คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6678/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยรับของโจรทรัพย์ 13 รายการไว้ในคราวเดียวกันแม้จะปรากฏว่าทรัพย์ดังกล่าวแต่ละรายการเป็นของผู้เสียหายหลายคนต่างกันการกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดกรรมเดียว การที่โจทก์แยกฟ้องจำเลยเป็นแต่ละคดีตามจำนวนของผู้เสียหายรวมทั้งคดีนี้ด้วยนั้น เมื่อได้ความว่าศาลชั้นต้นในคดีอื่นได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับของโจรทรัพย์บางรายการที่จำเลยรับมาในคราวเดียวกับคดีนี้แล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิจะนำคดีมาฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับของโจรเป็นคดีนี้อีกเพราะสิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยลักทรัพย์หรือรับของโจร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 357 และนับโทษต่อจากคดีอื่นจำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา 357 จำคุก 1 ปี 6 เดือนลดโทษให้หนึ่งในสามจำคุก 1 ปี นับโทษต่อจากคดีอื่น จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 357 วรรคแรกนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายมา 2 ประการโดยจำเลยฎีกาประการแรกว่า จำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลอุทธรณ์รวมพิจารณาพิพากษาคดีที่จำเลยถูกฟ้องต่อศาลชั้นต้นรวม 4 สำนวนเข้าด้วยกัน แต่ศาลอุทธรณ์มิได้สั่งคำร้องนั้นแต่อย่างใด จึงเป็นการไม่ชอบ และจำเลยฎีกาประการที่สองว่า แม้จำเลยรับของโจรทรัพย์ของผู้เสียหายหลายคนก็ตาม แต่จำเลยก็ได้รับทรัพย์นั้นไว้คราวเดียวกันจึงเป็นความผิดกรรมเดียวกัน เมื่อจำเลยถูกศาลพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในคดีหนึ่งแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องคดีนี้ย่อมระงับไปศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นสมควรวินิจฉัยฎีกาของจำเลยในประการที่สองก่อนซึ่งปัญหาตามข้อฎีกาของจำเลยประการที่สองนี้ ศาลอุทธรณ์ฟังว่าในกรณีที่โจทก์ได้ฟ้องจำเลยหลายคดีโดยมีผู้เสียหายต่างรายกันเมื่อโจทก์มีคำขอ ศาลที่พิพากษาคดีหลังย่อมมีอำนาจพิพากษาให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีก่อนซึ่งศาลได้พิพากษาไปแล้วได้ เพราะเป็นการกระทำคนละกรรมต่างหากจากกัน โดยที่ศาลอุทธรณ์ยังมิได้ฟังว่าจำเลยรับเอาทรัพย์ของผู้เสียหายแต่ละรายไว้ในคราวเดียวกันหรือไม่ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมานั้นจึงยังไม่เพียงพอแก่การวินิจฉัยศาลฎีกาเห็นสมควรฟังข้อเท็จจริงต่อไป ได้ความจากสิบตำรวจโทฤทธีพรสี่ พยานโจทก์ผู้จับกุมจำเลยว่าเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2530ร้อยตำรวจเอกบดินทร์ ประชากิติคุณ ได้นำสิบตำรวจโทฤทธีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอื่นไปจับกุมจำเลยที่บ้านของจำเลยในข้อหาลักทรัพย์หรือรับของโจร และยึดได้ทรัพย์ของกลางทั้งสิ้น 13 รายการ จากบ้านของจำเลย ตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งทรัพย์ของกลางทั้ง 13 รายการนี้เป็นทรัพย์ของกลางคดีนี้รวมอยู่ด้วย 2 รายการกับปรากฏจากคำของร้อยตำรวจเอกบดินทร์ตามบันทึกคำให้การพยานประเด็นโจทก์ของศาลอาญา เอกสารท้ายคำแถลงการณ์ปิดคดีของจำเลยว่าร้อยตำรวจเอกบดินทร์ได้รับจำเลยเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2530ในข้อหาลักทรัพย์หรือรับของโจรยึดได้ทรัพย์ของกลางรวม 13 รายการที่บ้านของจำเลยและได้ดำเนินคดีแก่จำเลยฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรทรัพย์ของกลางดังกล่าวบางรายการตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3104/2530ของศาลชั้นต้นอันเป็นคดีหนึ่งซึ่งโจทก์ขอให้นับโทษจำเลยคดีนี้ต่อทั้งโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบว่าจำเลยรับทรัพย์ของกลางตามเอกสารหมาย จ.1ไว้ต่างคราวต่างวาระกันหรือกล่าวแก้อุทธรณ์และฎีกาของจำเลยในปัญหานี้แต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยได้รับทรัพย์ของกลางในคดีนี้กับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4081/2530 ของศาลชั้นต้นซึ่งศาลชั้นต้นนำโทษของจำเลยในคดีนี้ไปนับต่อตามคำขอของโจทก์ไว้ในคราวเดียวกันจึงเป็นการกระทำความผิดฐานรับของโจรกรรมเดียวแต่โจทก์ได้แยกฟ้องจำเลยเป็นแต่ละคดีตามจำนวนของผู้เสียหายเมื่อจำเลยถูกฟ้องและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับของโจรในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4081/2530ของศาลชั้นต้นแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิจะนำคดีมาฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับของโจรเป็นคดีนี้อีก เพราะเป็นความผิดกรรมเดียวกันกับคดีดังกล่าวและสิทธิที่โจทก์จะนำคดีมาฟ้องจำเลย สำหรับความผิดนั้นเป็นอันระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4)กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามข้อฎีกาประการแรกของจำเลย
ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share