แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
นาพิพาทเป็นสินสมรสระหว่าง ก. กับ ม.. เมื่อ ก.กับ ม. มีชีวิตอยู่ ให้โจทก์จำเลยอาศัยทำกิน ดังนี้ เมื่อ ก. ตาย นาพิพาทส่วนที่เป็นของ ก. ย่อมเป็นมรดกตกได้แก่โจทก์ซึ่งเป็นบุตรทันที โจทก์จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในนาพิพาทตามส่วนที่ตนจะได้รับมรดกตามกฎหมาย โดยไม่จำต้องมีการแสดงเจตนาเปลี่ยนแปลงลักษณะการยึดถือ และภายหลังที่ ก. ตายโจทก์ยังคงทำนาพิพาทอยู่ตามเดิม จึงเป็นกรณีทายาทครอบครองทรัพย์มรดกร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1748 แม้โจทก์จะฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่ ก. เจ้ามรดกตาย คดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ
โจทก์ฟ้องเรียกเอากรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่เป็นของโจทก์แต่ถูกจำเลยยื้อแย่งไปเอากลับคืนมา แม้จะต้องมีการเพิกถอนการโอนยกให้ระหว่าง ม. กับจำเลย เพราะ ม.ไม่มีสิทธิเอานาพิพาทส่วนที่เป็นของโจทก์ไปโอนให้ก็ตาม แต่กรณีก็ไม่ใช่เรื่องเพิกถอนการฉ้อฉลจะนำเอาอายุความ 1 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240มาใช้บังคับไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการยกให้และแบ่งที่พิพาทให้โจทก์ ฯลฯ
จำเลยให้การต่อสู้คดี และว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองแบ่งนาพิพาทให้แก่โจทก์คนละ ๒ ใน ๑๕ ส่วน ฯลฯ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า นาพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างนายกิ่งนางเม้า เมื่อนายกิ่งนางเม้ายังมีชีวิตอยู่ ให้โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ ๑ กับนางสาหร่ายอาศัยทำกินครั้นนายกิ่งตาย นาพิพาทส่วนที่เป็นของนายกิ่งย่อมเป็นมรดกตกได้แก่ทายาททันที โจทก์ทั้งสองเป็นบุตร มีสิทธิจะได้รับมรดก จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในนาพิพาทตามส่วนที่ตนจะได้รับมรดกตามกฎหมาย โดยไม่จำต้องมีการแสดงเจตนาเปลี่ยนแปลงลักษณะการยึดถือดังที่จำเลยฎีกาและภายหลังที่นายกิ่งตายแล้ว โจทก์ทั้งสองก็ยังคงทำนาพิพาทอยู่ตามเดิม จึงเป็นกรณีทายาทครอบครองทรัพย์มรดกร่วมกันมาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา๑๗๔๘ แม้โจทก์จะฟ้องเมื่อพ้นกำหนด ๑ ปี นับแต่นายกิ่งเจ้ามรดกตายคดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความมรดก
คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเอากรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่เป็นของโจทก์แต่ถูกจำเลยยื้อแย่งไปเอากลับคืนมา แม้จะต้องมีการเพิกถอนการโอนยกให้ระหว่างนางเม้ากับจำเลยทั้งสอง เพราะนางเม้าไม่มีสิทธิเอานาพิพาทส่วนที่เป็นของโจทก์ทั้งสองไปโอนให้ก็ตาม แต่กรณีก็ไม่ใช่เรื่องเพิกถอนการฉ้อฉล ฉะนั้น จะนำอายุความ ๑ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๔๐ มาใช้บังคับแก่คดีนี้ดังที่จำเลยฎีกาไม่ได้
พิพากษายืน