แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำไปเกี่ยวกับความผิดที่โจทก์ร่วมร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกล่าวหาจำเลยว่ากระทำผิดฐานยักยอกนั้นถือเป็นการสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (11) ซึ่งการสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดฐานใดเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนที่จะดำเนินการไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการสอบสวน เมื่อข้อเท็จจริงที่ได้จากการสอบสวนปรากฏว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ก็ไม่ทำให้การสอบสวนที่กระทำไปแล้วเสียไป การสอบสวนจึงชอบด้วยกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 และให้จำเลยคืนเงินสดจำนวน 870,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) วรรคแรก จำคุก 4 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามมาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน ให้จำเลยคืนเงินสดจำนวน 870,000 บาท แก่โจทก์ร่วม
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โจทก์ร่วมมอบอำนาจให้นายวีระพงษ์ พลศักดิ์ ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีแก่จำเลย นายวีระพงษ์ได้ร้องทุกข์ต่อร้อยตำรวจโทสังวาลย์ รางสถิตย์ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2541 กล่าวหาจำเลยว่ายักยอกเงินจำนวน 870,000 บาท ของโจทก์ร่วม พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาจำเลยว่ายักยอก ต่อมาพนักงานอัยการฟ้องจำเลยในฐานความผิดลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้าง มีปัญหาแต่เฉพาะข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าโจทก์ฟ้องคดีโดยมีการสอบสวนโดยชอบแล้วหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ร่วมร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกล่าวหาจำเลยว่ากระทำผิดฐานยักยอก การรวบรวมพยานหลักฐานซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำไปเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหาถือเป็นการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (11) การสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดฐานใดเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนที่จะดำเนินการไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการสอบสวน เมื่อข้อเท็จจริงที่ได้จากการสอบสวนปรากฏว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ก็ไม่ทำให้การสอบสวนที่กระทำไปแล้วเสียไป การสอบสวนจึงชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน