุนสำหรับประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพเกิดผลประโยชน์ได้ จึงเป็นสินเดิมของฝ่ายนั้นเครื่องประดับของนางยุกดังกล่าวมีอยู่ก่อนแต่งงานกับจำเลยที่ 1 มีราคาประมาณ 2,000 บาท ซึ่งนับว่ามีราคามากขณะนั้น นางยุกจึงมีสินเดิมมีสิทธิได้ส่วนแบ่งสินสมรสบุตรนางยุกมีสิทธิฟ้องแบ่งมรดกนางยุกได้
จำเลยฎีกาข้อที่ 3 ว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความมรดก 1 ปี และขาดอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754แล้วเห็นว่าที่ศาลล่างฟังว่า จำเลยที่ 1 ครอบครองมรดกส่วนของนางยุกแทนบุตรผู้เยาว์ที่เกิดกับนางยุกนั้น ศาลล่างวินิจฉัยไว้ชอบแล้ว ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยที่ 1 เปลี่ยนเจตนาการครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทแล้วเช่น จำเลยที่ 1 แบ่งขายที่ดินมรดกไป 50 ตารางวา นางมาลินีบุตรคนโตยืมเงินบางส่วนที่ขายที่ดินมรดกได้ แล้วเอาไปใช้คืนแสดงว่า นางมาลินีทราบดีแล้วว่าไม่ใช่เงินของตนนั้น เห็นว่าที่จำเลยที่ 1 แบ่งขายที่ดินมรดกไป 50 ตารางวา ไม่เป็นพฤติการณ์ที่ถือว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบิดาได้บอกกล่าวเปลี่ยนเจตนาแห่งการยึดถือทรัพย์ว่าจะไม่ยึดถือทรัพย์แทนบุตรของตนต่อไปไม่เป็นเหตุสมควรที่บุตรหรือบิดาจะคาดคิดไปถึงการเช่นนั้นการแบ่งขายที่ดินมรดกน่าเชื่อตามที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 1 ได้ปรึกษาตกลงกับบุตรนางยุกทุกคนว่าขายแล้วจะเอาเงินไว้เป็นกองกลาง เห็นได้จากการที่นางมาลินีเอาเงินส่วนหนึ่งที่ขายที่ดินมรดกจำนวนสองแสนบาทไปใช้ก่อนแล้วเอามาใช้คืน การเอาเงินมาใช้คืนมีเหตุผลน่าเชื่อว่าเอามาใช้คืนไว้เป็นส่วนรวมดังเดิม
จำเลยฎีกาข้อที่ 4 ว่า จำเลยที่ 2, 3, 4 ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 823 โดยจดทะเบียนสิทธิถูกต้อง โจทก์จะฟ้องให้เพิกถอนการจดทะเบียนได้ก็ต่อเมื่อนายปรีชากับพวก (บุตรนางยุก) อยู่ในฐานะจะจดทะเบียนสิทธิในที่ดินได้ดีกว่าจำเลย แต่ไม่ปรากฏว่านายปรีชากับพวกอยู่ในฐานะเช่นนั้น เห็นว่ากรณีตามคดีนี้เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ทายาทตามกฎหมาย ซึ่งทรัพย์มรดกย่อมตกทอดแก่ทายาททันทีเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เอามรดกส่วนที่ตกได้แก่ทายาทของนางยุกไปจดทะเบียนยกให้จำเลยที่ 2, 3, 4 โดยไม่มีสิทธิหรืออำนาจที่จะกระทำได้ตามกฎหมาย โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องให้เพิกถอนการโอนเสียได้ กรณีไม่ใช่เรื่องจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์เป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนดังจำเลยฎีกา
จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่า ให้จำเลยที่ 1 แบ่งที่ดินพร้อมกับส่วนควบ ถ้าตกลงแบ่งกันไม่ได้ก็ให้เอาขายทอดตลาดเอาเงินมาแบ่งกันโดยไม่กำหนดจำนวนเงินตามที่ระบุในคำขอท้ายฟ้อง เป็นการพิพากษานอกคำขอไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณานั้นเห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาดังกล่าวนั้นเป็นการพิพากษาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 การที่ศาลล่างไม่กำหนดจำนวนเงินตามที่ระบุในคำขอท้ายฟ้อง เพราะราคาที่ดินที่กล่าวในฟ้องและคำขอท้ายฟ้องเป็นเพียงการกำหนดราคาเพื่อคิดค่าธรรมเนียมศาล หาใช่ราคาที่ดินที่ขายทอดตลาดได้ไม่ จึงไม่เป็นการนอกคำขอหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาอย่างไร
โดยสรุปเห็นว่าศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีชอบแล้ว ฎีกาจำเลยทั้ง 4ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน