แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เมื่อ ส. ถึงแก่ความตาย ทายาทของ ส. ตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินของ ส. ว่า บุคคลใดได้รับยกให้ที่ดินแปลงใดก่อน ส. ถึงแก่ความตาย และทำประโยชน์ในที่ดินแปลงนั้นก็ให้ตกเป็นของบุคคลนั้น จำเลยได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ ส. ถึงแก่ความตายแต่ผู้เดียว กรณีจึงต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งสามจะเรียกร้องเอาส่วนแบ่งให้ผิดไปจากที่ได้แบ่งปันกันไปแล้วอีกไม่ได้ แม้ภายหลังจำเลยไปยื่นขอจัดการมรดกก็ไม่ทำให้ที่ดินพิพาทกลับกลายเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปันกันระหว่างทายาท เพราะจำเลยประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียนให้ได้สิทธิโดยสมบูรณ์ในที่ดินพิพาทเท่านั้น มิใช่เพื่อประโยชน์แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งสิ้นสิทธิในที่ดินพิพาทแล้ว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานยักยอก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 นายบุญจันทร์ บิดาของโจทก์ที่ 3 และจำเลย เป็นบุตรของนายวันและนางสี ภายหลังนายวันและนางสีถึงแก่ความตาย จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางสีตามคำสั่งศาล เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2542 เวลากลางวัน จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกยักยอกที่ดินโฉนดเลขที่ 26398 และ 26920 ตำบลคำเนียม อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ รวม 2 แปลง อันเป็นทรัพย์มรดกที่จะตกทอดแก่โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 บุตร กับโจทก์ที่ 3 ในฐานะผู้รับมรดกแทนที่นายบุญจันทร์และทายาทไปเป็นของจำเลยเอง โดยจำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวเป็นของจำเลยเพียงผู้เดียว มิได้จัดแบ่งทรัพย์มรดกดังกล่าวให้แก่ทายาทตามหน้าที่ของจำเลยตามกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353, 354
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา โจทก์ที่ 2 ถึงแก่ความตาย นายสงวนศักดิ์ บุตรของโจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าดำเนินคดีต่างผู้ตาย ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 ประกอบด้วยมาตรา 354 จำคุก 1 ปี ปรับ 6,000 บาท พิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ของโจทก์ทั้งสามและจำเลยต่างก็เป็นญาติใกล้ชิดกัน อีกทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่โต้แย้งคัดค้านว่า นายวันและนางสี อยู่กินเป็นสามีภริยามีบุตรด้วยกัน 6 คน คือนายบุญจันทร์ (บิดาของโจทก์ที่ 3) นายอ่อนสี โจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 1 จำเลย และนางสาวสุปรียากรหรือทองแดง เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2534 นางสีถึงแก่ความตาย ก่อนนางสีถึงแก่ความตาย นางสีมีที่ดิน 7 แปลง เป็นที่ดินมีเอกสารสิทธิจำนวน 2 แปลง คือที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 26398 เอกสารหมาย จ.3 เนื้อที่ 2 งาน 90 ตารางวา เป็นที่ปลูกบ้านอยู่อาศัย และที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 26920 เอกสารหมาย จ.4 เนื้อที่ 43 ไร่ 36 ตารางวา เป็นที่ดินทำนา กับที่ดินไม่มีเอกสารแสดงสิทธิอีก 5 แปลง โดยเป็นที่นา 3 แปลง และที่สวน 2 แปลง นางสีแบ่งที่ดินทั้ง 7 แปลง ให้บุตรทุกคน โดยที่ดินมีโฉนดทั้งสองแปลงซึ่งพิพาทกันในคดีนี้ยกให้จำเลยและนางสาวสุปรียากรคนละกึ่งหนึ่ง เนื่องจากจำเลยอยู่อาศัยกับนางสีและเป็นผู้เลี้ยงดูนางสี ส่วนนางสาวสุปรียากรเป็นบุตรสาวคนเล็ก สำหรับบุตรอีก 4 คน คือโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 นายบุญจันทร์และนายอ่อนสีต่างได้รับที่ดินที่ไม่มีเอกสารแสดงสิทธิคนละ 1 แปลง เมื่อได้รับการยกให้ต่างก็เข้าครอบครองและทำกินในที่ดิน ยกเว้นนางสาวสุปรียากรเนื่องจากไปบวชเป็นซิสเตอร์ในศาสนาคริสต์ และนายอ่อนสีขายที่ดินให้แก่จำเลย เมื่อนางสีถึงแก่ความตายจำเลยยังคงครอบครองทำกินและอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ประมาณ 8 ปี จำเลยประสงค์จะเปลี่ยนชื่อทางทะเบียนของที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 จึงยื่นคำร้องขอจัดการมรดกต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2542 ปรากฏตามสำเนาคำร้องขอเอกสารหมาย จ.9 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2542 ปรากฏตามสำเนาคำสั่งศาลชั้นต้นเอกสารหมาย จ.5 จำเลยจัดการโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกแล้วโอนให้แก่จำเลยในฐานะทายาทเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2542 และหากนางสาวสุปรียากรต้องการที่ดินก็จะดำเนินการโอนให้กึ่งหนึ่ง โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ขอแบ่งที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจากจำเลย แต่จำเลยปฏิเสธ โจทก์ทั้งสามจึงฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งต่อศาลชั้นต้นตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1749/2543 ของศาลชั้นต้น โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 เป็นพยานเบิกความในคดีแพ่งดังกล่าวด้วย ปรากฏตามคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 เอกสารหมาย ล.1 ล.2 และ ล.7 ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ โจทก์ทั้งสามมีพยานคือ โจทก์ทั้งสามเบิกความแต่เพียงว่า เมื่อนางสีตายมีที่ดินพิพาท 2 แปลง เป็นทรัพย์มรดก จำเลยยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกแล้วไม่ได้แบ่งให้แก่โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นทายาทของนางสีและโจทก์ที่ 3 ผู้รับมรดกแทนที่นายบุญจันทร์ซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งของนางสี โดยมิได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยกระทำผิดหน้าที่ในฐานะผู้จัดการมรดกแต่อย่างใด แม้โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 จะเบิกความในคดีแพ่งว่าไม่มีข้อตกลงแบ่งทรัพย์มรดกของนางสีก็เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน ส่วนจำเลยมีตัวจำเลยเบิกความยืนยันว่า หลังจากนางสีถึงแก่ความตายมีการทำบุญหามารดา พี่น้องทุกคนตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินว่า บุคคลใดทำประโยชน์ที่ดินแปลงใดก็เป็นของบุคคลนั้นไป หลังจากนั้นจำเลยเป็นผู้ทำประโยชน์ไม่มีบุคคลใดมาเกี่ยวข้อง โดยจำเลยมีนางสาวสุปรียากรและนายอ่อนสีมาเบิกความสนับสนุน นายอ่อนสีเป็นทายาทคนหนึ่งของนางสี หากไม่มีการตกลงดังที่จำเลยกล่าวอ้างนายอ่อนสีย่อมได้รับส่วนแบ่งในที่ดินพิพาททั้งสองแปลง การที่นายอ่อนสีมาเบิกความว่ามีข้อตกลงแบ่งที่ดินจึงเป็นการเบิกความที่เป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองย่อมมีน้ำหนักให้รับฟัง นอกจากนี้จำเลยยังเบิกความว่า หากนางสาวสุปรียากรกลับมาและขอรับที่ดินพิพาทส่วนของตน จำเลยก็จะโอนให้ จึงเป็นข้อสนับสนุนว่ามีข้อตกลงดังกล่าว ทั้งข้อเท็จจริงฟังได้ว่าก่อนที่นางสีจะถึงแก่ความตาย นางสีมีที่ดิน 7 แปลง นางสีแบ่งที่ดินให้บุตรทุกคนโดยยกที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่จำเลยและนางสาวสุปรียากรและจำเลยอยู่อาศัยกับนางสีเป็นผู้เลี้ยงดูนางสี ทั้งครอบครองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงโดยบุตรคนอื่นของนางสีไม่เคยเข้ายุ่งเกี่ยว ยิ่งเป็นข้อสนับสนุนให้เห็นว่า มีข้อตกลงดังที่จำเลยนำสืบจริง พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบจึงมีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า เมื่อนางสีถึงแก่ความตาย ทายาทของนางสีตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินของนางสีว่าบุคคลใดได้รับยกให้ที่ดินแปลงใดก่อนนางสีถึงแก่ความตาย และทำประโยชน์ในที่ดินแปลงนั้นก็ให้ตกเป็นของบุคคลนั้น และจำเลยได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตั้งแต่นางสีถึงแก่ความตายแต่ผู้เดียว ดังนี้กรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “การแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้น อาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด หรือโดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท” โจทก์ทั้งสามจะเรียกร้องเอาส่วนแบ่งให้ผิดไปจากที่ได้แบ่งปันกันไปแล้วอีกหาได้ไม่ แม้ภายหลังจำเลยไปยื่นขอจัดการมรดกก็หาทำให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงกลับกลายเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปันกันระหว่างทายาทไม่ เพราะจำเลยประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียนให้ได้สิทธิโดยสมบูรณ์ในที่ดินพิพาทั้งสองแปลงเท่านั้น หาใช่เพื่อประโยชน์แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งสิ้นสิทธิในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแล้ว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดดังที่ศาลชั้นต้นพิพากษา คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน