คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 670/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การรังวัดออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่ประชาชน หากมีผู้โต้แย้งคัดค้าน เจ้าพนักงานที่ดินมีอำนาจทำการสอบสวนเปรียบเทียบถ้าตกลงกันได้ก็ดำเนินการไปตามที่ตกลง หากตกลงกันไม่ได้ เจ้าพนักงานที่ดินมีอำนาจพิจารณาสั่งการไปตามที่เห็นสมควรตาม ป. ที่ดิน มาตรา 60 วรรคแรก ซึ่งคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินหาเป็นยุติไม่ คู่กรณีฝ่ายที่ไม่พอใจคำสั่งมีสิทธิที่จะฟ้องคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งต่อศาลได้ภายใน 60 วัน นับแต่ได้ทราบคำสั่งดังกล่าว การที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินมีคำสั่งให้ออกโฉนดที่ดินแก่ จ. อันเป็นการใช้ดุลพินิจสั่งการตามที่ตนได้ทำการสอบสวนเปรียบเทียบไปโดยสุจริตตามอำนาจหน้าที่ชอบด้วย มาตรา 60 แล้ว โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งสำนักงานที่ดินจังหวัดชัยภูมิที่ ๓๘/๒๕๓๗ เรื่องคัดค้านการรังวัดออกโฉนดที่ดิน
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งนัดสืบพยานโจทก์ แต่เมื่อถึงวันนัด โจทก์แถลงยอมรับว่า โจทก์ได้เป็นโจทก์ฟ้องนายจุ้ย พรมุณีสุนทร เป็นจำเลยตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๖๓๖/๒๕๔๐ ของศาลชั้นต้น คดีถึงที่สุดแล้ว ศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำฟ้องและคำให้การเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษายืน จำเลยไม่แก้อุทธรณ์ จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว… คดีมีปัญหาตามที่โจทก์ฎีกาว่า เดิมที่ดินของนายจุ้ยมีเนื้อที่ ๒ ไร่ ๙๗ ตารางวา ตามรูปแผนที่ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เมื่อทำการรังวัดออกโฉนดปรากฏว่าเนื้อที่เพิ่มขึ้นไปจากเดิม จำเลยไม่ได้ทำการสอบสวนเจ้าของที่ดินข้างเคียง ผู้ปกครองท้องที่ให้ปรากฏว่าเนื้อที่เพิ่มขึ้นด้วยสาเหตุใด อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๑๕) หมวด ๕ ข้อ ๑๑ (๑) (๒) และหนังสือกรมที่ดิน ที่ มท. ๐๗๑๒/ว. ๗๘๖๑ ลงวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๓๐ ที่ออกตาม ป. ที่ดิน มาตรา ๖๐ ซึ่งระเบียบดังกล่าวกำหนดว่า หากการรังวัดออกโฉนดที่ดินได้เนื้อที่แตกต่างจากหลักฐานการครอบครองเดิมก็ให้ออกโฉนดได้เท่าที่ทำประโยชน์อยู่ การที่จำเลยมีคำสั่งให้ออกโฉนดที่ดินแก่นายจุ้ยเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แม้จำเลยจะสั่งให้โจทก์ฟ้องนายจุ้ยภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันทราบคำสั่งของจำเลยก็ตาม แต่ก็ทำให้โจทก์ต้องเสียเปรียบ เพราะโจทก์ต้องนำสืบก่อน คำสั่งของจำเลยดังกล่าวย่อมรับฟังได้ในเบื้องต้นเสมอไป ทั้ง ๆ ที่มีข้อเท็จจริงอย่างอื่นเกิดขึ้นใหม่ที่จะลบล้างคำสั่งของจำเลยตามคำสั่งสำนักงานที่ดินจังหวัดชัยภูมิที่ ๓๘/๒๕๓๗ ได้ ขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวนั้น เห็นว่า การรังวัดออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่ประชาชนสำเร็จลุล่วงไปโดยถูกต้องเพื่อประโยชน์ของทางราชการและประชาชนเท่านั้น แต่หากมีผู้โต้แย้งคัดค้านการออกโฉนดที่ดิน ก็ย่อมเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดหรือเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสาขาที่จะทำการสอบสวนเปรียบเทียบ ถ้าตกลงกันได้ก็ให้ดำเนินการไปตามที่ตกลง หากตกลงกันไม่ได้ให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดหรือเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสาขามีอำนาจพิจารณาสั่งการไปตามที่เห็นสมควรตาม ป. ที่ดิน มาตรา ๖๐ วรรคแรก ซึ่งคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดหรือเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสาขาดังกล่าวก็หาเป็นยุติไม่ คู่กรณีฝ่ายที่ไม่พอใจคำสั่งมีสิทธิที่จะฟ้องคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งต่อศาลได้ภายใน ๖๐ วัน นับแต่ได้ทราบคำสั่งดังกล่าว ซึ่งข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยได้เรียกโจทก์และนายจุ้ยมาสอบสวนเปรียบเทียบแล้วเชื่อว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) ของนายจุ้ย แม้จะมีเนื้อที่ดินเพิ่มขึ้นจากเดิม จำเลยก็มีอำนาจใช้ดุลพินิจสั่งออกโฉนดที่ดินให้แก่นายจุ้ยได้ และคำสั่งของจำเลยดังกล่าวเป็นการสั่งการไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ทั้งเป็นการใช้ดุลพินิจสั่งการไปตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายให้อำนาจไว้ มิได้ทำให้โจทก์หรือนายจุ้ยต้องเสียเปรียบหรือได้เปรียบกันในชั้นพิจารณาของศาลดังเช่นที่โจทก์ฎีกาแต่อย่างใด การที่จำเลยมีคำสั่งให้ออกโฉนดที่ดินแก่นายจุ้ยเป็นการใช้ดุลพินิจสั่งการไปโดยสุจริตตามอำนาจหน้าที่ชอบด้วย ป. ที่ดิน มาตรา ๖๐ แล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งสำนักงานที่ดินจังหวัดชัยภูมิที่ ๓๘/๒๕๓๗ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน จำเลยไม่แก้ฎีกาจึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้.

Share