คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 911/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พยานโจทก์ทั้งสามปากซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจผู้ตรวจค้นจับกุมและสอบสวนจำเลยทั้งสาม ไม่เคยรู้จักและไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 2 มาก่อน จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะกลั่นแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลยที่ 2 ทั้งในตอนตรวจค้นและแจ้งข้อหาแก่จำเลยทั้งสามก็ได้กระทำต่อหน้าเจ้าพนักงานตำรวจชั้นผู้ใหญ่ประกอบกับในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ซึ่งให้การรับสารภาพ และจำเลยที่ 3 ซึ่งให้การปฏิเสธได้ให้การไว้อย่างไรผู้ทำบันทึกการจับกุมและผู้ทำบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนก็บันทึกคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไว้ตามคำให้การอย่างนั้น ซึ่งสอดคล้องและเชื่อมโยงกับบันทึกการจับกุมและบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 เชื่อว่าจำเลยที่ 2 ได้ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนตามบันทึกการจับกุมและบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนดังที่พยานโจทก์เบิกความจริง ข้อนำสืบของจำเลยที่ 2ที่ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเจ้าพนักงานตำรวจให้จำเลยที่ 2 ลงชื่อในกระดาษหลายแผ่นโดยไม่อ่านข้อความให้ฟัง และไม่ได้ให้จำเลยที่ 2 อ่านเองนั้น คงมีแต่คำเบิกความของจำเลยที่ 2 อ้างตนเองเป็นพยานลอย ๆ ไม่น่าเชื่อพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 จึงไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจค้นพบฝิ่นของกลางจากรถยนต์ปิกอัพที่จำเลยที่ 2 โดยสารมาพร้อมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 และจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีฝิ่นของกลางไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้องโจทก์จริง คำรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนมีประโยชน์แก่การพิจารณาเป็นอย่างมาก สมควรลดโทษให้แก่จำเลยที่ 2หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2532เวลากลางวัน จำเลยทั้งสามกับพวกอีก 1 คน ที่หลบหนีอยู่ได้ร่วมกันมีฝิ่นดิบอันเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 2 จำนวน 30 ถุง หนัก59,680 กิโลกรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 2,822.864 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 7, 17,69, 102 และริบของกลาง
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 69 วรรคสี่ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 ให้ลงโทษจำคุกคนละตลอดชีวิต จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกจำเลยที่ 1และที่ 3 คนละ 25 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 40 ปี ริบฝิ่นของกลาง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2มีกำหนด 37 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า นายดาบตำรวจปรีชากับพวกได้ดักซุ่มเพื่อจับกุมคนร้ายลักลอบขนฝิ่นโดยรถยนต์ปิกอัพหมายเลขทะเบียน 7ร-2044กรุงเทพมหานคร ตามที่ได้รับรายงานจากสายลับ ตรงด่านตำรวจทางหลวงสายเด่นชัย-อุตรดิตถ์ จนพบรถยนต์ปิกอัพคันดังกล่าวซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นคนขับ จำเลยที่ 2 นั่งด้านหน้าคู่กับจำเลยที่ 1ส่วนจำเลยที่ 3 นั่งด้านหลัง ตรวจค้นรถยนต์ปิกอัพคันดังกล่าวแล้ว พบฝิ่นของกลาง 30 ห่อ หนัก 59.680 กิโลกรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 2,822.864 กรัม คดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3ซึ่งให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก จำเลยที่ 1และที่ 3 ไม่อุทธรณ์ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามฟ้องโจทก์หรือไม่ ได้ความจากคำเบิกความของพันตำรวจโทวัลลภ วีรงคเสนีย์ สารวัตรใหญ่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเด่นชัย และนายดาบตำรวจปรีชา วรรณศิลป์เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมจำเลยทั้งสามพยานโจทก์ตรงกันในข้อสาระสำคัญว่า เมื่อตรวจค้นรถยนต์ปิกอัพคันหมายเลขทะเบียน 7ร-2044กรุงเทพมหานคร ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับ จำเลยที่ 2 นั่งด้านหน้าคู่กับจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 3 นั่งด้านหลังพบฝิ่นของกลางซุกซ่อนอยู่ใต้เบาะที่นั่งด้านหลังคนขับ โดยตรวจค้นต่อหน้าพลตำรวจโทวิชัย วิชัยธนพัฒน์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธร 3 และพันตำรวจเอกชาญ คำวรรณ รองผู้บังคับการตำรวจภูธร 7 ได้แจ้งข้อหาแก่จำเลยทั้งสามว่าร่วมกันมีฝิ่นซึ่งเป็นยาเสพติดประเภท 2ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยที่ 1 ที่ 2ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธ พันตำรวจโทวัลลภได้ทำบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.2 ไว้ แล้วส่งมอบร้อยตำรวจเอกวิชาญ ชูฤทธิ์ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเด่นชัยไปดำเนินการสอบสวนต่อไป และร้อยตำรวจเอกวิชาญเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธ ตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนเอกสารหมาย จ.4 จ.5 และ จ.6 เห็นว่าพยานโจทก์ทั้งสามปากนี้ไม่เคยรู้จักและไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 2 มาก่อน จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าพยานโจทก์ทั้งสามปากนี้จะกลั่นแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลยที่ 2 ทั้งในตอนตรวจค้นและแจ้งข้อหาแก่จำเลยทั้งสามก็ได้กระทำต่อหน้าเจ้าพนักงานตำรวจชั้นผู้ใหญ่ คือ พลตำรวจโทวิชัยวิชัยธนพัฒน์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธร 3 และพันตำรวจเอกชาญ คำวรรณรองผู้บังคับการตำรวจภูธร 7 ประกอบกับในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ซึ่งให้การรับสารภาพและจำเลยที่ 3 ซึ่งให้การปฏิเสธได้ให้การไว้อย่างไร พันตำรวจโทวัลลภผู้ทำบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.2 และร้อยตำรวจเอกวิชาญผู้ทำบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนเอกสารหมาย จ.4 และ จ.6 ตามลำดับ ก็บันทึกคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไว้ตามคำให้การอย่างนั้น ซึ่งสอดคล้องและเชื่อมโยงกับบันทึกการจับกุมและบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ.5 เป็นส่วนใหญ่ เชื่อว่าจำเลยที่ 2 ได้ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.2 และบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนเอกสารหมาย จ.5 ดังที่พยานโจทก์เบิกความจริง ข้อนำสืบของจำเลยที่ 2 ที่ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม และชั้นสอบสวนเจ้าพนักงานตำรวจให้จำเลยที่ 2 ลงชื่อในกระดาษหลายแผ่นโดยไม่อ่านข้อความให้ฟังและไม่ได้ให้จำเลยที่ 2 อ่านเองนั้น คงมีแต่คำเบิกความของจำเลยที่ 2 อ้างตนเองเป็นพยานลอย ๆ ไม่น่าเชื่อพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 จึงไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจค้นพบฝิ่นของกลางจากรถยนต์ปิกอัพที่จำเลยที่ 2 โดยสารมาพร้อมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 และจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1และที่ 3 มีฝิ่นของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้องโจทก์จริงที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 นั้นชอบแล้ว แต่ที่ศาลล่างทั้งสองลดโทษให้แก่จำเลยที่ 2 เพียงหนึ่งในสี่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คำรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนมีประโยชน์แก่การพิจารณาเป็นอย่างมาก เห็นสมควรลดโทษให้แก่จำเลยที่ 2 หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78ประกอบด้วยมาตรา 53 ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า เมื่อลดโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสามแล้วคงเหลือโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 33 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share