คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6213/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำว่า ป่า ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4 (1) หมายความว่า ที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน การเป็นป่าตามความหมายดังกล่าวไม่ใช่กรณีเป็นป่าตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติฯ หากที่ใดแปลงใดเป็นที่ดินที่ยังไม่มีบุคคลใดได้มาตามกฎหมายที่ดิน ที่ดินแปลงนั้นย่อมเป็นป่าตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ ที่ดินแปลงใดแม้จะอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติตามกฎกระทรวงฉบับที่ 616 (พ.ศ.2516) หรือไม่ หากไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของหรือได้สิทธิครอบครองทำกินตาม ป.ที่ดิน ที่ดินแปลงนั้นย่อมเป็นป่าตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ
จำเลยเข้าไปครอบครองตัดฟันต้นยูคาลิปตัสของสำนักงานป่าไม้เขตจังหวัดเพชรบุรีและก่นสร้าง แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่าเพื่อยึดถือครอบครองป่าเป็นของตนหรือผู้อื่นจึงมีความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และฐานร่วมกันยึดถือครอบครอง ก่นสร้าง แผ้วถางหรือเผาป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต
จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ก่นสร้างแผ้วถางป่าโดยตัดฟันต้นยูคาลิปตัสของสำนักงานป่าไม้เขตจังหวัดเพชรบุรี อันเป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่น แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ และ ป.อ. แยกการกระทำเป็นสองกรรมต่างหากจากกัน แต่เมื่อเป็นการกระทำความผิดต่อต้นยูคาลิปตัสจำนวนเดียวกันและได้กระทำคราวเดียวพร้อมกันต่อเนื่องกันไป จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54, 72 ตรี วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณต้นเดือนตุลาคม 2540 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันคือ จำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือ ครอบครองก่นสร้าง แผ้วถางหรือเผาป่าหรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่าบริเวณสวนป่าโค้งสวรรค์ เนื้อที่ 433 ไร่ โดยจำเลยทั้งสามร่วมกันสร้างรั้วลวดหนามเสาคอนกรีตล้อมบริเวณป่าดังกล่าว และใช้รถไถปรับพื้นที่ทำถนนและตัดต้นยูคาลิปตัส เพื่อยึดถือครอบครองป่านั้นเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยทั้งสามร่วมกันตัดฟันทำลายต้นยูคาลิปตัส 7, 570 ต้น ของสำนักงานป่าไม้เขตจังหวัดเพชรบุรี ผู้เสียหาย อันเป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่น คิดเป็นเงิน 378,500 บาท แล้วจำเลยทั้งสามร่วมกันลักเอาต้นยูคาลิปตัสดังกล่าวของผู้เสียหายไปโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 335, 358 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 54, 72 ตรี 74 ทวิ ริบของกลาง ให้จำเลยทั้งสาม คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยทั้งสามออกจากป่าที่เกิดเหตุ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ราคาต้นยูคาลิปตัสเป็นเงิน 378,500 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 72 ตรี วรรคสอง วรรคสาม, 74 ทวิ ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ จำคุกคนละ 3 ปี ฐานร่วมกันทำลายป่าและเข้ายึดถือครอบครองป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 12 ปี รวมจำคุกคนละ 15 ปี ริบของกลาง กับให้จำเลยทั้งสาม คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยทั้งสามออกจากป่าที่เกิดเหตุ ข้อหาอื่นและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์จำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 5,000 บาท ฐานร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครอง ก่นสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่าฯ โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 2 ปี และปรับคนละ 20,000 บาท รวมจำคุกคนละ 3 ปี และปรับคนละ 25,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ที่ดินที่เกิดเหตุมีเนื้อที่ประมาณ 433 ไร่ ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 2 ตำบลเขาย้อย อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ขณะเกิดเหตุมีจำเลยที่ 1 ครอบครองทำประโยชน์ และปักเสาปูน ขึงรั้วลวดหนามล้อมรอบที่ดินที่เกิดเหตุ ใช้รถไถดินปรับพื้นทำเป็นถนนลูกรังโดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมเข้าทำประโยชน์ตามที่จำเลยที่ 1 มอบหมาย มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า จำเลยทั้งสามกระทำความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาหรือไม่ โจทก์มีนายประนอมกำนันตำบลเขาย้อย นายสงัด หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมปลูกและบำรุงป่าประจำสำนักงานป่าไม้เขตเพชรบุรี นายนิวัติ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ 5 ประจำจังหวัดเพชรบุรีและนายสมเกียรติ ช่างสำรวจ 5 ประจำสำนักงานป่าไม้เขตเพชรบุรี และนายบุญธรรม ลูกจ้างประจำสำนักงานป่าไม้เขตเพชรบุรีเบิกความสอดคล้องกันยืนยันว่า ที่ดินที่เกิดเหตุเป็นสวนป่าที่กรมป่าไม้ปลูกต้นยูคาลิปตัสไว้ ชื่อสวนป่าโค้งสวรรค์โดยมีหลักฐานสนับสนุนคือสำเนาแผนการปลูกสร้างสวนป่า เอกสารหมาย จ.1 และสำเนาคำสั่งตั้งนายสงัดเป็นหัวหน้าสวนป่าทุ่งขนายและสวนป่าโค้งสวรรค์เอกสารหมาย จ.2 นายสมเกียรติยังเบิกความด้วยว่า พยานได้ร่วมจัดทำบันทึกถ่ายภาพที่เกิดเหตุและทำแผนที่แสดงสถานที่เกิดเหตุไว้ตามเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.5 โดยพิกัดจุดตามเอกสารหมาย จ.5 แผ่นที่ 3 ทางเทคนิดเรียกว่า พิกัด MQ 839614 เห็นว่า พยานโจทก์ดังกล่าวไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสามมาก่อนจึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะกลั่นแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลยทั้งสาม เชื่อว่าเบิกความตามความจริง คำเบิกความมีน้ำหนักให้รับฟัง ส่วนจำเลยทั้งสามนำสืบต่อสู้ว่า ที่ดินเกิดเหตุเป็นที่ดินที่ชาวบ้านได้ครอบครองทำประโยชน์มาก่อน ต่อมาจำเลยที่ 1 รวบรวมที่ดินของชาวบ้านขายให้แก่นายวิบูลย์ ภายหลังนายวิบูลย์กลับนำมาขายให้แก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 มีหลักฐานสำเนาใบจองเอกสารหมาย ล.8 และ ล.9 ซึ่งมีชื่อนางคำผง และนายวรนุชเป็นผู้แจ้งครอบครองมาสนับสนุนว่าที่ดินตามสำเนาใบจองดังกล่าวเป็นบางส่วนของที่ดินที่เกิดเหตุ เห็นว่า แม้จะฟังว่าจำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินที่เกิดเหตุมาจริง แต่ไม่ปรากฏว่านายวิบูลย์หรือชาวบ้านมีเอกสารสิทธิเกี่ยวกับที่ดินแต่อย่างใด ส่วนสำเนาใบจองตามเอกสารหมาย ล.8 และ ล.9 ปรากฏตามประกาศอำเภอเขาย้อย เรื่องมีผู้ขอจับจองที่ดินเอกสารหมาย ปจ.2 และ ปจ.3 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ว่าเป็นที่ดินที่ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ซึ่งเป็นคนละหมู่บ้านกับที่ดินพิพาท จึงเป็นคนละแปลงกัน ไม่อาจใช้ยืนยันได้ว่าที่ดินที่เกิดเหตุเป็นที่ดินที่ราษฎรมีสิทธิครอบครองทำกิน เมื่อพิจารณาบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.3 และภาพถ่ายหมาย จ.4 สภาพที่ดินที่เกิดเหตุมีต้นยูคาลิปตัสจำนวนมาก ซึ่งบางส่วนถูกตัดโค่นไปสอดคล้องกับที่โจทก์นำสืบและต้นยูคาลิปตัสที่ถูกตัดโค่นมีบางส่วนเพิ่งแตกใบ เป็นพุ่มเตี้ยๆ แสดงว่าเพิ่งถูกตัดโค่นไปไม่นาน บ่งชี้ว่าที่ดินที่เกิดเหตุเพิ่งถูกบุกรุกแผ้วถางมาไม่นานตามสภาพที่ดินที่เกิดเหตุเป็นสวนป่ายูคาลิปตัสมีทางราชการปลูกไว้ ซึ่งการจะพิจารณาว่าเป็นป่าหรือไม่นั้น ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4 (1) บัญญัติว่า ป่า หมายความว่า ที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน การเป็นป่าตามความหมายของพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ ดังกล่าวไม่ใช่กรณีเป็นป่าตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ ดังนั้นหากที่ดินแปลงใดเป็นที่ดินที่ยังไม่มีบุคคลใดได้มาตามกฎหมายที่ดิน ที่ดินแปลงนั้นย่อมเป็นป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ ไม่ว่าที่ดินที่เกิดเหตุจะอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติตามกฎกระทรวงฉบับที่ 616 (พ.ศ.2516) ตามเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งมิได้ระบุให้ท้องที่ตำบลเขาย้อย อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของหรือได้สิทธิครอบครองทำกินตามประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ดินที่เกิดเหตุจึงเป็นป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ ที่จำเลยทั้งสามฎีกาอ้างว่า มีการซ่อมแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติหนองหญ้าปล้องโดยลบเส้นสีแดงหมายเลข 1 ในระวางแผนที่เอกสารหมาย ล.7 แผ่นที่ 1 ออกไปแล้ว ที่ดินที่เกิดเหตุจึงไม่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติหนองหญ้าปล้องนั้น เห็นว่า ไม่ว่าจะมีการซ่อมแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติหนองหญ้าปล้องหรือไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีเอกสารสิทธิแสดงความเป็นเจ้าของหรือหลักฐานใดที่แสดงได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้มีสิทธิครอบครองทำกินในที่ดินที่เกิดเหตุ ที่ดินที่เกิดเหตุก็ยังเป็นป่าอยู่ดี และที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า จำเลยทั้งสามไม่ได้ร่วมกันตัดโค่นต้นยูคาลิปตัสตามฟ้องนั้น ได้ความจากนายบุญธรรมพยานโจทก์เบิกความว่า ประมาณต้นเดือนตุลาคม 2540 ขณะที่พยานขับรถไปถึงที่เกิดเหตุ เห็นคนงาน 7 คน ถึง 8 คน ตัดไม้ในที่เกิดเหตุ พยานลงจากรถไปพูดคุย คนงานแจ้งว่าเป็นที่ของจำเลยที่ 1 พยานพบจำเลยที่ 2 ที่ 3 จำเลยที่ 2 บอกว่าจำเลยที่ 1 ใช้ให้ตัดต้นไม้ เมื่อพิจารณาประกอบคำเบิกความของนายประนอมกำนันตำบลที่เกิดเหตุพยานโจทก์อีกปากหนึ่งที่ยืนยันว่า จำเลยที่ 1 บุกรุกเข้าไปในที่เกิดเหตุโดยไถพื้นที่และล้อมรั้วลวดหนามกั้นแนวเขต เจือสมกับทางนำสืบของจำเลยทั้งสามที่ยอมรับว่าจำเลยทั้งสามครอบครองทำประโยชน์ในที่เกิดเหตุ เมื่อจำเลยทั้งสามเป็นผู้ครอบครองป่าที่เกิดเหตุซึ่งถูกแผ้วถาง พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 55 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้แผ้วถางป่านั้น แต่จำเลยทั้งสามอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความแต่เพียงลอยๆ โดยจำเลยทั้งสามไม่มีพยานหลักฐานอื่นมานำสืบหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ พยานโจทก์จึงมีนำหนักให้รับฟังว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันตัดโค่นต้นยูคาลิปตัสตามฟ้อง พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสามยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามเข้าไปครอบครองที่เกิดเหตุตัดฟันต้นยูคาลิปตัสของสำนักงานป่าไม้เขตจังหวัดเพชรบุรีและก่นสร้าง แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่าเพื่อยึดถือครอบครองป่าเป็นของตนหรือผู้อื่นจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และฐานร่วมกันยึดถือครอบครอง ก่นสร้างแผ้วถางหรือเผาป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตตามที่ศาลอุทธรณ์ภาคที่ 7 พิพากษา ฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า ควรลงโทษจำเลยทั้งสามให้หนักขึ้นและไม่รอการลงโทษจำคุกให้หรือไม่ เห็นว่าการที่จำเลยทั้งสามร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครอง ก่นสร้าง แผ้วถางป่าที่เกิดเหตุเนื้อที่ 433 ไร่ โดยร่วมกันก่อสร้างรั้วลวดหนามเสาคอนกรีตล้อมบริเวณป่าดังกล่าว และใช้รถไถปรับพื้นที่ทำถนนและตัดต้นยูคาลิปตัสของสำนักงานป่าไม้จำนวน 7,570 ต้น เพื่อยึดถือครอบครองพื้นที่ดังกล่าวเป็นของตนหรือผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้นลักษณะการกระทำความผิดนับว่าเป็นภัยต่อป่าไม้ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของประเทศ พฤติการณ์แห่งคดีนับเป็นเรื่องร้ายแรงศาลฎีกาจึงไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ที่ลงโทษฐานร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครอง ก่นสร้าง แผ้วถางหรือเผาป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกเพียงคนละ 2 ปี และรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสามอย่างไรก็ตาม แม้ที่ดินที่เกิดเหตุมีเนื้อที่ 433 ไร่ แต่ส่วนที่ถูกไถพรวนมีเนื้อที่ประมาณ 29 ไร่ ส่วนที่ถูกใช้ทำเป็นถนนมีเนื้อที่ประมาณ 8 ไร่ ส่วนที่เหลือยังมิได้ถูกดำเนินการจึงเห็นว่าที่ศาลชั้นต้นลงโทษความผิดฐานนี้จำคุกคนละ 12 ปี ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ก่นสร้าง แผ้วถางป่าโดยตัดฟันต้นยูคาลิปตัส 7,570 ต้น ของสำนักงานป่าไม้เขตจังหวัดเพชรบุรี อันเป็นการทำให้เสียหาย ทำลายหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นนั้น แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 และประมวลกฎหมายอาญาแยกการกระทำเป็นสองกรรมต่างหากจากกันแต่เมื่อการกระทำความผิดต่อต้นยูคาลิปตัสจำนวนเดียวกันและได้กระทำคราวเดียวพร้อมกันต่อเนื่องกันไป จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54, 72 ตรี วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษเรียงกระทงโดยแยกฐานร่วมกันยึดถือ ครอบครอง ก่นสร้าง แผ้วถางหรือเผาป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตออกต่างหากจากฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์นั้นไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามในความผิดฐานร่วมกันยึดถือ ครอบครอง ก่นสร้าง แผ้วถางหรือเผาป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54, 72 ตรี วรรคสอง และฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายให้ลงโทษฐานร่วมกันยึดถือ ครอบครอง ก่นสร้าง แผ้วถางหรือเผาป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54, 72 ตรี วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

Share