คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6747/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การและฟ้องแย้ง ศาลชั้นต้นสั่งรับคำให้การและเห็นว่าฟ้องแย้งเป็นคดีมีทุนทรัพย์จึงให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าขึ้นศาลเพิ่มภายใน 3 วัน หากไม่เสียให้ถือว่าทิ้งฟ้องแย้ง จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ศาลชั้นต้นสั่งว่า อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เป็นการอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณา ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 จึงไม่รับอุทธรณ์ ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็มิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ดังกล่าวภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 ดังนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จึงเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิจะยกขึ้นเป็นข้ออุทธรณ์ภายหลังเมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาได้อีก การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 มานั้นจึงไม่ชอบและถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอเลื่อนคดีและงดสืบพยานจำเลยเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 แม้จำเลยจะได้โต้แย้งไว้เพื่อการใช้สิทธิอุทธรณ์แล้วก็ตาม แต่การที่จำเลยอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นโดยขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้วอนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีและให้นัดสืบพยานจำเลยต่อไปนั้น ย่อมอาจมีผลทำให้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ถูกยกไปด้วย กรณีจึงอยู่ภายใต้บังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 ที่ผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์นั้นด้วย อันเป็นบทบัญญัติที่บังคับให้เป็นหน้าที่ของผู้อุทธรณ์ที่ต้องปฏิบัติ เมื่อจำเลยอุทธรณ์โดยเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เพียง 200 บาท และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ให้จำเลย จึงเป็นการไม่ชอบและถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เดิมโจทก์ใช้ชื่อธนาคารสหธนาคาร จำกัด (มหาชน)โจทก์รวมกิจการกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) หนี้และทรัพย์สินตลอดจนสิทธิเรียกร้องต่าง ๆ ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ดังกล่าวจึงตกแก่โจทก์ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2538 จำเลยที่ 1 ขอกู้เงินจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) โดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินในวงเงิน 15,000,000 บาท แก่ผู้ให้กู้ ตกลงว่าในการรับเงินกู้จำเลยที่ 1 จะออกตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อชำระหนี้โดยยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ชำระเป็นรายเดือนทุกวันทำการสุดท้ายของเดือนทั้งยอมให้ผู้ให้กู้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยได้โดยไม่จำต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า หากผู้ให้กู้ไม่ได้รับชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน จำเลยที่ 1 ตกลงชดใช้เงินจำนวนที่กู้ไปพร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามประกาศของผู้ให้กู้จนกว่าจะชำระเสร็จ หากค้างชำระดอกเบี้ยเกินกว่า 1 ปี ยอมให้คิดดอกเบี้ยแบบทบต้นได้มีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและนำที่ดินโฉนดเลขที่ 4145 ตำบลท่าไม้ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง จดทะเบียนจำนองเป็นประกันในวงเงิน 23,000,000บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี จำเลยที่ 1 รับเงินกู้และออกตั๋วสัญญาใช้เงินลงวันที่ 11 กันยายน 2540 แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน)จำนวนเงิน 13,500,000 บาท กำหนดใช้เงินในวันที่ 9 ตุลาคม 2540 ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี และดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 35 ต่อปี เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับดังกล่าวถึงกำหนด จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระต้นเงินและได้ชำระดอกเบี้ยบางส่วนคิดถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2541 คงค้างชำระดอกเบี้ยเป็นเงินจำนวน 8,876.69 บาท บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว แต่เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน17,517,082.17 บาท พร้อมดอกเบี้ยคิดแบบทบต้นทุก ๆ ปี อัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระจนครบ

จำเลยทั้งสองต่างให้การทำนองเดียวกันโดยจำเลยที่ 2 ฟ้องแย้งด้วยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1 ได้รับเงินกู้ประมาณ 5,000,000 บาท จำนวนเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องได้รวมดอกเบี้ยทบต้น ข้อตกลงให้ผู้ให้กู้สามารถปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยโดยไม่จำต้องแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบล่วงหน้าเป็นโมฆะ อัตราดอกเบี้ยที่เกินร้อยละ 15 ต่อปี เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดอย่างมากเป็นต้นเงินไม่เกิน 5,000,000 บาท ดอกเบี้ยไม่เกิน 300,000 บาท จำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้ความยินยอมในการที่โจทก์รับโอนกิจการของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) ข้อตกลงตามสัญญาจำนองเรื่องดอกเบี้ยผิดกฎหมาย ตกเป็นโมฆะ จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิด โจทก์ชอบที่จะฟ้องคดีต่อศาลที่ทรัพย์จำนองตั้งอยู่ขอให้ยกฟ้อง และให้โจทก์ปลดจำนองแก่ทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับคำให้การของจำเลยทั้งสอง ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 เป็นคดีมีทุนทรัพย์ จำเลยที่ 2 เสียค่าขึ้นศาลมาเพียง 200 บาท อย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์จึงมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มตามจำนวนทุนทรัพย์ในสัญญาจำนองภายในเวลาที่กำหนด หากไม่ปฏิบัติถือว่าทิ้งฟ้องแย้ง

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่งที่ให้เสียค่าขึ้นศาลเพิ่ม

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์คำสั่ง และมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 แล้วสืบพยานโจทก์ซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนและกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยทั้งสองในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2542 เวลา 13 นาฬิกา เมื่อโจทก์สืบพยานหมดแล้ว ทนายจำเลยทั้งสองแถลงขอเลื่อนคดี อ้างว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งจะนำมาเบิกความติดธุระ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปนัดสืบพยานจำเลยทั้งสองในวันที่ 26 เดือนเดียวกันเวลา 13 นาฬิกาตามที่ได้นัดไว้เดิม ถึงวันนัด ทนายจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างว่าทนายจำเลยทั้งสองติดธุระ ไม่สามารถมาศาลได้ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปสืบพยานจำเลยทั้งสองในวันที่ 8 ธันวาคม 2542 เวลา 13 นาฬิกา ตามที่ได้นัดไว้เดิมโดยกำชับจำเลยทั้งสองให้เตรียมพยานมาสืบให้พร้อม อย่าขอเลื่อนคดีอีก หากนัดหน้ามีพยานมาเพียงใดถือว่าติดใจสืบพยานเพียงนั้น หากไม่มีพยานมาศาลถือว่าไม่ติดใจสืบพยานอีกต่อไป ถึงวันนัด ทนายจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอีก อ้างว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งจะนำมาเบิกความเป็นพยานติดธุระเดินทางไปต่างประเทศ ทนายโจทก์ไม่คัดค้านศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ทนายจำเลยทั้งสองขอเลื่อนคดีมาหลายครั้งแล้ว มีพฤติการณ์จงใจประวิงคดี กรณีไม่มีเหตุสมควรให้เลื่อนคดีอีกให้ยกคำร้อง งดสืบพยานจำเลยทั้งสอง แล้วนัดฟังคำพิพากษา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 13,500,369.84บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จากต้นเงิน 13,500,000 บาท นับแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2541 จนถึงวันฟ้อง (วันที่ 9 เมษายน 2542) และอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 4,017,082.17 บาท หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 4145 ตำบลท่าไม้ อำเภอกระทุ่มแบน (ตลาดใหม่) จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ออกขายทอดตลาดชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระจนครบ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้เสียค่าขึ้นศาลเพิ่ม และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและงดสืบพยานจำเลยทั้งสอง

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ว่า ฟ้องแย้งที่จำเลยที่ 2 ขอให้บังคับโจทก์ปลดทรัพย์จำนองแก่จำเลยที่ 2 เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ การที่จำเลยที่ 2 เสียค่าขึ้นศาลฟ้องแย้ง 200 บาท จึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อจำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การและฟ้องแย้ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำให้การและเห็นว่า ฟ้องแย้งเป็นคดีมีทุนทรัพย์ จำเลยที่ 2 เสียค่าขึ้นศาลมาเพียง 200 บาท จึงมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าขึ้นศาลเพิ่มตามจำนวนทุนทรัพย์ในสัญญาจำนองภายใน 15 วัน โดยให้มีหมายแจ้งคำสั่งให้จำเลยที่ 2 ทราบ ครั้นถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยที่ 2 ยังไม่ได้รับหมายแจ้งคำสั่งจึงให้ผู้รับมอบฉันทะของทนายจำเลยที่ 2 ที่มาศาลทราบคำสั่งดังกล่าวและมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 เสียค่าขึ้นศาลภายใน 3 วัน หากไม่เสียให้ถือว่าจำเลยที่ 2 ทิ้งฟ้องแย้งจำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งลงวันที่ 11 สิงหาคม 2542 โดยลงชื่อจะมาทราบคำสั่งในวันที่ 18 สิงหาคม 2542 ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว และวันที่ 18 สิงหาคม 2542 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ว่าอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เป็นอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณา ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 226(1) จึงไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ดังกล่าวภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ศาลได้มีคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จึงเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิที่จะยกขึ้นเป็นข้ออุทธรณ์ภายหลังเมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาได้อีก การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 มานั้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้ว โดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่อาจวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 ได้ และเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้แม้ไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อหลังที่ว่า กรณีมีเหตุสมควรตามกฎหมายที่จะให้จำเลยทั้งสองเลื่อนคดีโดยให้โอกาสแก่จำเลยทั้งสองนำพยานเข้าสืบก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาหรือไม่นั้นศาลฎีกาเห็นว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอเลื่อนคดีและงดสืบพยานจำเลยทั้งสอง เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 226 แม้จำเลยทั้งสองจะได้โต้แย้งไว้เพื่อการใช้สิทธิอุทธรณ์แล้วก็ตามแต่การที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวโดยขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้วอนุญาตให้จำเลยทั้งสองเลื่อนคดีและให้นัดสืบพยานจำเลยทั้งสองต่อไปนั้น ย่อมอาจมีผลทำให้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์ถูกยกไปด้วย การอุทธรณ์คำสั่งเช่นว่านี้ จึงต้องอยู่ภายในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 ซึ่งบัญญัติให้ผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนแก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์นั้นด้วย อันเป็นบทบัญญัติที่บังคับให้เป็นหน้าที่ของผู้อุทธรณ์ที่จะต้องปฏิบัติเพื่อให้เป็นการอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อจำเลยทั้งสองอุทธรณ์โดยเสียเพียงค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มา 200 บาท จึงเป็นการไม่ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว ชอบที่ศาลอุทธรณ์จะยกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองเสีย การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการไม่ชอบและถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน และเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้แม้ไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง”

พิพากษายกคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 กับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง และยกฎีกาของจำเลยทั้งสองชั้นอุทธรณ์แก่จำเลยที่ 2 กับจำเลยทั้งสอง ตามลำดับ

Share