คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 673/2483

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อจำเลยขาดต่ออายุใบอนุญาตทนายความแล้วยังไปแต่งฟ้องและจดข้อความในฟ้องว่าเป็นทนายความดังนี้เป็นผิดฐานแจ้งความเท็จ +กระทำความผิดแล้วจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้

ย่อยาว

ได้ความว่า จำเลยเคยได้รับอนุญาตให้เป็นทนายความชั้นที่ ๒ แต่ความเป็นทนายของจำเลยได้สิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๔๘๒ โดย จำเลยไม่ต่ออายุใบอนุญาตจำเลยจึงขาดจากทะเบียนทนายความเมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๔๘๓ จำเลยได้นำฟ้องคดีอาญาไปยื่นต่อศาลแขวงพระนครใต้ในท้ายฟ้องนั้นจำเลยกล่าวข้อความว่า ” คำฟ้องฉะบับนี้ข้าพเจ้านายนิ่ม ศรอุทัยทนายความเป็นผู้เรียงและเป็นผู้พิมพ์ ” คำที่จำเลยกล่าวนี้เป็นข้อความซึ่งจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นความเท็จ ผู้พิพากษามีความหลงเชื่อจึงรับคำฟ้อง โจทก์จึงฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๘
จำเลยต่อสู้ว่าไม่ได้ต่อใบอนุญาตใน พ.ศ. ๒๔๘๒ และได้แต่งฟ้องจริง แต่เหตุที่แต่งโดยคิดว่ายังไม่ได้ถูกลบชื่อห้ามไม่ให้เป็นทนายเข้าว่าความ เหตุที่ไม่ได้ต่อใบอนุญาตในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ เพราะป่วย เวลานี้ได้ต่อใบอนุญาตแล้ว ตั้งแต่วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๔๘๓
โจทก์ จำเลยไม่สืบพะยาน ศาลแขวงพระนครใต้เห็นว่าจำเลยมีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๘ ปรับ ๒๐ บาท ลดกึ่งหนึ่งคงปรับ ๑๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยถือมั่นสำคัญตนโดยสุจริตว่าตนมีสิทธิทำได้โดยชอบเท่ากับ จำเลยให้การปฏิเสธข้อหาฐานแจ้งความเท็จ โจทก์มีหน้าที่ต้องสืบให้สมว่าจำเลยเอาความที่รู้อยู่ว่าเป็นเท็จไปแจ้งแต่โจทก์ก็มิได้นำสืบประการใด ไม่มีทางลงโทษ จำเลยได้ จึงพิพากษากลับศาลแขวงให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าตาม พรบ ทนายความ ม. ๖ บัญญัติว่าผู้เป็นทนายความจึงจะแต่งฟ้องให้คู่ความได้ และมาตรา ๘ บัญญัติว่าใบอนุญาตทนายความต้องต่ออายุทุกปีจึงจะไม่ขาดจากทะเบียน ซึ่งจำเลยจะเถียงว่าไม่รู้กฎหมาย ๒ มาตรา นี้ไม่ได้ ดังที่ กฎหมายอาญามาตรา ๔๕ บัญญัติไว้ ฉะนั้นเมื่อ จำเลยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่เป็นทนายความที่มีอำนาจแต่งฟ้องแล้วไปจดข้อความในฟ้องว่าเป็นทนายความจึงเป็นแจ้งความเท็น จึงพิพากษากลับศาลอุทธรณ์บังคับคดีไปตามศาลชั้นต้น

Share