แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จะพิจารณาความสัมพันธ์ของบุคคลว่าเป็นนายจ้างและลูกจ้างกันตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 5 ต้องปรากฏข้อเท็จจริงด้วยว่าบุคคลที่เป็นลูกจ้างอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาโดยต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ระเบียบ และข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบุคคลที่เป็นนายจ้าง ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ตามความเป็นจริงของความเป็นนายจ้างและลูกจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 ด้วย
พนักงานขายบัตร ทำงานตามช่วงเวลาที่ระบุไว้จะไปทำงานหรือไม่ก็ได้ หากไม่ไปก็เพียงแต่แจ้งทางโทรศัพท์ ไม่ต้องยื่นใบลา ได้รับค่าตอบแทนจากการขายจากจำนวนบัตรที่ขายได้ในแต่ละวันหากขายไม่ได้หรือขายได้เพียงหนึ่งใบจะไม่ได้รับค่าตอบแทน แม้จะมาทำการขายในวันดังกล่าวก็ตามไม่มีการกำหนดวันหยุด วันลาและสวัสดิการ จึงเป็นการทำงานโดยอิสระ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาและไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ระเบียบ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน การตกลงกันปฏิบัติงานตามช่วงเวลาที่ประสงค์และการกำหนดให้พนักงานขายบัตรที่มาทำงานสายต้องถูกหักเงินเป็นค่าปรับ ก็มิใช่การใช้อำนาจบังคับบัญชา แต่เป็นเพียงการวางกฎเกณฑ์เพื่อให้การขายมีประสิทธิภาพเท่านั้น ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับพนักงานขายบัตรจึงมิใช่นายจ้างและลูกจ้างกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยตามหนังสือที่ รส. 0725/4021 ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2545 หนังสือที่ รส. 0725/10776 ลงวันที่ 19 เมษายน 2545 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1192/2546 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2546 กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งค่าทนายความแทนโจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งขอจำเลยตามหนังสือที่ รส. 0725/4021 ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2545 หนังสือที่ รส. 0725/10776 ลงวันที่ 19 เมษายน 2545 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 1192/2546 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2546 ส่วนที่โจทก์ขอให้ศาลสั่งให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมรวมทั้งค่าทนายความแทนโจทก์นั้น เนื่องจากการดำเนินคดีที่ศาลแรงงานคู่ความไม่ต้องชำระค่าฤชาธรรมเนียม จึงให้ยกคำขอส่วนนี้ของโจทก์เสีย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยว่า นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับพนักงานขายบัตรอยู่ในฐานะเป็นนายจ้างและลูกจ้างตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 5 ให้คำนิยามของ “ลูกจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร แต่ไม่รวมถึงลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย และ “นายจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้าง และให้หมายความรวมถึงผู้ได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้าง ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลให้หมายความรวมถึงผู้มีอำนาจกระทำแทนนิติบุคคล และผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำแทนนิติบุคคลให้ทำการแทนด้วย อันมีความหมายว่า ลูกจ้างเป็นผู้ซึ่งทำงานให้แก่ผู้รับลูกจ้างเข้าทำงานโดยรับค่าจ้างจากผู้รับลูกจ้างเข้าทำงานนั้น แต่การที่จะพิจารณาความสัมพันธ์ของบุคคลว่าเป็นนายจ้างและลูกจ้างกันหรือไม่ นอกจากจะพิจารณาว่าบุคคลทั้งสองฝ่ายมีความสัมพันธ์กันดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 5 แล้ว ยังต้องปรากฏข้อเท็จจริงด้วยว่าบุคคลที่เป็นลูกจ้างอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาโดยต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ระเบียบ และข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบุคคลที่เป็นนายจ้าง ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ตามความเป็นจริงของความเป็นนายจ้างและลูกจ้างดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ด้วยเมื่อศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์จ้างพนักงานขายบัตรให้ไปทำงานตามช่วงเวลาที่ระบุไว้ แต่จะไปทำงานหรือไม่ไปก็ได้ หากไม่ไปก็เพียงแต่แจ้งทางโทรศัพท์ให้โจทก์ทราบโดยไม่ต้องยื่นใบลา จะได้รับค่าตอบแทนจากการขายจากจำนวนบัตรที่ขายได้ในแต่ละวันโดยจ่ายในวันสุดสัปดาห์ของสัปดาห์ถัดไป หากขายไม่ได้หรือขายได้เพียง 1 ใบ จะไม่ได้รับค่าตอบแทนแม้จะมาทำการขายในวันดังกล่าวก็ตาม ไม่มีการกำหนดวันหยุด วันลาและสวัสดิการสำหรับพนักงานขายบัตร ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงว่าพนักงานขายบัตรมีอิสระในการทำงานกับโจทก์ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาและไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ การตกลงกันปฏิบัติงานตามช่วงเวลาที่ประสงค์และการกำหนดให้พนักงานขายบัตรที่มาทำงานสายจะถูกหักเงินเป็นค่าปรับจำนวน 50 บาท ก็มิใช่กรณีที่โจทก์ใช้อำนาจบังคับบัญชาแต่เป็นการวางกฎเกณฑ์เพื่อให้การขายมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกัน ดังนั้นนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับพนักงานขายบัตรจึงมิได้อยู่ในฐานะเป็นนายจ้างและลูกจ้างกัน ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.