แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ถอนการยึดทรัพย์ที่ดินของจำเลยที่ 1 ที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้เพื่อใช้ค่าปรับ แม้จำเลยที่ 1 อ้างว่าได้รับประโยชน์จาก พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2553 ก็ตาม แต่ก็เป็นกรณีที่ขอให้ศาลไม่บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จึงอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ซึ่งมาตรา 18 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เฉพาะการกระทำซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้เป็นที่สุด และมาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ขออนุญาตฎีกาฟัง เพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยก็ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 62 วรรคหนึ่ง, 106 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกตลอดชีวิต และปรับ 1,000,000 บาท ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำคุกตลอดชีวิต และปรับ 1,000,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุก 50 ปี และปรับ 1,000,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังเกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ริบของกลาง คดีถึงที่สุด
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีเพื่อแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 แทนค่าปรับ ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีจำเลยที่ 1 ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 21437 ตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 และศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขายทอดตลาดที่ดินแปลงดังกล่าว หลังจากที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้ว จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 1 ได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2553 มาตรา 5 จำเลยที่ 1 จึงมิต้องชำระค่าปรับตามคำพิพากษาอีก ขอให้ถอนการยึดที่ดินแปลงดังกล่าว
โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ถอนการยึดทรัพย์ที่ดินของจำเลยที่ 1 ที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้เพื่อใช้ค่าปรับ แม้จำเลยที่ 1 อ้างว่าได้รับประโยชน์จากพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2553 ก็ตาม แต่ก็เป็นกรณีที่ขอให้ศาลไม่บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จึงอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ด้วย ซึ่งมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติว่า “ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโดยมิชักช้า และภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 16 และมาตรา 19 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เฉพาะการกระทำซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้เป็นที่สุด” และมาตรา 19 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่งแล้ว คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ขออนุญาตฎีกาฟัง เพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยก็ได้” ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ฎีกาโดยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาจำเลยที่ 1 จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาจำเลยที่ 1