แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้เหตุผิดนัดผิดสัญญาทำให้เจ้าหนี้มีสิทธิรับชำระเงินค่าปรับเป็นรายวันจากลูกหนี้ซึ่งมีมาก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดก็ตาม แต่ตามสัญญาได้กำหนดให้ลูกหนี้ผู้ผิดนัดผิดสัญญาต้องเสียค่าปรับแก้เจ้าหนี้เป็นรายวันทุกวันที่ยังผิดนัดผิดสัญญาอยู่ มูลหนี้ในเงินค่าปรับจึงเกิดขึ้นเป็นรายวันดังนี้ มูลหนี้ในเงินค่าปรับเป็นรายวันตามสัญญาส่วนที่เกิดขึ้นภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94
ตามสัญญาก่อสร้างระบุว่า ถ้าผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาแล้ว ผู้รับจ้างยอมให้ผู้ว่าจ้างเรียกเอาค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นเพราะจ้างบุคคลอื่นทำงานต่อไปจนงานแล้วเสร็จบริบูรณ์เห็นได้ว่า การที่เจ้าหนี้จะมีสิทธิเรียกเอาค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นเพราะจ้างบุคคลอื่นทำการที่ว่าจ้างได้ เจ้าหนี้จะต้องใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาก่อน เมื่อเจ้าหนี้เพิ่งบอกเลิกสัญญาภายหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว มูลหนี้ในเงินค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจึงเกิดขึ้นภายหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเป็นหนี้ที่ต้องห้ามมิให้เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 94
เมื่อปรากฏว่าธนาคารได้ชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันแก่เจ้าหนี้แล้ว สิทธิของเจ้าหนี้ที่จะได้รับชำระหนี้เงินค่าปรับเป็นรายวันจึงต้องลดลงตามจำนวนเงินที่เจ้าหนี้ได้รับชำระจากธนาคารผู้ค้ำประกัน ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)ประกอบมาตรา 246 มาตรา 247 และพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 153
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) ไว้เด็ดขาดแล้วเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2536 กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานซึ่งเดิมมีชื่อว่าสำนักงานพลังงานแห่งชาติเจ้าหนี้มอบอำนาจให้นายเจษฎา อ้อมทอง หรือนายเสรีสมจิตต์ ยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าเสียหายจำนวน 6,430,667.33 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 104 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้ว เห็นควรให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้เสียทั้งสิ้นตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 107(1)
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษาแก้เป็นว่า อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เป็นเงิน 4,678,830 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 107(3) ประกอบด้วยมาตรา 130(8) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยเจ้าหนี้และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านว่า เมื่อวันที่30 กันยายน 2530 เจ้าหนี้ตกลงว่าจ้างให้ลูกหนี้ทำการก่อสร้างคลองส่งน้ำดาดคอนกรีตความยาว 3,000 เมตร ท่อส่งน้ำถึงบ่อพักน้ำยาว 115 เมตร บ้านพักพนักงานสูบน้ำ1 หลัง อาคารควบคุมระบบไฟฟ้าและโรงเก็บพัสดุ 1 หลัง รั้วลวดหนามพร้อมประตูตาข่ายและป้ายชื่อสถานี ฐานรองรับและท่อส่งน้ำ ณ สถานีสูบน้ำบ้านบางหว้า อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช รวมเป็นเงิน 3,626,100 บาท กำหนดแล้วเสร็จภายใน250 วัน ลูกหนี้ได้รับการต่ออายุสัญญา 3 ครั้ง เป็นเวลา 510 วัน ครบกำหนดส่งมอบงานในวันที่ 28 ตุลาคม 2532 แต่ลูกหนี้ทำการก่อสร้างตามสัญญาไม่แล้วเสร็จบริบูรณ์และไม่สามารถส่งมอบงานในวันที่ครบกำหนดดังกล่าว ลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดสัญญา ต่อมาเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2536 ลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ครั้นวันที่ 23 ธันวาคม2536 เจ้าหนี้ขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปฏิบัติตามสัญญาเข้าทำการก่อสร้างคลองส่งน้ำให้แล้วเสร็จตามสัญญาภายใน 15 วัน แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปฏิเสธไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญาก่อสร้างตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 122 จนกระทั่งวันที่ 31 มกราคม 2537 เจ้าหนี้จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาก่อสร้างแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ในการที่ลูกหนี้ผิดนัดผิดสัญญา เจ้าหนี้มีสิทธิปรับลูกหนี้เป็นรายวันตามสัญญาวันละ 3,627 บาท นับแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2532 เป็นต้นไป มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของเจ้าหนี้ว่าเจ้าหนี้มีสิทธิรับชำระหนี้เงินค่าปรับเป็นรายวัน ภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือไม่ และมีสิทธิรับชำระหนี้เงินค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นหรือไม่เพียงใด โดยเจ้าหนี้ฎีกาว่า สิทธิเรียกร้องในเงินค่าปรับเป็นรายวันเริ่มแต่วันที่ 29 ตุลาคม2532 จึงถือได้ว่ามูลหนี้แห่งหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด เจ้าหนี้จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าปรับเป็นรายวันได้จนถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2537พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าเหตุผิดนัดผิดสัญญาทำให้เจ้าหนี้มีสิทธิรับชำระเงินค่าปรับเป็นรายวันจากลูกหนี้ซึ่งมีมาก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดก็ตาม แต่ตามสัญญาได้กำหนดให้ลูกหนี้ผู้ผิดนัดสัญญาต้องเสียค่าปรับแก่เจ้าหนี้เป็นรายวันทุกวันที่ยังผิดนัดผิดสัญญาอยู่ มูลหนี้ในเงินค่าปรับจึงเกิดขึ้นเป็นรายวันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94 บัญญัติว่า “เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์…ฯลฯ”ดังนี้ มูลหนี้ในเงินค่าปรับเป็นรายวันตามสัญญาส่วนที่เกิดขึ้นภายหลังวันที่ 12 พฤษภาคม2536 อันเป็นวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ เพราะฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวที่ศาลอุทธรณ์ให้เจ้าหนี้รับชำระหนี้เงินค่าปรับเป็นรายวันถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดชอบแล้ว ส่วนที่เจ้าหนี้ฎีกาว่า หนี้เงินค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น 896,526.22บาท มิได้เกิดขึ้นภายหลังจากที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่เกิดขึ้นในขณะที่มีการไม่ปฏิบัติตามสัญญา จึงไม่ต้องห้ามมิให้เจ้าหนี้รับชำระหนี้นั้น เห็นว่าตามสัญญาก่อสร้างเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 20(2) ระบุว่า “ถ้าผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาแล้วผู้รับจ้างยอมให้ผู้ว่าจ้างดำเนินการดังต่อไปนี้…ฯลฯ (2) ยินยอมให้ผู้ว่าจ้างเรียกเอาค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นเพราะจ้างบุคคลอื่นทำการนี้ต่อไปจนงานแล้วเสร็จบริบูรณ์” จากข้อสัญญาดังกล่าวเป็นที่เห็นได้ว่า การที่เจ้าหนี้จะมีสิทธิเรียกเอาค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น เพราะจ้างบุคคลอื่นทำการที่ว่าจ้างได้ เจ้าหนี้จะต้องใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาก่อน ตราบใดที่เจ้าหนี้ยังไม่ใช่สิทธิบอกเลิกสัญญา เจ้าหนี้จะเรียกเอาเงินค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นเพราะว่าจ้างบุคคลอื่นทำการที่ว่าจ้างไม่ได้ ได้ความว่าเจ้าหนี้เพิ่งบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2537 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว มูลหนี้ในเงินค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจึงเกิดขึ้นภายหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด เป็นหนี้ที่ต้องห้ามมิให้เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้เงินค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของเจ้าหนี้ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ข้อเท็จจริงได้ความตามทางสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า ในการที่ลูกหนี้ทำสัญญาก่อสร้างคลองส่งน้ำกับเจ้าหนี้ ลูกหนี้ได้นำหนังสือค้ำประกันของธนาคารเอเชีย จำกัด สาขานนทบุรี จำนวนเงิน 362,610 บาท มอบให้เจ้าหนี้ เพื่อเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญาของลูกหนี้ ตามสัญญาก่อสร้างเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 3.เมื่อเจ้าหนี้บอกเลิกสัญญาแก่ลูกหนี้และในวันเดียวกันนั้นเจ้าหนี้ได้เรียกให้ธนาคารเอเชียจำกัด สาขานนทบุรี ชำระเงินตามหนังสือค้ำประกัน และธนาคารดังกล่าวได้ชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันแก่เจ้าหนี้แล้วเป็นจำนวนเงิน 362,610 บาท ดังนั้น สิทธิของเจ้าหนี้ที่จะได้รับชำระหนี้เงินค่าปรับเป็นรายวันจึงต้องลดลงตามจำนวนเงินที่เจ้าหนี้ได้รับชำระจากธนาคารเอเชีย จำกัด สาขานนทบุรี ผู้ค้ำประกันที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เจ้าหนี้รับชำระหนี้เงินค่าปรับรายวันเป็นจำนวนเงิน 4,678,830 บาท โดยไม่หักจำนวนเงินที่เจ้าหนี้ได้รับชำระจากธนาคารเอเชีย จำกัด สาขานนทบุรี เป็นจำนวนเงิน 362,610 บาท จึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246 มาตรา 247และพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153″
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เป็นเงิน 4,316,220 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 107(3) ประกอบมาตรา 130(8) นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์