คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 752-780/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาวินิจฉัยไปครั้งหนึ่งแล้วว่าลักษณะการทำงานของโจทก์ทั้ง 29 คน ไม่ใช่งานขนส่งตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 28 (2) คำวินิจฉัยของศาลฎีกาในปัญหานี้ย่อมเป็นอันยุติ จำเลยจะรื้อฟื้นในประเด็นข้อกฎหมายนี้มาให้วินิจฉัยอีกไม่ได้ อุทธรณ์ของจำเลยในปัญหาข้อนี้จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบมาตรา 246 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
ป.วิ.พ. มาตรา 104 ซึ่งอนุโลมใช้แก่คดีแรงงานด้วยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 เมื่อศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วว่าข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบพยานมาก่อนมีคำพิพากษานั้นเพียงพอให้ฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเป็นยุติและพอวินิจฉัยได้แล้วจึงวินิจฉัยคดีโดยไม่อนุญาตให้จำเลยนำสืบพยานเพิ่มเติม ถือได้ว่าศาลแรงงานกลางได้ใช้ดุลพินิจพิเคราะห์พยานหลักฐานในการรับฟังข้อเท็จจริงแล้ว
จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ทั้ง 29 คน เข้าเวรทำงานล่วงเวลาในวันปกติและในวันหยุดในวันและเวลาแน่นอน โจทก์ทั้ง 29 คน เข้าเวรทำงานล่วงเวลาตามคำสั่งครบถ้วนหรือไม่มีเอกสารลงเวลาทำงานเป็นหลักฐานแน่ชัดอยู่แล้วซึ่งเป็นไปตามระเบียบการเกี่ยวกับการเบิกจ่ายค่าล่วงเวลา ดังนั้น ในบางวันบางเดือนโจทก์บางคนอาจจะต้องเข้าเวรทำงานตามคำสั่งของจำเลยรวมเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ได้ตามที่ปรากฏจริง อันเป็นการทำงานนอกเวลาทำงานปกติ เมื่อโจทก์ทั้ง 29 คน เข้าเวรทำงานตามคำสั่งของจำเลยแล้ว จำเลยจึงต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้โจทก์ทั้ง 29 คน เต็มตามระยะเวลาที่เข้าเวรเพื่อทำงานล่วงเวลา
ระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (1) และมาตรา 11 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 ด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ซึ่งใช้บังคับแก่ทุกรัฐวิสาหกิจ คำสั่งทั้งสามฉบับของจำเลยที่กำหนดอัตราค่าล่วงเวลาของพนักงาน จำเลยจึงต้องอยู่ในบังคับของระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ดังกล่าว เมื่อลักษณะการทำงานของโจทก์ทั้ง 29 คน ไม่ใช่งานขนส่งที่ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 28 (2) จำเลยจึงต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์ทั้ง 29 คน
สิทธิตามสัญญาเช่าเป็นทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 138 ดังนั้นสิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าที่ดินตามสัญญาเช่าของจำเลยซึ่งเป็นสิทธิตามสัญญาเช่าอย่างหนึ่งจึงเป็นทรัพย์สินของจำเลย แม้จะยังไม่เป็นรายได้ของรัฐตาม พ.ร.บ.การท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 มาตรา 39 แต่ก็เป็นรายได้อันเป็นทรัพย์สินของจำเลย จึงไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว

ย่อยาว

คดีทั้งยี่สิบเก้าสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันกับคดีอื่นอีกแปดสำนวน แต่โจทก์ในคดีดังกล่าวขอถอนฟ้องและศาลแรงงานกลางสั่งจำหน่ายคดีไปแล้ว คงเหลือเฉพาะคดีทั้งยี่สิบเก้าสำนวนนี้โดยศาลแรงงานกลางให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 11 ที่ 13 ถึงที่ 15 ที่ 17 ถึงที่ 20 ที่ 24 ถึงที่ 27 ที่ 30 ถึงที่ 33 และที่ 35 ถึงที่ 37 รวม 29 คน
โจทก์ทั้งยี่สิบเก้าสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาในวันทำงาน ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด พร้อมดอกเบี้ยตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แต่ละคน และให้จำเลยถือปฏิบัติต่อไปตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 เกี่ยวกับค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุด โดยให้แก้ไขระเบียบข้อบังคับของจำเลยให้เป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ดังกล่าว
จำเลยทั้งยี่สิบเก้าสำนวนให้การขอให้ยกฟ้องระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานกลางโจทก์ที่ 5 ถึงแก่ความตาย นางประไพ ทายาทยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาต
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 11 ที่ 13 ถึงที่ 15 ที่ 17 ถึงที่ 20 ที่ 24 ถึงที่ 27 ที่ 30 ถึงที่ 33 และที่ 35 ถึงที่ 37 รวม 29 คน อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในส่วนของกำหนดวันจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลาในวันทำงาน ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด โจทก์แต่ละคนทำงานในวันหยุดในช่วงเวลาทำงานปกติกี่ชั่วโมง และในปี 2545 ในช่วงเวลาที่ไม่ขาดอายุความโจทก์แต่ละคนทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน ทำงานในวันหยุด และทำงานล่วงเวลาในวันหยุดกี่ชั่วโมง มีเวลาพักหรือไม่และให้คำนวณจำนวนค่าล่วงเวลาในวันทำงาน ค่าล่วงเวลาในวันหยุดและค่าทำงานในวันหยุดที่จำเลยจะต้องรับผิดชำระให้แก่โจทก์แต่ละคนด้วย แล้วให้ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีในส่วนค่าล่วงเวลาในวันทำงาน ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดไปตามรูปความ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (3) (ข) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 1,324,701.16 บาท จ่ายให้โจทก์ที่ 2 จำนวน 1,315,430.54 บาท จ่ายให้โจทก์ที่ 3 จำนวน 1,347,548.31 บาท จ่ายให้โจทก์ที่ 4 จำนวน 447,748.43 บาท จ่ายให้โจทก์ที่ 5 จำนวน 1,512,952.37 บาท จ่ายให้โจทก์ที่ 6 จำนวน 1,156,042.21 บาท จ่ายให้โจทก์ที่ 7 จำนวน 130,373.76 บาท จ่ายให้โจทก์ที่ 8 จำนวน 1,296,654.96 บาท จ่ายให้โจทก์ที่ 9 จำนวน 1,213,487.58 บาท จ่ายให้โจทก์ที่ 10 จำนวน 1,145,288.54 บาท จ่ายให้โจทก์ที่ 11 จำนวน 1,139,879.36 บาท จ่ายให้โจทก์ที่ 13 จำนวน 804,351.27 บาท จ่ายให้โจทก์ที่ 14 จำนวน 710,136.72 บาท จ่ายให้โจทก์ที่ 15 จำนวน 555,004.89 บาท จ่ายให้โจทก์ที่ 17 จำนวน 409,907.23 บาท จ่ายให้โจทก์ที่ 18 จำนวน 1,285,923.89 บาท จ่ายให้โจทก์ที่ 19 จำนวน 1,298,177.84 บาท จ่ายให้โจทก์ที่ 20 จำนวน 1,327,318.08 บาท จ่ายให้โจทก์ที่ 24 จำนวน 652,072.06 บาท จ่ายให้โจทก์ที่ 25 จำนวน 467,514.60 บาท จ่ายให้โจทก์ที่ 26 จำนวน 392,635.28 บาท จ่ายให้โจทก์ที่ 27 จำนวน 723,978.10 บาท จ่ายให้โจทก์ที่ 30 จำนวน 702,386.62 บาท จ่ายให้โจทก์ที่ 31 จำนวน 346,818.93 บาท จ่ายให้โจทก์ที่ 32 จำนวน 327,574.56 บาท จ่ายให้โจทก์ที่ 33 จำนวน 290,285.31 บาท จ่ายให้โจทก์ที่ 35 จำนวน 212,239.39 บาท จ่ายให้โจทก์ที่ 36 จำนวน 1,296,986.09 บาท จ่ายให้โจทก์ที่ 37 จำนวน 322,160.58 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินของโจทก์แต่ละคน (โจทก์รวม 29 คน) นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 23 กรกฎาคม 2547) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์แต่ละคนเสร็จสิ้น คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา และโจทก์ที่ 1 อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ปัญหาประการแรกว่า ลักษณะการทำงานของโจทก์แต่ละคนที่ท่าเรือกรุงเทพเป็นงานขนส่งตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 28 (2) คำพิพากษาศาลฎีกาในข้อนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายและจำเลยมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลแรงงานกลางในปัญหาข้อนี้ใหม่ได้นั้น คดีนี้เมื่อศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาวินิจฉัยไปครั้งหนึ่งแล้วว่า ลักษณะการทำงานของโจทก์รวม 29 คน ไม่ใช่งานขนส่งตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 28 (2) คำวินิจฉัยของศาลฎีกาในปัญหาข้อนี้ย่อมเป็นอันยุติ จำเลยจะรื้อฟื้นในประเด็นข้อกฎหมายนี้ที่ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไว้มาให้วินิจฉัยอีกไม่ได้อุทธรณ์ของจำเลยในปัญหาข้อนี้จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ประกอบด้วยมาตรา 246 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในประการที่สองว่า ศาลแรงงานกลางไม่ฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลฎีกา คำพิพากษาศาลแรงงานกลางที่พิพากษาคดีนี้ใหม่ จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 ประกอบมาตรา 31 หรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 104 บัญญัติให้ศาลมีอำนาจในอันที่จะวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานที่คู่ความนำมาสืบนั้นจะเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่ แล้วพิพากษาไปตามนั้น ซึ่งบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวนี้นำมาอนุโลมใช้กับคดีแรงงานด้วยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 เมื่อศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วว่าข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบพยานมาก่อนมีคำพิพากษานั้นเพียงพอให้ฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเป็นยุติและพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงวินิจฉัยคดีโดยไม่อนุญาตให้จำเลยนำสืบพยานเพิ่มเติมนั้น ถือได้ว่าศาลแรงงานกลางได้ใช้ดุลพินิจพิเคราะห์พยานหลักฐานในการรับฟังข้อเท็จจริงคดีนี้แล้ว ทั้งไม่มีกรณีอันสมควรที่ศาลแรงงานกลางจะสั่งอนุญาตให้จำเลยนำสืบพยานเพิ่มเติมตามข้อกำหนดศาลแรงงานว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานข้อ 10 ด้วย คำสั่งและคำพิพากษาคดีนี้ใหม่ของศาลแรงงานกลางจึงชอบด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 และมาตรา 31 แล้ว อุทธรณ์ของจำเลยในปัญหาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในประการที่สามว่า คำพิพากษาศาลแรงงานกลางที่คิดคำนวณเวลาทำงานล่วงเวลาเมื่อรวมเวลาทำงานปกติแล้วเท่ากับวันละ 24 ชั่วโมง โดยมิได้คำนวณค่าล่วงเวลาตามจำนวนชั่วโมงที่โจทก์แต่ละคนได้ทำงานล่วงเวลาจริงจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายในข้อนี้ต้องอาศัยข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังเป็นยุติมาแล้วว่า จำเลยกับโจทก์ทั้ง 29 คน ต่างก็ทราบและยอมรับข้อเท็จจริงซึ่งมีเอกสารหลักฐานแน่ชัดว่า จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ทั้ง 29 คน เข้าเวรทำงานล่วงเวลาในวันปกติและวันหยุดสำหรับช่วงระยะเวลาดังกล่าวมาข้างต้นในวันและเวลาใดแน่นอน ส่วนโจทก์ทั้ง 29 คน จะเข้าเวรทำงานล่วงเวลาตามคำสั่งครบถ้วนหรือไม่ ก็มีหลักฐานเอกสารการลงเวลาทำงานเป็นหลักฐานแน่ชัดอยู่แล้ว ซึ่งเป็นไปตามระเบียบการเกี่ยวกับการเบิกจ่ายค่าล่วงเวลา ดังนั้น ในบางวันบางเดือนโจทก์บางคนอาจจะต้องเข้า เวรทำงานตามคำสั่งของจำเลยรวมเป็นเวลา 24 ชั่วโมงได้ตามที่ปรากฏจริง และเมื่อโจทก์ทั้ง 29 คน ได้เข้าเวรทำงานตามคำสั่งของจำเลยแล้ว การเข้าเวรทำงานในลักษณะดังกล่าวมานี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นการทำงานนอกเวลาทำงานปกติ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์ทั้ง 29 คนเต็มตามระยะเวลาที่เข้าเวรเพื่อทำงานล่วงเวลา จำเลยจะจ่ายค่าล่วงเวลาโดยคำนวณเฉพาะเวลาที่โจทก์ได้ปฏิบัติงานจริงเท่านั้น โดยไม่ยอมจ่ายค่าล่วงเวลาเต็มตามระยะเวลาที่โจทก์ทั้ง 29 คน ต้องอยู่เวรรอปฏิบัติงานย่อมไม่เป็นธรรมและไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำพิพากษาศาลแรงงานกลางในปัญหาข้อนี้จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยในปัญหาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในประการสุดท้ายว่า การกำหนดอัตราค่าล่วงเวลาตามคำสั่งคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทยที่ 18/2538 และที่ 7/2543 และตามคำสั่งประธานคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทยที่ 1/2546 เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และไม่อยู่ในบังคับของระเบียบของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 หรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำสั่งคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทยที่ 18/2538 ว่า เป็นการออกคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 29 (4) ของพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 ส่วนคำสั่งคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทยที่ 7/2543 และคำสั่งประธานคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทยที่ 1/2546 เป็นคำสั่งเปลี่ยนแปลงอัตราค่าล่วงเวลาเพิ่มขึ้นจากคำสั่งฉบับแรก ดังนั้น คำสั่งทั้งสามฉบับดังกล่าวนี้จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่คำสั่งทั้งสามฉบับนี้เป็นคำสั่งกำหนดอัตราค่าล่วงเวลาที่ใช้บังคับเฉพาะกับพนักงานของจำเลยเท่านั้น ส่วนระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 นั้น ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (1) และมาตรา 11 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 ด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ซึ่งใช้บังคับกับทุกรัฐวิสาหกิจรวมทั้งจำเลยด้วย คำสั่งทั้งสามฉบับของจำเลยดังกล่าวข้างต้นจึงต้องอยู่ในบังคับของระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ดังกล่าวด้วยเช่นกัน ซึ่งระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ดังกล่าวนี้ได้กำหนดถึงการจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่พนักงานที่ทำงานนอกเวลาทำงานปกติตามข้อ 25, 26 และ 30 แต่ไม่จ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่พนักงานที่ทำงานเข้าลักษณะงานที่ระบุไว้ในข้อที่ 28 ดังนั้น เมื่อศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยแล้วว่า ลักษณะการทำงานของโจทก์รวม 29 คน ไม่ใช่งานขนส่งตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 28 (2) จำเลยจึงต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์ทั้ง 29 คน ตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง อุทธรณ์ของจำเลยในปัญหาข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ที่ 1 ว่า สิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าที่ดินตามสัญญาเช่าเลขที่ ทด.532/2552, ทด.001/2551 และ ทด.550/2552 เป็นทรัพย์สินของจำเลยหรือไม่ และไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 มาตรา 14 หรือไม่ สิทธิตามสัญญาเช่าเป็นทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 138 ดังนั้น สิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าทั้งสามฉบับดังกล่าวของจำเลยซึ่งเป็นสิทธิตามสัญญาเช่าอย่างหนึ่งด้วย จึงเป็นทรัพย์สินของจำเลย และตามพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มาตรา 14 บัญญัติว่า “ทรัพย์สินของการท่าเรือแห่งประเทศไทยย่อมไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี” สิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าทั้งสามฉบับของจำเลยจึงไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาข้างต้น และแม้ว่าสิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าทั้งสามฉบับนี้จะยังไม่เป็นรายได้ของรัฐตามพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 มาตรา 39 แต่ก็เป็นรายได้อันเป็นทรัพย์สินของจำเลย ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8240/2549 ที่โจทก์ที่ 1 อ้างมานั้นเป็นเรื่องสิทธิเรียกร้องเงินค่าขนส่งตามสัญญาจ้างขององค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.) เป็นรายได้ของรัฐอันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินหรือไม่ซึ่งไม่ตรงกับประเด็นของคดีนี้ ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งงดการอายัดสิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าที่ดินตามสัญญาเช่าทั้งสามฉบับของจำเลยตามเจ้าพนักงานบังคับคดีนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share