คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10673/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ภาพยนต์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 53 วรรคหนึ่ง บัญญัติ “ห้ามมิให้ผู้ใดจัดตั้งหรือประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน” และมาตรา 4 บัญญัติให้นิยามคำว่า “วีดิทัศน์” ว่า วัสดุที่มีการบันทึกภาพหรือภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่องในลักษณะที่เป็นเกมการเล่น… และนิยามคำว่า “ร้านวีดิทัศน์” ว่า สถานที่ที่จัดให้มีเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกในการฉาย เล่น หรือดูวีดิทัศน์ โจทก์บรรยายการกระทำของจำเลยว่า จำเลยประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ ชื่อร้าน “ไอซ์เกมส” โดยทำเป็นธุรกิจและได้รับค่าตอบแทน โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน และจำเลยนำแผ่นดีวีดีเกมสไปเดอร์แมนและเกมสไปเดอร์แมน 3 เดอะเกมส์ ที่บันทึกเสียงและภาพ บรรจุลงในเครื่องเล่นเกมแล้วต่อสายไปเชื่อมกับเครื่องรับสัญญาณภาพ (โทรทัศน์) เพื่อให้ลูกค้าเช่าเล่นเกมและยึดได้เครื่องเล่นเกมเพลย์สเตชั่นทูโทรทัศน์สี จอยสติ๊ก สายเอวี สายไฟฟ้าของกลาง กับแผ่นดีวีดีเกมซึ่งจัดเป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกในการเล่นเกมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ จึงฟังได้ว่าจำเลยประกอบกิจการร้านไอซ์เกมส์ในลักษณะให้บริการลูกค้าเช่าผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์และโทรทัศน์ แผ่นดีวีดีเกมคอมพิวเตอร์ของกลางคดีนี้จึงเป็นวัสดุที่มีการบันทึกภาพและเสียงในลักษณะที่ผู้เล่นสามารถนำมาเล่นโดยฉายภาพและเสียงผ่านเครื่องเล่นเกมเพลย์สเตชั่นทูและโทรทัศน์ได้อย่างต่อเนื่อง อันจัดเป็นวีดีทัศน์ตามนิยามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 จึงเป็นฟ้องที่บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด รวมทั้งรายละเอียดและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้นๆ รวมทั้งสิ่งของที่เกี่ยวข้องพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
งานอันมีลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 หมายถึง งานสร้างสรรค์ของผู้อื่นที่กฎหมายให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ภายใต้หลักเกณฑ์และวิธีการสำหรับการให้ความคุ้มครองที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดไว้
ผู้เสียหายมีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์เกมของตนเป็นครั้งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2546 และปี 2549 โดยโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีหรือไม่ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 8 อันเป็นข้อเท็จจริงซึ่งเป็นสาระสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบความผิดตามข้อหาที่โจทก์กล่าวอ้างมาในฟ้อง จึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิด ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 8, 15, 30, 31, 69, 70, 75, 76 พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 4, 53, 82 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91 ริบเครื่องเล่นเกมเพลย์สเตชั่นทู โทรทัศน์สี จอยสติ๊ก สายเอวีและสายไฟฟ้าของกลาง และให้แผ่นดีวีดีเกมของกลางที่ละเมิดลิขสิทธิ์ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ และสั่งจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1) (2) ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง ให้รอการกำหนดโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ให้แผ่นดีวีดีเกมของกลางที่ละเมิดลิขสิทธิ์ จำนวน 2 แผ่น ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ ส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 54 และมาตรา 82 โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่าจำเลยประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ โดยมิได้บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับของกลางให้เข้าองค์ประกอบของกฎหมายคำว่า “วีดิทัศน์” ตามมาตรา 4 คำฟ้องจึงไม่ชอบ ให้ยกฟ้องในข้อหานี้ คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่ามาตรา 4 บัญญัติให้นิยามคำว่า “วีดิทัศน์” ว่า วัสดุที่มีการบันทึกภาพหรือภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่องในลักษณะที่เป็นเกมการเล่น … และนิยามคำว่า “ร้านวีดิทัศน์” ว่า สถานที่ที่จัดให้มีเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ตลอดจนสิ่งอำนายความสะดวกในการฉาย เล่น หรือดูวีดิทัศน์โจทก์บรรยายการกระทำของจำเลยตามฟ้องข้อ (ก) ว่า จำเลยประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ชื่อร้าน “ไอซ์เกมส์” โดยทำเป็นธุรกิจและได้รับค่าตอบแทน โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน และบรรยายตามฟ้อง ข้อ (ข) ซึ่งเป็นการกระทำในคราวเดียวกันตอนหนึ่งว่า จำเลยนำแผ่นดีวีดีเกมสไปเดอร์แมนและเกมสไปเดอร์แมน 3 เดอะเกมส์ ที่บันทึกเสียงและภาพ จำนวน 2 แผ่น บรรจุลงในเครื่องเล่นเกมแล้วต่อสายไฟเชื่อมกับเครื่องรับสัญญาณภาพ (โทรทัศน์) เพื่อให้ลูกค้าเช่าเล่นเกม และเมื่อเจ้าพนักงานจับจำเลยได้ยึดริบเครื่องเล่นเกมเพลย์สเตชั่นทู โทรทัศน์สี จอยสติ๊ก สายเอวี สายไฟฟ้าของกลาง กับแผ่นดีวีดีเกม ซึ่งจัดเป็นเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกในการเล่นเกมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เมื่อรับฟังข้อเท็จจริงประกอบกันแล้ว จึงฟังได้ว่าจำเลยประกอบกิจการร้านไอซ์เกมส์ ในลักษณะให้บริการลูกค้าเช่าแผ่นโปรแกรมคอมพิวเตอร์เกมเล่นผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์และโทรทัศน์ แผ่นดีวีดีเกมคอมพิวเตอร์ของกลางคดีนี้จึงเป็นวัสดุที่มีการบันทึกภาพและเสียงในลักษณะที่ผู้เล่นสามารถนำมาเล่นโดยฉายภาพและเสียงผ่านเครื่องเล่นเกมเพลย์สเตชั่นทูและโทรทัศน์ได้อย่างต่อเนื่อง อันจัดเป็นวีดิทัศน์ตามนิยามของมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551
ส่วนที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ผู้อื่นเพื่อการค้าตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1) (2) ประกอบมาตรา 70 วรรคสองนั้น เห็นว่า งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 นั้น หมายถึงงานสร้างสรรค์ของผู้อื่นที่กฎหมายให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ภายใต้หลักเกณฑ์และวิธีการสำหรับการให้ความคุ้มครองที่พระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดไว้ โดยการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์นั้นต้องเป็นไปตามวิธีการกำหนดไว้ในมาตรา 8 ถึงมาตรา 14 และมาตรา 17 โดยมาตรา 8 กำหนดเงื่อนไขการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์สำหรับผู้สร้างสรรค์งานด้วยตนเองเป็น 2กรณี คือ (1) กรณีที่ยังไม่ได้มีการโฆษณางาน ผู้สร้างสรรค์ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยหรืออยู่ในราชอาณาจักร หรือเป็นผู้มีสัญชาติไทยหรืออยู่ในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย ตลอดระยะเวลาหรือเป็นส่วนใหญ่ในการสร้างสรรค์งานนั้น และ (2) ในกรณีที่ได้มีการโฆษณางานแล้ว การโฆษณางานนั้นในครั้งแรกได้กระทำขึ้นในราชอาณาจักรหรือในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย หรือในกรณีที่การโฆษณาครั้งแรกได้กระทำนอกราชอาณาจักร หรือในประเทศอื่นที่ไม่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย หากได้มีการโฆษณางานดังกล่าวในราชอาณาจักรหรือในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วยภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้มีการโฆษณาครั้งแรก หรือผู้สร้างสรรค์เป็นผู้มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ใน (1) ในขณะที่มีการโฆษณางานครั้งแรกฉะนั้น หลักเกณฑ์หรือองค์ประกอบที่ทำให้งานสร้างสรรค์ใดเป็นงานสร้างสรรค์อันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ตามที่กล่าวมาข้างต้นจึงเป็นองค์ประกอบความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ที่เป็นสาระสำคัญ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามคำฟ้องว่าผู้เสียหายมีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์เกมของตนเป็นครั้งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2546 และปี 2549 โดยโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีหรือไม่ อันเป็นข้อเท็จจริงซึ่งเป็นสาระสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบความผิดตามข้อหาที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้อง คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิด เป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จำเลยให้การรับสารภาพศาลก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 53 วรรคหนึ่ง , 82 ลงโทษปรับ 100,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 50,000 บาท ให้ยกฟ้องในความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ผู้อื่นเพื่อการค้าตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1) (2), 70 วรรคสอง คืนแผ่นดีวีดีเกมของกลางแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share