คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2917/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้รับมอบหมายสินค้าพิพาทไว้เพื่อขนส่งไปยังจุดหมายปลายทาง แต่ระหว่างการขนส่งสินค้าพิพาทได้รับความเสียหายเพราะมีแมลงเข้าไปในสินค้าพิพาท จำเลยจึงต้องรับผิดชอบในความเสียหายของสินค้าพิพาท จำเลยให้การปฏิเสธว่า การที่แมลงเข้าไปในสินค้าพิพาทมิได้เกิดจากการขนส่งของจำเลย เนื่องจากผู้ส่งเป็นผู้บรรจุและหีบห่อสินค้าพิพาท เมื่อขนส่งสินค้าพิพาทไปถึงด่านสินค้าขาเข้าของประเทศมาเลเซียมีการพบแมลงอยู่บริเวณหีบห่อส่วนที่เป็นพลาสติก การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางตั้งประเด็นว่า สินค้าพิพาทเสียหายในระหว่างอยู่ในความดูแลของจำเลย และจำเลยต้องรับผิดชอบหรือไม่ ย่อมครอบคลุมถึงข้อเท็จจริงว่า การที่มีแมลงเข้าไปในสินค้าพิพาทมิได้เกิดจากการกระทำหน้าที่ขนส่งของจำเลย แต่ถูกบังคับโดยเจ้าหน้าที่ของประเทศมาเลเซียที่ให้เก็บสินค้าพิพาทไว้ในโกดังสินค้าของจำเลย ห้ามเคลื่อนย้ายในระหว่างการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าความเสียหายของสินค้าพิพาทเกิดจากเหตุสุดวิสัยมิได้เกิดจากการกระทำของจำเลยจึงเป็นการหยิบยกข้อเท็จจริงที่จำเลยกล่าวอ้างไว้ในคำให้การ มิได้เป็นการพิพากษานอกประเด็น
ความเสียหายของสินค้าพิพาทเกิดจากมีแมลงเข้าไปปะปนอยู่ในถุงสินค้าพิพาท ขณะสินค้าพิพาทถูกขนออกจากตู้คอนเทนเนอร์เก็บไว้ที่โกดังสินค้าของจำเลยเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของประเทศมาเลเซียตรวจสอบ ขณะนำไปตรวจสอบไม่ปรากฏตัวแมลงปะปนอยู่ในสินค้าพิพาท แสดงว่าแมลงได้เข้าไปปะปนในสินค้าพิพาทในช่วงเวลาที่สินค้าพิพาทถูกเก็บไว้ในโกดังสินค้าของจำเลยก่อนผู้ซื้อจะได้รับมอบสินค้าพิพาทแม้การเก็บสินค้าพิพาทไว้ในโกดังสินค้าของจำเลยจะถูกบังคับโดยเจ้าหน้าที่ของประเทศมาเลเซีย แต่จำเลยก็มีหน้าที่นำสินค้าผ่านเข้าประเทศมาเลเซียด้วย ดังนั้น การดูแลรักษาสินค้าพิพาทยังคงอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลย จำเลยเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการขนส่งสินค้าย่อมมีหน้าที่ดูแลสินค้าพิพาทในช่วงเวลาขนส่งมิให้เกิดความเสียหายสูญหาย การมีแมลงเข้าไปตอมสินค้าพิพาทโดยแทรกสิ่งห่อหุ้มสินค้าพิพาทเข้าไปย่อมเป็นเหตุการณ์ที่สามารถป้องกันมิให้เกิดขึ้นได้ พยานจำเลยเบิกความตอบคำถามค้านว่า สินค้าพิพาทมีการหีบห่อเรียบร้อยแล้ว จึงไม่ได้มีการคลุมสินค้าพิพาทอีกชั้นหนึ่ง แสดงให้เห็นว่า การป้องกันมิให้แมลงเข้าไปที่สินค้าพิพาทสามารถป้องกันได้โดยใช้ผ้าใบหรือสิ่งห่อหุ้มคลุมสินค้าพิพาทไว้อีกชั้นหนึ่ง เพียงแต่จำเลยมิได้คาดคิดหรือคาดไม่ถึงว่าจะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น การมีแมลงเข้าไปที่สินค้าพิพาทเกิดความเสียหายจึงไม่ได้เกิดขึ้นจากเหตุสุดวิสัย เมื่อสินค้าพิพาทเกิดความเสียหายขณะที่สินค้าพิพาทอยู่ในความดูแลของจำเลยผู้ขนส่ง จำเลยจึงต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 616
ตามสัญญาประกันภัยมีการตกลงราคาประกันภัยโดยคิดตามราคาสินค้าบวกด้วยร้อยละ 10 แม้คู่สัญญาประกันภัยสามารถตกลงกันได้เพราะผู้เอาประกันภัยอาจได้รับความเสียหายมากกว่ามูลค่าสินค้าที่เอาประกันภัยโดยมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ผู้เอาประกันภัยต้องเสียไป เช่น ค่าหีบห่อและค่าใช้จ่ายในการขนส่งด้วย ซึ่งถือเป็นความเสียหายที่แท้จริงของผู้เอาประกันภัยได้ก็ตาม แต่การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยสินค้าได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันซึ่งต้องจ่ายตามเงื่อนไขแห่งสัญญาประกันภัยแล้วรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยมาเรียกร้องเอาจากผู้ต้องรับผิดต่อผู้เอาประกันภัยนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องในความเสียหายได้เพียงที่ผู้เอาประกันภัยจะเรียกร้องเอาจากผู้ต้องรับผิด คือ จำนวนตามสัญญารับขน ซึ่งได้แก่ค่าเสียหายเท่าที่ผู้เอาประกันภัยได้รับความเสียหายจริงเท่านั้น และต้องพิจารณาตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมา มิใช่จะถือเอาว่าความเสียหายที่แท้จริงจะต้องเป็นราคาสินค้าที่เสียหายบวกร้อยละ 10 ตามสัญญาประกันภัยซึ่งจำเลยไม่ได้เป็นคู่สัญญาที่จะต้องผูกพันด้วยแต่อย่างใด และตามพยานหลักฐานของโจทก์ก็ปรากฏว่า ผู้ซื้อสินค้ามีหนังสือเรียกร้องความเสียหายเป็นค่าสินค้าที่เสียหายที่ยังไม่บวกร้อยละ 10 แต่ส่วนเพิ่มที่เป็นภาษีมีเพียงไม่ถึงร้อยละ 10 ของราคาสินค้าแต่อย่างใด จึงเชื่อได้ว่าค่าเสียหายที่แท้จริงมีเพียงจำนวนดังกล่าวเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 402,411.75 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 385,917.73 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง แต่ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อแรกมีว่า การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า ความเสียหายของสินค้าเกิดจากเหตุสุดวิสัย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้านั้น เป็นการพิพากษานอกประเด็นข้อพิพาทหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องบรรยายสภาพและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยได้รับมอบสินค้าพิพาทไว้เพื่อขนส่งไปยังจุดหมายปลายทาง แต่ระหว่างการขนส่งสินค้าพิพาทได้รับความเสียหายเพราะมีแมลงเข้าไปในสินค้าพิพาท จำเลยจึงต้องรับผิดชอบในความเสียหายของสินค้าพิพาท จำเลยให้การปฏิเสธความรับผิดว่า การที่แมลงเข้าไปในสินค้าพิพาทมิได้เกิดจากการขนส่งของจำเลย เนื่องจากผู้ส่งเป็นผู้บรรจุและหีบห่อสินค้าพิพาท เมื่อขนส่งสินค้าพิพาทไปถึงด่านสินค้าขาเข้าของประเทศมาเลเซียถูกเจ้าหน้าที่ของประเทศมาเลเซียบังคับให้เก็บสินค้าไว้ที่คลังสินค้าของจำเลยที่ประเทศมาเลเซียเพื่อตรวจ มีการพบแมลงอยู่บริเวณหีบห่อส่วนที่เป็นพลาสติก ดังนี้ประเด็นข้อพิพาทย่อมเป็นไปตามข้ออ้างและข้อเถียงตามคำฟ้องและคำให้การนั้นว่ามีข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่ยังโต้แย้งกันและเกี่ยวเนื่องกับประเด็น การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาคำฟ้องและคำให้การแล้วตั้งประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดในความเสียหายของสินค้าไว้ว่า สินค้าพิพาทเสียหายในระหว่างอยู่ในความดูแลของจำเลย และจำเลยต้องรับผิดชอบหรือไม่ ประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวย่อมครอบคลุมถึงข้อเท็จจริงว่า การที่มีแมลงเข้าไปในสินค้าพิพาทมิได้เกิดจากการกระทำหน้าที่ขนส่งของจำเลย แต่ถูกบังคับโดยเจ้าหน้าที่ของประเทศมาเลเซียที่ให้เก็บสินค้าพิพาทไว้ในโกดังสินค้าของจำเลย ห้ามเคลื่อนย้ายในระหว่างการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า ความเสียหายของสินค้าพิพาทเกิดจากเหตุสุดวิสัย การที่มีแมลงเข้าไปในถุงสินค้าพิพาททำให้สินค้าพิพาทเสียหายมิได้เกิดจากการกระทำของจำเลย หรือจำเลยทำการขนส่งโดยไม่ใช้ความระมัดระวัง ถือว่าข้อเท็จจริงที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยยกขึ้นกล่าวอ้างไว้ในคำให้การ จึงมิได้เป็นการพิพากษานอกประเด็นข้อพิพาทแต่อย่างใด อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไปมีว่า ความเสียหายของสินค้าพิพาทเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8 ได้ให้ความหมายของเหตุสุดวิสัยไว้ว่า หมายความว่า เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้น จะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น ความเสียหายของสินค้าพิพาทเกิดจากการที่มีแมลงเข้าไปปะปนอยู่ในถุงสินค้าพิพาท ขณะที่สินค้าพิพาทถูกขนออกจากตู้คอนเทนเนอร์เก็บไว้ที่โกดังสินค้าของจำเลยเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพอาหารของประเทศมาเลเซียตรวจสอบ ขณะนำไปตรวจสอบไม่ปรากฏตัวแมลงปะปนอยู่ในสินค้าพิพาทหรือแทรกอยู่บริเวณหีบห่อของสินค้าพิพาทแต่อย่างใด แสดงว่าแมลงได้เข้าไปปะปนในสินค้าพิพาทในช่วงเวลาที่สินค้าพิพาทถูกเก็บไว้ในโกดังสินค้าของจำเลยตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2549 ถึงวันที่ 23 พฤษภาคม 2549 ก่อนที่บริษัทเคอรี่ อินกรีเดียนท์ (มาเลเซีย) จำกัด ผู้ซื้อจะได้รับมอบสินค้าพิพาท แม้การเก็บสินค้าพิพาทไว้ในโกดังสินค้าของจำเลยจะถูกบังคับโดยเจ้าหน้าที่ของประเทศมาเลเซีย แต่จำเลยก็มีหน้าที่นำสินค้าผ่านเข้าประเทศมาเลเซียด้วย ดังนั้น การดูแลรักษาสินค้าพิพาทยังคงอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยอยู่ จำเลยเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการขนส่งสินค้าย่อมมีหน้าที่ดูแลสินค้าพิพาทในช่วงเวลาขนส่งมิให้เกิดความเสียหายสูญหาย การมีแมลงเข้าไปตอมสินค้าพิพาทโดยแทรกสิ่งห่อหุ้มสินค้าพิพาทเข้าไป ย่อมเป็นเหตุการณ์ที่สามารถป้องกันมิให้เกิดขึ้นได้ นางสุมาลี ผู้จัดการฝ่ายการตลาดของจำเลย พยานจำเลยเบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่า สินค้าพิพาทมีการหีบห่อเรียบร้อยแล้ว จึงไม่ได้มีการคลุมสินค้าพิพาทอีกชั้นหนึ่ง แสดงให้เห็นว่า การป้องกันมิให้แมลงเข้าไปที่สินค้าพิพาทสามารถป้องกันได้โดยใช้ผ้าใบหรือสิ่งห่อหุ้มคลุมสินค้าพิพาทไว้อีกชั้นหนึ่ง เพียงแต่จำเลยมิได้คาดคิดหรือคาดไม่ถึงว่าจะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น เหตุที่สินค้าพิพาทมีแมลงเข้าไปที่สินค้าพิพาทเกิดความเสียหายจึงไม่ได้เกิดขึ้นจากเหตุสุดวิสัย เมื่อสินค้าพิพาทเกิดความเสียหายขณะที่สินค้าพิพาทอยู่ในความดูแลของจำเลยผู้ขนส่ง จำเลยจึงต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าพิพาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 616 อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ความเสียหายของสินค้าพิพาทมีเพียงใด ปัญหาข้อนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยังมิได้วินิจฉัย แต่เห็นว่าคู่ความได้นำพยานหลักฐานเข้าสืบถึงปัญหาข้อนี้ครบถ้วนแล้ว เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีเสร็จไปโดยรวดเร็ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ไปเสียเลย โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยเสียก่อน ข้อเท็จจริงได้ความตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบว่า เมื่อบริษัทเคอร์รี่ อินกรีเดียนท์ (มาเลเซีย) จำกัด ผู้ซื้อไม่ยอมรับสินค้าโซเดียม คาร์ซิเนต เอ็นเอ เอ็ชวี จำนวน 39 ถุง และผงเครื่องเทศปาปริกา จำนวน 8 ถุง โดยอ้างว่าสินค้าได้รับความเสียหาย โจทก์ได้ว่าจ้างบริษัทครอฟอร์ด แอนด์ คอมพานี แอดจัสเตอร์ส (มาเลเซีย) จำกัด เข้าสำรวจและประเมินความเสียหาย ผลการตรวจสอบพบว่าสินค้าพิพาทดังกล่าวมีแมลงเข้าไปในสินค้า ทำให้สินค้าพิพาทเสียหายทั้งหมดเพราะปนเปื้อนเชื้อโรค ไข่แมลง และซากแมลง ไม่สามารถนำไปผลิตเป็นอาหารมนุษย์ได้และต้องทำลายทิ้งเพราะไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ ซึ่งจำเลยไม่มีพยานหลักฐานมาสืบหักล้างหรือโต้แย้งเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสินค้าพิพาทดังกล่าวได้รับความเสียหายทั้งหมด คิดเป็นราคาสินค้าที่เสียหาย 9,254.40 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ตามสัญญาประกันภัยมีการตกลงราคาประกันภัยโดยคิดตามราคาสินค้าบวกด้วยร้อยละ 10 รวมเป็นเงิน 10,179.84 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแม้คู่สัญญาประกันภัยสามารถตกลงกันได้เพราะผู้เอาประกันภัยอาจได้รับความเสียหายมากกว่ามูลค่าสินค้าที่เอาประกันภัยโดยมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ผู้เอาประกันภัยต้องเสียไป เช่น ค่าหีบห่อและค่าใช้จ่ายในการขนส่งด้วย ซึ่งถือเป็นความเสียหายที่แท้จริงของผู้เอาประกันภัยได้ก็ตาม แต่การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยสินค้าได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันซึ่งต้องจ่ายตามเงื่อนไขแห่งสัญญาประกันภัยแล้วรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยมาเรียกร้องเอาจากผู้ต้องรับผิดต่อผู้เอาประกันภัยนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องในความเสียหายได้เพียงเท่าที่ผู้เอาประกันภัยจะเรียกร้องเอาจากผู้ต้องรับผิด คือ จำนวนตามสัญญารับขน ซึ่งได้แก่ค่าเสียหายเท่าที่ผู้เอาประกันภัยได้รับความเสียหายจริงเท่านั้น และต้องพิจารณาตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมา มิใช่จะถือเอาว่าความเสียหายที่แท้จริงจะต้องเป็นราคาสินค้าที่เสียหายบวกร้อยละ 10 ตามสัญญาประกันภัยซึ่งจำเลยไม่ได้เป็นคู่สัญญาที่จะต้องผูกพันด้วยแต่อย่างใด และตามพยานหลักฐานของโจทก์ก็ปรากฏว่าบริษัทเคอร์รี่ อินกรีเดียนท์ (มาเลเซีย) จำกัด ผู้ซื้อสินค้าได้มีหนังสือเรียกร้องความเสียหาย เป็นค่าสินค้าที่เสียหาย 34,175.57 ริงกิต หรือ 9,254.40 ดอลลาร์สหรัฐ รวมกับค่าภาษีด้วยแล้วรวมเป็นเงิน 35,961.59 ริงกิต เท่านั้น ซึ่งเฉพาะราคาสินค้าเป็นจำนวนเดียวกับราคาสินค้าที่ยังไม่บวกร้อยละ 10 ตามที่โจทก์นำสืบมา แต่ส่วนเพิ่มที่เป็นภาษีมีเพียง 1,786.02 ริงกิต ไม่ถึงร้อยละ 10 ของราคาสินค้า 34,175.57 ริงกิต แต่อย่างใด จึงเชื่อได้ว่าค่าเสียหายที่แท้จริงมีเพียง 35,961.59 ริงกิต เท่านั้น โดยคิดเป็นเงินไทยได้ตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินริงกิต เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐดังกล่าว 1 ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ 3.6929 ริงกิต แล้วเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐที่คิดได้เป็นเงินบาทตามอัตราแลกเปลี่ยนที่โจทก์ใช้คิดคำนวณเพื่อการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไป 1 ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ 37.91 บาท ซึ่งคำนวนได้เป็นเงิน 369,168.91 บาท ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 369,168.91 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2549 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องไม่เกิน 16,494.02 บาท ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท

Share