แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ในกรณีที่คู่ความท้ากันให้ศาลวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทเพียงข้อเดียวว่าที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงหลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายแล้วสามารถจดทะเบียนโอนได้หรือไม่และตกลงให้สืบพยานคนกลางเพียงปากเดียวโดยให้ศาลถามพยานว่าที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงสามารถจดทะเบียนโอนให้ได้ตามกฎหมายหรือไม่ แล้วตัดสินคดีไปตามที่พยานเบิกความนั้น จะต้องพิจารณาว่าเหตุการณ์ที่พยานคนกลางเบิกความตรงตามคำท้าหรือไม่ หากเหตุการณ์ที่พยานคนกลางเบิกความตรงตามคำท้าแล้ว ศาลก็จะต้องตัดสินตามคำท้านั้น เมื่อคำเบิกความของพยานคนกลางที่ตอบศาลถาม พยานยืนยันว่าหากคู่สัญญายืนยันรับผิดชอบกันเองก็สามารถที่จะโอนกันได้ตามกฎหมาย แม้พยานจะตอบคำถามติงของทนายโจทก์ว่าหากมีการอายัดโดยชอบด้วยกฎหมายก็ไม่สามารถจดทะเบียนโอนกันได้นั้น เป็นเงื่อนไขที่พยานเบิกความขึ้นเองไม่เกี่ยวกับเงื่อนไขตามคำท้าเพราะคำท้ามิได้กล่าวถึงการอายัดไว้ด้วย คำเบิกความของพยานจึงตรงตามคำท้าและสมฝ่ายจำเลย โจทก์จึงต้องเป็นฝ่ายแพ้คดี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยทั้งสี่ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายหรือวางมัดจำที่ดินเนื้อที่ 72 ไร่ 2 งาน 12 ตารางวา ในราคา 61,650,500 บาท นัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์วันที่ 3 ตุลาคม 2533 มีข้อตกลงว่า โจทก์ไม่ทราบว่ามีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงหนองบอน เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2531 ที่ดินทั้งห้าแปลงตามสัญญาจะซื้อจะขายอยู่ในเขตเวนคืนด้วย โจทก์และจำเลยทั้งสี่จึงไม่อาจไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่ 3 ตุลาคม 2533 ได้ สัญญาจึงสิ้นผลใช้บังคับตกเป็นโมฆะ จำเลยทั้งสี่ต้องร่วมกันคืนเงินมัดจำพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยทั้งสี่ได้รับเงินไปจากโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 4,125,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์และจำเลยทั้งสี่ต่างสละประเด็นอื่นทั้งหมด คงเหลือประเด็นข้อพิพาทข้อเดียวว่า ที่ดินทั้งห้าแปลงหลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายแล้วสามารถจดทะเบียนโอนได้ในวันที่ 3 ตุลาคม 2533 หรือไม่ หากสามารถจดทะเบียนโอนได้โจทก์จะยอมแพ้คดี หากไม่สามารถจดทะเบียนโอนให้ได้ จำเลยทั้งสี่จะยอมแพ้คดี คู่ความทั้งสองฝ่ายตกลงให้หัวหน้าสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาประเวศเป็นพยานเบิกความโดยให้ศาลถามพยานว่า ในวันที่ 3 ตุลาคม 2533 ที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงเจ้าพนักงานที่ดินสามารถจดทะเบียนโอนให้ตามกฎหมายได้หรือไม่ แล้วให้ตัดสินไปตามที่พยานเบิกความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 4,125,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 24 กันยายน 2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาคดีไปตามคำท้าอย่างเคร่งครัดเพราะคดีนี้คู่ความท้ากัน โดยให้ถือเอาคำเบิกความของหัวหน้าสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาประเวศ ว่าที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงหลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายแล้วสามารถที่จะจดทะเบียนโอนได้ในวันที่ 3 ตุลาคม 2533 หรือไม่ หากได้ความว่า วันที่ 3 ตุลาคม 2533 เจ้าพนักงานที่ดินสามารถจดทะเบียนโอนให้ได้แล้ว โจทก์เป็นฝ่ายแพ้คดี หากวันที่ 3 ตุลาคม 2533 เจ้าพนักงานที่ดินไม่สามาถจดทะเบียนโอนให้ได้ จำเลยเป็นฝ่ายแพ้คดี การที่ศาลอุทธรณ์ไปวินิจฉัยถึงข้อกฎหมายว่าด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 จึงไม่ถูกต้อง และเกินจากคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลย เห็นว่า ในกรณีที่คู่ความท้ากันให้ศาลวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทเพียงข้อเดียวว่า ที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงหลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายแล้วสามารถจดทะเบียนโอนได้ในวันที่ 3 ตุลาคม 2533 หรือไม่ หากสามารถจดทะเบียนโอนได้โจทก์จะยอมแพ้คดี หากไม่สามารถโอนได้จำเลยทั้งสี่จะยอมแพ้คดีและตกลงให้สืบพยานคนกลางเพียงปากเดียวโดยให้ศาลถามพยานว่า ที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงสามารถจดทะเบียนโอนให้ได้ตามกฎหมายหรือไม่ แล้วตัดสินคดีไปตามที่พยานเบิกความนั้น ก็จะต้องพิจารณาว่าเหตุการณ์ที่พยานคนกลางเบิกความนั้นตรงต่อคำท้าหรือไม่ หากเหตุการณ์ที่พยานคนกลางเบิกความตรงตามคำท้าแล้ว ศาลก็จะต้องตัดสินตามคำท้านั้น ตามคำเบิกความของนายเกษม จินดา ที่ตอบศาลถามนั้น นายเกษมยืนยันว่า ที่ดินพิพาทถึงแม้จะทำสัญญาจะซื้อจะขายภายหลังที่พระราชกฤษฎีกาฯ กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ พ.ศ.2531 ใช้บังคับ หากคู่สัญญายืนยันรับผิดชอบกันเองก็สามารถที่จะโอนกันได้ตามกฎหมาย แม้นายเกษมเบิกความตอบทนายโจทก์ถามติงว่า หากมีการอายัดโดยชอบด้วยกฎหมายก็ไม่สามารถจดทะเบียนโอนกันได้นั้น เป็นเงื่อนไขที่พยานเบิกความขึ้นเองไม่เกี่ยวกับเงื่อนไขตามคำท้าเพราะตามคำท้ามิได้กล่าวถึงการอายัดไว้ด้วย คำเบิกความของนายเกษมจึงตรงตามคำท้าและสมฝ่ายจำเลยเพราะรับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงหลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายสามารถจดทะเบียนโอนได้ในวันที่ 3 ตุลาคม 2533 แล้ว โจทก์จึงต้องเป็นฝ่ายแพ้คดีตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย แม้ศาลอุทธรณ์จะกล่าวด้วยว่าคำเบิกความของนายเกษมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ก็เป็นเพียงการให้เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยว่าคำเบิกความของนายเกษมตรงตามคำท้า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน