แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่โจทก์ฎีกาในบางตอนปฏิเสธว่าลายพิมพ์นิ้วมือซ้ายในการถอนเงินและปิดบัญชีไม่ใช่ลายพิมพ์นิ้วมือของ ส. เจ้าของบัญชีเงินฝากประจำ แต่บางตอนกลับรับว่าเป็นลายพิมพ์นิ้วมือของ ส. นั้น เป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามาว่าเป็นลายพิมพ์นิ้วมือของ ส.
สัญญาระหว่าง ส. กับจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องฝากทรัพย์ ซึ่งทรัพย์ที่ฝากเป็นเงิน ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายว่าจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ทำเป็นหนังสือจดทะเบียนหรือทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน คู่ความจะตกลงรูปแบบและกำหนดเงื่อนไขของสัญญา รวมทั้งจะตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างไร หรือเมื่อใดก็ได้ ดังนั้น ส. กับจำเลยที่ 1 สามารถตกลงเปลี่ยนแปลงข้อตกลงในการถอนเงินใหม่เป็นให้ ส. ถอนเงินโดยให้พิมพ์ลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือซ้ายแทนการลงลายมือชื่อได้ ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวมิใช่เป็นการพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือตาม ป.พ.พ. มาตรา 9 วรรคสอง แม้มิได้มีผู้รับรองลายพิมพ์นิ้วมือก็ใช้บังคับได้ระหว่างคู่สัญญา เนื่องจากเป็นวิธีการและข้อตกลงที่ผู้ฝากจะสั่งให้ผู้รับฝากคืนทรัพย์สินที่ฝากแก่ตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 665 วรรคแรก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย 62,259.90 บาท รวมเงินต้นและดอกเบี้ย 212,259.90 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 150,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 2,055,274.14 บาท พร้อมดอกเบี้ย 853,080.20 บาท รวมเงินต้นและดอกเบี้ย 2,908,354.34 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากเงินต้น 2,055,274.14 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางสำเภา โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นหลานของนางสำเภา วันที่ 2 กรกฎาคม 2533 นางสำเภาเปิดบัญชีเงินฝากประจำ 3 เดือน ไว้กับจำเลยที่ 1 เลขบัญชี 119 – 2 – 08753 – 4 ใช้ชื่อบัญชีว่า นางสำเภา ฝากเพื่อจำเลยที่ 2 และนางสาวมาลินี โดยมีเงื่อนไขว่านางสำเภาสามารถเบิกถอนเงินได้แต่เพียงผู้เดียว เว้นแต่ถึงแก่ความตายแล้วจำเลยที่ 2 และนางสาวมาลินีมีอำนาจเบิกถอนได้ ซึ่งนางสำเภาให้ตัวอย่างลายมือชื่อ ที่อยู่ และระบุเงื่อนไขว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงลายมือชื่อจะต้องแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบเป็นลายลักษณ์อักษร วันที่ 15 เมษายน 2537 จำเลยที่ 1 ทำหลักฐานว่านางสำเภา ถอนเงิน 2 ครั้ง ครั้งแรก 150,000 บาท แล้วมอบให้แก่โรงพยาบาลป่าโมก และอีก 2,055,274.14 บาท โอนเข้าบัญชีของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ช่วงเวลาการถอนเงินดังกล่าวนางสำเภาป่วยเป็นอัมพฤกษ์ ไม่สามารถเดินได้เข้ารักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลป่าโมก โดยมีลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือซ้ายในใบถอนเงินทั้งสองฉบับ โดยขณะที่พิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือ ยังไม่มีพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือโดยนางมนัสวีและนายประยุทธ พนักงานของจำเลยที่ 1 ไปดำเนินการให้ในโรงพยาบาล ในส่วนข้อเท็จจริงว่า ลายพิมพ์นิ้วมือซ้ายในการถอนเงินและปิดบัญชีเป็นของนางสำเภาหรือไม่นั้น ตามฎีกาของโจทก์บางตอนปฏิเสธว่าไม่ใช่ลายพิมพ์นิ้วมือของนางสำเภา แต่บางตอนกลับรับว่าเป็นลายพิมพ์นิ้วมือของนางสำเภาจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามาว่าเป็นลายพิมพ์นิ้วมือของนางสำเภา
สัญญาระหว่างนางสำเภากับจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องฝากทรัพย์ ซึ่งทรัพย์ที่ฝากเป็นเงิน ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายว่าจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ทำเป็นหนังสือจดทะเบียนหรือทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน ดังนั้น คู่ความจะตกลงรูปแบบของสัญญาอย่างไรและกำหนดเงื่อนไขอย่างไรก็ได้ รวมทั้งจะตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างไร เมื่อใดก็ได้เช่นกัน การที่จำเลยที่ 1 ประกอบอาชีพการธนาคารพาณิชย์ย่อมมีผู้มาติดต่อจำนวนมาก จำเลยที่ 1 จึงออกระเบียบปฏิบัติเพื่อให้พนักงานและลูกค้าปฏิบัติเพื่อความสะดวกเรียบร้อย เช่นในคดีนี้กำหนดเงื่อนไขให้นางสำเภาผู้ฝากเงินว่า ระหว่างที่ยังมีชีวิตนางสำเภามีอำนาจถอนแต่เพียงผู้เดียว โดยให้ตัวอย่างลายมือชื่อไว้แก่จำเลยที่ 1 แต่ต่อมานางสำเภาป่วยเป็นอัมพฤกษ์ไม่สามารถเขียนหนังสือได้ จึงไม่สามารถทำตามเงื่อนไขในการเปิดบัญชีไว้ดังกล่าวได้ ดังนั้น นางสำเภากับจำเลยที่ 1 สามารถตกลงเปลี่ยนแปลงข้อตกลงในการถอนเงินใหม่เป็นให้นางสำเภาถอนเงินโดยให้นางสำเภาพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือซ้ายได้ ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวมิใช่เป็นการพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 9 วรรคสอง ดังนั้น กรณีฝากทรัพย์แม้มิได้มีผู้รับรองลายพิมพ์นิ้วมือก็ใช้บังคับได้ระหว่างคู่สัญญา เนื่องจากเป็นวิธีการและข้อตกลงที่ผู้ฝากจะสั่งให้ผู้รับฝากคืนทรัพย์สินที่ฝากแก่ตน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 665 วรรคแรก หากเป็นดังที่โจทก์ฎีกาว่า นางสำเภาฝากเงินโดยมีเงื่อนไขว่าการถอนเงินจะต้องลงลายมือชื่อ เมื่อมีข้อตกลงเช่นนี้แล้วจะต้องปฏิบัติตาม จะเปลี่ยนเป็นพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือไม่ได้นั้น เป็นข้ออ้างที่ไม่มีหลักกฎหมายสนับสนุน และไม่สมเหตุผล มิฉะนั้นหากผู้ฝากเงินในขณะร่างกายสมบูรณ์เช่นเดียวกับนางสำเภา แต่ภายหลังป่วยไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ ก็ไม่สามารถเบิกถอนเงินได้ กลายเป็นผลเสียแก่ผู้ฝากเงิน และเป็นประโยชน์แก่ผู้รับฝากเงินเพราะทำให้ผู้ฝากเงินไม่สามารถถอนเงินได้ ส่วนการที่พนักงานของจำเลยที่ 1 กระทำการผิดระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ที่ไปทำการถอนเงินนอกอาคารสำนักงานนั้น เป็นเรื่องของจำเลยที่ 1 กับพนักงานไม่เกี่ยวกับโจทก์ และกรณีที่จำเลยที่ 1 ดำเนินการให้มีการถอนเงินนอกสถานที่ผิดหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยก็เป็นเรื่องที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะว่ากล่าวเอาแก่จำเลยที่ 1 ไม่เกี่ยวกับโจทก์ ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นอีกเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนไป
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ