แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องไว้แล้วว่า จำเลยที่ 3 ได้ละเลยไม่ควบคุมตรวจตราในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และของ ส.เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องและทำให้ ส.ทุจริตยักยอกเงินไปตามจำนวนในฟ้อง การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ได้รับความเสียหาย แม้ฟ้องโจทก์จะไม่บรรยายว่าจำเลยที่ 3 ไม่ตรวจแบบรายการเสียภาษีบัญชีงบเดือน เงินผลประโยชน์ของแผ่นดินฉบับใด เดือนใด ปีใด จำนวนเท่าใด ไม่ตรวจตัดปีที่ไหน ก็เป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์จะนำสืบ ทั้งจำเลยที่ 3 ก็ให้การต่อสู้คีดได้โดยไม่ผิดหลง ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 จึงไม่เคลือบคลุม
เงินที่ ส.เสมียนพนักงานแผนกสรรพากรอำเภอยักยอกไป เป็นเงินภาษีอากรซึ่งกรมสรรพากรมีอำนาจหน้าที่จัดเก็บตามกฎหมาย กรมสรรพากรเป็นหน่วยราชการขึ้นต่อกระทรวงการคลังโจทก์ เมื่อ ส. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานในบังคับบัญชาของโจทก์จัดเก็บเงินภาษีอากรดังกล่าวมาได้ ย่อมเป็นเงินผลประโยชน์ของแผ่นดินอยู่ในความรับผิดชอบของโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเกี่ยวกับเงินนี้
การมอบอำนาจให้ดำเนินการฟ้องร้องนั้น ย่อมรวมถึงมอบอำนาจให้ดำเนินคดีต่อไปหลังจากฟ้องคดีแล้วด้วย
กรณีข้าราชการกระทำละเมิดต่อทางราชการนั้น จะถือว่ากรมหรือกระทรวงเจ้าสังกัดรู้การละเมิดและตัวผู้ต้องรับผิดตั้งแต่วันที่เจ้าหน้าที่เบื้องต้นในกรมหรือกระทรวงเสนอความเห็นหาได้ไม่ ต้องนับตั้งแต่วันที่อธิบดีหรือรัฐมนตรีพิจารณาเรื่องราวและความเห็นนั้นแล้ว ส. เป็นข้าราชการสังกัดกรมสรรพากรยักยอกทรัพย์ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมสรรพากร กรมสรรพากรเป็นนิติบุคคล มีอำนาจที่จะนำคดีขึ้นสู่ศาลได้ ฉะนั้นถ้ากรมสรรพากรรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนมาเกินหนึ่งปีแล้วไม่มีการฟ้องร้อง คดีย่อมขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 กรมสรรพากรเป็นส่วนราชการสังกัดกระทรวงการคลัง ถ้ากระทรวงการคลังมาเป็นโจทก์ฟ้องภายหลังหนึ่งปีนับแต่กรมสรรพากรรู้ดังกล่าว ก็ต้องถือว่าขาดอายุความเช่นเดียวกัน (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 226,227/2505) อธิบดีกรมสรรพากรกับ อ.ก.พ.กรมได้ประชุมกัน 3 ครั้ง เพื่อพิจารณาหาตัวผู้จะต้องรับผิดในทางแพ่ง กรณี ส.ยักยอกทรัพย์ ในการประชุมครั้งที่ 3 ที่ประชุมเห็นว่าจำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิด แสดงว่าอธิบดีกรมสรรพากรได้รู้ตัวผู้ต้องรับผิดใช้เงินรายนี้ในวันเสร็จสิ้นการประชุมครั้งสุดท้ายนั่นเอง เมื่อกรมสรรพากรรายงานมติการประชุมไปยังกระทรวงการคลัง กระทรวงการคลังพิจารณาแล้วสั่งให้จำเลยที่ 3 รับผิดด้วย และได้ฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีนี้ภายในหนึ่งปีนับแต่กรมสรรพากรรู้ดังกล่าว ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ยังไม่ขาดอายุความ
กรมสรรพากรได้กำหนดวิธีการตรวจตัดปีไว้ให้ตรวจเป็นรายเดือน มีรายละเอียดวิธีตรวจเป็นข้อ ๆ และระบุให้สรรพากรจังหวัดเป็นผู้ตรวจสอบ ส.เสมียนพนักงานแผนกสรรพากรอำเภอได้เริ่มทำการทุจริตยักยอกเงินภาษีอากรที่ ส.รับชำระไว้ไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 จนถึงปลายปี พ.ศ. 2505 ถ้าจำเลยที่ 3 ซึ่งดำรงตำแหน่งสรรพากรจังหวัดปฏิบัติการตรวจตัดปีตามวิธีการที่กำหนดทุกเดือน ก็จะทราบว่ายอดเงินในแบบรายการเสียภาษีกับยอดเงินที่เก็บได้ในเดือนหนึ่ง ๆ ไม่ตรงกัน และเหตุที่ไม่ตรงกันก็เพราะ ส.ได้กระทำการทุจริต แต่จำเลยที่ 3 มิได้ทำการตรวจตัดปีเป็นรายเดือนตามระเบียบ จึงเพิ่งตรวจพบยอดเงินไม่ตรงกันในปลายปี พ.ศ. 2505 แม้จำเลยที่ 3 ได้มอบให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับเจ้าหน้าที่อื่นทำการตรวจสอบแทนก็ตาม จำเลยที่ 3 ผู้เป็นสรรพากรจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย เป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และของ ส. ก็ยังคงต้องรับผิดชอบอยู่นั่นเอง เพราะจำเลยที่ 3 เป็นผู้ควบคุมงาน มีหน้าที่ควบคุมการเก็บหรือรับเงินผลประโยชน์ จะต้องไม่ละเลยการตรวจตราในหน้าที่ตามระเบียบการที่ได้วางไว้ การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายให้โจทก์ได้รับความเสียหายแก่ทรัพย์สินภาษีอากรที่โจทก์จะพึงได้รับ ถือได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นายสถิตย์ วัฒนก้านตง เป็นเสมียนพนักงานแผนกสรรพากร อำเภอเมืองอุดรธานี นายผล คลังทรัพย์จำเลยที่ ๑ เป็นสมุหบัญชีอำเภอโท อำเภอเมือง อุดรธานี นายวีระ กลางโยธีจำเลยที่ ๒ เป็นสมุหบัญชีอำเภอโท อำเภอโนนสัง จังหวัดอุดรธานี รับคำสั่งให้มาช่วยราชการในตำแหน่งผู้ช่วยสรรพากรจังหวัดอุดรธานี นายสงัด อนุรักษ์ จำเลยที่ ๓ เป็นสรรพากรจังหวัดอุดรธานี จำเลยทั้งหมดมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบแบบแผนของทางราชการและมติคณะรัฐมนตรีให้เกิดผลดีแก่ราชการ ทั้งต้องถือปฏิบัติตามแบบธรรมเนียมของราชการ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๔๙๗ แต่จำเลยมิได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวแล้ว เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายระเบียบแบบแผนและคำสั่งของผู้บังคับบัญชาอันชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดตามกฎหมาย
นายสถิตย์ วัฒนก้านตงมีหน้าที่เก็บเงินภาษีการค้าและอากรแสตมป์ แล้วนำลงบัญชีส่งเป็นเงินรายได้ของแผ่นดิน ได้ทำการทุจริตต่อหน้าที่เบียดบังยักยอกเอาเงินที่เก็บได้ตามหน้าที่เป็นของตนเสียดังนี้ คือ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ทุจริตยักยอกเอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวเสีย ๑,๐๘๗ บาท ๓๐ สตางค์ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ทุจริตยักยอกเอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวเสีย ๑๒๑,๙๒๑ บาท ๘๔ สตางค์ รวมเงินที่นายสถิตย์ทุจริตไปเป็นเงิน ๑๒๓,๐๐๙ บาท ๑๔ สตางค์ ดังปรากฏรายละเอียดตามบัญชีท้ายฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ละเลยไม่ควบคุมตรวจตราในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลทั้งสามดังกล่าว จึงเป็นเหตุให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง และทำให้นายสถิตย์ทุจริตยักยอกเงินดังกล่าวแล้วไป และจำเลยที่ ๓ ยังมีหน้าที่ตรวจตัดปีเงินผลประโยชน์ประเภทภาษีการค้า ตามคำสั่งกรมสรรพากรด่วนที่ ๓๙๕๒/๒๔๙๗ ลง ๑๙ มีนาคม ๒๔๙๗ แต่จำเลยที่ ๓ มิได้ตรวจสอบให้เป็นไปตามระเบียบดังกล่าว จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง แม้จำเลยที่ ๓ จะมอบหมายหน้าที่นี้ให้จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ปฏิบัติ จำเลยที่ ๓ ก็ต้องควบคุมให้จำเลยที่ ๒ ปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ถูกต้อง แต่จำเลยที่ ๓ ไม่ควบคุมแต่อย่างใด และมิได้ตรวจตามวิธีการตามคำสั่งด้วยตนเองซ้ำอีก จึงเป็นเหตุให้จำเลยที่ ๓ ไม่พบการทุจริตของนายสถิตย์ และมิได้จัดการแก้ไขดำเนินการป้องกันการกระทำทุจริตของนายสถิตย์ จำเลยที่ ๓ มีหน้าที่ต้องออกไปตรวจตัดปีการเก็บภาษีการค้าและภาษีอื่นยังอำเภอและกิ่งอำเภออีกตามคำสั่งที่กรมสรรพากรกำหนดไว้ แต่จำเลยที่ ๓ มิได้ทำการตรวจตัดปีที่อำเภอเมืองอุดรธานีตามระเบียบ กล่าวคือจำเลยที่ ๓ ได้เอาแบบ ร.ด.๘ ที่ยังมิได้ตรวจสอบให้ถูกต้อง กับแบบ ภ.ค.๔ ที่อำเภอส่งมายังสรรพากรจังหวัดนั้นไปทำการตรวจสอบยันกับหลักฐานการเก็บภาษีการค้าของอำเภอเมืองอุดรธานี และในเดือนทำการตรวจซึ่งยังไม่ถึงกำหนดจัดทำ ร.ด.๘ หรือจัดทำ ร.ด.๘ แล้วแต่ยังมิได้ตรวจสอบกับ ภ.ค.๔ นั้น ก็มิได้นำใบเสร็จรับเงินและแบบ ภ.ค.๔ ซึ่งส่งมายังสรรพากรจังหวัดไปตรวจสอบกับใบเสร็จรับเงินและ ภ.ค.๔ ที่อำเภอเป็นราย ๆ ไป จึงไม่พบการทุจริตของนายสถิตย์ การกระทำของจำเลยที่ ๓ เป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้นายสถิตย์ยักยอกเงินแผ่นดินดังกล่าวข้างต้นไปเป็นเงิน ๑๒๓,๐๐๙ บาท ๑๔ สตางค์ โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงิน ๑๒๓,๐๐๙ บาท ๑๔ สตางค์ ให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ยังมิได้ยื่นคำให้การแก้คดี โจทก์ได้ถอนฟ้องจำเลยที่ ๑ ไป ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า การที่นายสถิตย์ยักยอกเงินไปนั้นมิได้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ ๒ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๓ มิได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงแต่ประการใด คดีนี้ขาดอายุความแล้ว ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอยว่า จำเลยที่ ๓ มิได้ทำการตรวจสอบแบบ ภ.ค.๔ และแบบ ร.ด.๘ นั้นเป็นแบบ ภ.ค.๔ ฉบับเลขรับที่เท่าใด ลงวันที่เท่าใด มีกี่ฉบับ จำเลยที่ ๓ ต่อสู้ไม่ได้ถูกต้องและไม่สามารถต่อสู้ได้อย่างชัดแจ้ง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๓ เพราะคณะกรรมการสอบสวนที่ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีแต่งตั้งขึ้นโดยชอบมีมติว่า จำเลยที่ ๓ ไม่ต้องรับผิดชอบใช้เงิน และคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน กรมสรรพากร ก็ลงมติว่าจำเลยที่ ๓ ไม่ต้องรับผิดชอบชดใช้เงินไม่เป็นการละเมิด ทั้งเงินที่โจทก์อ้างว่าเสียหายทั้งหมดตามฟ้องยังไม่เป็นที่กรมการอำเภอเมืออุดรธานีนำฝากคลังจังหวัดอุดรธานีตามกฎหมาย แต่เป็นยอดเงินที่แตกต่างกันระหว่างเอกสารเท่านั้น โจทก์จึงยังไม่เป็นผู้เสียหาย ผู้เสียหายคือจังหวัดอุดรธานีและกรมสรรพากรซึ่งเป็นนิติบุคคลเท่านั้น ใบมอบอำนาจของโจทก์เป็นใบมอบอำนาจที่ไม่ถูก้อง บัญชีรายละเอียดที่โจทก์ยื่นมานั้นไม่ถูกต้อง ไม่มีลายเซ็นชื่อของสมุหบัญชีและนายอำเภอเมืองอุดรธานี เป็นผู้ลงนามเก็บเงินตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ (แก้ไขเพิ่มเติมถึง พ.ศ. ๒๔๘๙) มาตรา ๑๒๗,๑๒๙ และประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๑ การตรวจพบการทุจริตครั้งนี้ก็เป็นความสามารถของจำเลยที่ ๓ เอง ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาและยังมิได้สืบพยาน โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๒ ไป ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๓ ร่วมรับผิดใช้เงิน ๑๒๓,๐๐๙ บาท ๑๔ สตางค์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงในเบื้องต้นว่า นายสถิตย์ วัฒนก้านตง เสมียนพนักงานแผนกสรรพากรอำเภอเมืองอุดรธานีได้ทุจริตยักยอกเงินภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาล รายได้ของจังหวัดและสุขาภิบาล อากรแสตมป์ที่ชำระเป็นตัวเงินไปในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๕ รวมเป็นเงิน ๑๒๓,๐๐๙ บาท ๑๔ สตางค์
ที่จำเลยที่ ๓ ฎีกาว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมนั้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้แล้วว่า จำเลยที่ ๓ ได้ละเลยไม่ควบคุมตรวจตราในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ และของนายสถิตย์ วัฒนก้านตง เป็นเหตุให้จำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องและทำให้นายสถิตย์ทุจริตยักยอกเงินไปในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ เป็นเงิน ๑,๐๘๗ บาท ๓๐ สตางค์ และในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นเงิน ๑๒๑,๙๒๑ บาท ๘๔ สตางค์ การกระทำของจำเลยที่ ๓ เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ได้รับความเสียหาย ส่วนที่จำเลยอ้างว่าฟ้องโจทก์มิได้บรรยายให้ชัดแจ้งว่าจำเลยไม่ตรวจแบบ ภ.ค.๔ และ ร.ด.๘ ฉบับใด เดือนใด ปีใด จำนวนเท่าใด ไม่ตรวจตัดปีที่ไหนนั้น ก็เป็นแต่เพียงรายละเอียดที่โจทก์จะนำสืบ ทั้งคดีก็ปรากฏว่า จำเลยที่ ๓ ให้การต่อสู้คดีได้โดยไม่ผิดหลง ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุมดังที่จำเลยที่ ๓ ฎีกา
ที่จำเลยที่ ๓ ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๓ เพราะเงินที่นายสถิตย์ยักยอกไปยังมิได้นำส่งเข้าเป็นเงินผลประโยชน์ของแผ่นดิน จึงไม่ใช่เงินของกระทรวงการคลังโจทก์นั้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เงินที่นายสถิตย์ยักยอกไปตามที่ศาลฟังข้อเท็จจริงมานั้นเป็นเงินภาษีอากรซึ่งกรมสรรพากรมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายจัดเก็บจากผู้เสียภาษีอากรกรมสรรพากร เป็นหน่วยราชการ ขึ้นต่อกระทรวงการคลังโจทก์ เงินภาษีอากรดังกล่าวเมื่อนายสถิตย์ผู้เป็นเจ้าพนักงานในบังคับบัญชาของโจทก์จัดเก็บมาได้ย่อมเป็นเงินผลประโยชน์ของแผ่นดินอยู่ในความรับผิดชอบของโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ที่จำเลยที่ ๓ ฎีกาว่า ใบมอบอำนาจโจทก์ไม่ถูกต้อง เพราะมอบอำนาจให้ดำเนินการฟ้องร้องเท่านั้น การที่ทนายโจทก์ดำเนินการอื่นใดนอกจากฟ้องร้องจึงเป็นโมฆะนั้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การมอบอำนาจให้ดำเนินการฟ้องร้องย่อมรวมถึงการมอบอำนาจให้ดำเนินคดีต่อไปหลังจากฟ้องคดีแล้วด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ ๓ จึงปราศจากสาระเช่นกัน
ที่จำเลยที่ ๓ ฎีกาว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ เพราะผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีได้รายงานเรื่องการทุจริตรายนี้พร้อมทั้งตัวผู้จะพึงต้องรับผิดต่อกรมสรรพากรและกระทรวงการคลังโจทก์แล้วตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๗ จะถือเอาการทราบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพียงคนเดียวเป็นหลักวินิจฉัยเรื่องอายุความจึงยังไม่ถูกต้อง นั้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในกรณีที่ข้าราชการกระทำละเมิดต่อทางราชการและต้องใช้ค่าเสียหายนั้น จะถือว่ากรมหรือกระทรวงเจ้าสังกัดรู้การละเมิดและตัวผู้ต้องรับผิดตั้งแต่วันที่เจ้าหน้าที่เบื้องต้นในกรมหรือกระทรวงเสนอความเห็นหาได้ไม่ ต้องนับตั้งแต่วันที่กรมหรือกระทรวง คืออธิบดีหรือรัฐมนตรีพิจารณาเรื่องราวและความเห็นนั้นแล้ว คดีนี้ได้ความว่า นายสถิตย์ วัฒนก้านตง ซึ่งเป็นผู้ยักยอกทรัพย์รายพิพาทเป็นเสมียนพนักงานแผนกสรรพากรอำเภอเมืองอุดรธานี เป็นข้าราชการสังกัดกรมสรรพากร ทรัพย์ที่ถูกยักยอกไปก็เป็นทรัพย์ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมสรรพากร กรมสรรพากรเป็นนิติบุคคลย่อมมีอำนาจที่จะนำคดีขึ้นสู่ศาลได้ ฉะนั้น ถ้ากรมสรรพากรรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนมาเกินหนึ่งปีแล้วไม่มีการฟ้องร้อง คดีก็ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๘ กรมสรรพากรเป็นส่วนราชการสังกัดกระทรวงการคลัง เมื่อกระทรวงการคลังมาเป็นโจทก์ฟ้องภายหลังหนึ่งปีนับแต่กรมสรรพากรรู้ดังกล่าว ก็ต้องถือว่าฟ้องขาดอายุความเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๒๖,๒๒๗/๒๕๐๕ ระหว่างกระทรวงการคลังโจทก์ นายพิมพ์ โสมนัส กับพวก จำเลย คดีจึงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า กรมสรรพากรได้รู้ตัวผู้จะต้องรับผิดใช้เงินรายนี้ตั้งแต่เมื่อใด ได้ความตามคำเบิกความของนายประมวล สุวรรณวัฒนะ พยานโจทก์ว่า การพิจารณาหาตัวผู้รับผิดทางแพ่งสำหรับคดีนี้ กรมสรรพากรได้ประชุมพิจารณา ๓ ครั้ง นายประมวลได้ร่วมประชุมด้วย ๒ ครั้ง คือครั้งที่ ๑ และที่ ๒ ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ชี้แจงข้อเท็จจริง ส่วนการประชุมครั้งที่ ๓ นายประมวลทราบว่าได้ประชุมกันเมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๐๙ โดยจำเลยที่ ๓ ได้ยื่นคำชี้แจงในวันนั้นด้วยตามเอกสารหมาย จ.๘ ผลของการประชุมครั้งที่ ๓ ที่ประชุมเห็นว่าจำเลยที่ ๓ ไม่ต้องรับผิด แต่ให้จำเลยที่ ๑ รับผิดแต่ผู้เดียว นายประมวลได้ทำรายงานตามมติการประชุมครั้งที่ ๓ ให้กระทรวงการคลังพิจารณาเมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน ๒๕๐๙ ที่สุดกระทรวงการคลังสั่งให้จำเลยทั้งสามคนร่วมรับผิดร่วมกันได้ความดังนี้ ศาลฎีกาได้พิเคราะห์คำเบิกความของนายประมวลพยานโจทก์ประกอบกับเอกสารหมาย จ.๘ แล้ว ปรากฏว่าในการประชุมครั้งที่ ๓ อันเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายนั้น ได้ประชุมกันในวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๐๙ และในวันเดียวกันนั้นเอง จำเลยที่ ๓ ได้ยื่นคำชี้แจงตามเอกสารหมาย จ.๘ ต่อที่ประชุมเจ้าหน้าที่ในที่ประชุมได้บันทึกลงในเอกสารหมาย จ.๘ เป็นใจความว่า จำเลยที่ ๓ ได้นำคำชี้แจงฉบับนี้มาอ่านให้ที่ประชุมฟัง เมื่อจำเลยที่ ๓ อ่านจบแล้ว อธิบดีกรมสรรพากรประธานที่ประชุมได้ให้ อ.ก.พ. กรมซักถามข้อความต่าง ๆ ตามสมควรแล้วสั่งให้รับคำชี้แจงของจำเลยที่ ๓ ไว้ บันทึกที่ว่านี้ลงวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๐๐ อันเป็นวันที่ประชุมครั้งที่ ๓ นั้นเอง ผลของการประชุมครั้งที่ ๓ นี้ นายประมวลเบิกความว่า ที่ประชุมเห็นว่าจำเลยที่ ๓ ไม่ต้องรับผิด แต่จำเลยที่ ๑ รับผิดแต่ผู้เดียว ย่อมแสดงว่าอธิบดีกรมสรรพากรได้รู้ตัวผู้จะต้องรับผิดใช้เงินรายนี้ในวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๐๙ อันเป็นวันเสร็จสิ้นการประชุมครั้งสุดท้ายเพื่อหาตัวผู้จะต้องรับผิดนั่นเอง กระทรวงการคลังเป็นโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๑๐ ภายในหนึ่งปีนับแต่กรมสรรพากรรู้ดังกล่าว ฟ้องของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
ที่จำเลยที่ ๓ ฎีกาต่อไปว่า จำเลยมิได้ประมาทเลินเล่อนั้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า นายประมวล สุวรรณวัฒนะ หัวหน้าแผนกควบคุมการเงินกองระเบียบบัญชีกรมสรรพากร นายสมพงษ์ ศรีโพธิ์สุข ประจำแผนกควบคุมการเงินในกองดังกล่าว และนายสอาด งามเหมาะ ข้าราชการบำนาญผู้เคยดำรงตำแหน่งสรรพากรจังหวัดอุดรธานีสืบแทนจำเลยที่ ๓ ประกอบกับหนังสือของกรมสรรพากรที่ ๓๙๕๒/๒๔๙๗ ลงวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๔๙๗ เรื่องการตรวจตัดปีเงินผลประโยชน์ประเภทภาษีการค้าและภาษีการซื้อโภคภัณฑ์ (หมาย จ.๔) แล้ว เห็นได้ว่าการเก็บภาษีประเภทดังกล่าวเป็นรายเดือน ในเดือนหนึ่ง ๆ แต่ละอำเภอมีผู้เสียภาษีเป็นจำนวนมาก การตรวจตัดปี หากจะทำการตรวจหลักฐานการเรียกเก็บเงินและหลักฐานการรับเงินในคราวเดียวกันต่อเมื่อสิ้นปีแล้วย่อมต้องใช้เวลาทำการตรวจอยู่มาก กรมสรรพากรจึงกำหนดวิธีการตรวจตัดปีไว้เป็นรายเดือน มีรายละเอียดวิธีการตรวจเป็นข้อ ๆ ตามที่ปรากฏในหนังสือดังกล่าวนั้น หนังสือฉบับนี้ระบุบ่งให้สรรพากรจังหวัดเป็นผู้ตรวจสอบ ซึ่งทำให้เห็นความมุ่งหมายของกรมสรรพากรได้อย่างชัดแจ้งว่า เพื่อให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งสรรพากรจังหวัดแต่ละจังหวัด ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรจะได้ทราบเป็นรายเดือนไปว่า ประเภทเงิน จำนวนเงินที่ต้องคำนวณเพื่อเสียภาษี อัตราภาษี จำนวนเงินภาษีตามที่ผู้ประกอบการค้าแจ้งมา และจำนวนเงินภาษีที่เจ้าพนักงานได้รับไว้นั้นเป็นการถูกต้องตรงกันหรือไม่ กรณีชำระภาษีเกินกำหนด เจ้าพนักงานอำเภอได้เรียกและรับเงินเพิ่มภาษีไว้ถูกต้องหรือไม่ ถ้าจำนวนเงินไม่ตรงกันหรือการเก็บภาษีไม่ถูกต้อง สรรพากรจังหวัดจะต้องปฏิบัติอย่างไรต่อไป ถ้าจำเลยที่ ๓ ซึ่งดำรงตำแหน่งสรรพากรจังหวัดอุดรธานีได้ปฏิบัติการตรวจตัดปีตามวิธีการในเอกสารหมาย จ.๔ นี้ทุกเดือน ก็จะทราบว่ายอดเงินในแบบ ภ.ค.๔ กับยอดเงินที่เก็บได้ในเดือนหนึ่ง ๆ ในแบบ ร.ด.๘ ข่อง ๕ และข่อง ๑๐ ไม่ตรงกัน และเหตุที่ไม่ตรงกันนี้ก็เพราะนายสถิตย์ วัฒนก้านตง เสมียนพนักงานแผนกสรรพากรอำเภอเมืองอุดรธานีได้กระทำการทุจริตโดยวิธีต่าง ๆ ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.๖ ที่โจทก์อ้าง ข้อเท็จจริงฟังได้ดังกล่าวมาแล้วว่า นายสถิตย์ได้เริ่มทำการทุจริตตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๓ แต่ตามคำเบิกความของจำเลยที่ ๓ เองว่า จำเลยที่ ๓ เพิ่งตรวจพบยอดเงินในแบบ ภ.ง.ด.๙ กับแบบ ภ.ค.๔ ไม่ตรงกันในปลายปี พ.ศ. ๒๕๐๕ และที่เริ่มตรวจพบเช่นนั้นก็เพราะจำเลยที่ ๓ สังเกตเห็นในปลายปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ว่า รายได้ภาษีอากรของอำเภอเมืองอุดรธานีตกต่ำ ดังนี้ ข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยที่ ๓ มิได้ปฏิบัติให้ต้องตามระเบียบว่าด้วยการตรวจตัดปีภาษีการค้าเป็นรายเดือน เพราะมิฉะนั้นแล้วไหนเลยจึงเพิ่งมาทราบการทุจริตของนายสถิตย์เอาเมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ข้อสนับสนุนอีกข้อหนึ่งที่แสดงว่าจำเลยที่ ๓ มิได้ทำการตรวจดังกล่าวก็คือ อากรแสตมป์ซึ่งจะต้องปิดในแบบ ภ.ค.๔ ฉบับละ ๒๐ สตางค์ ก็ปรากฏว่ามีแบบ ภ.ค.๔ มากฉบับที่อำเภอเมืองอุดรธานีส่งไปยังแผนกสรรพากรจังหวัด มิได้ปิดอากรแสตมป์ ซึ่งถ้าจำเลยที่ ๓ ได้ทำการตรวจก็จะสดุดตาพบเห็นได้โดยง่าย แล้วจะได้จัดการให้มีการปิดเสียให้ถูกต้อง แต่แล้วแบบ ภ.ค.๔ เหล่านั้นก็ได้ถูกปล่อยละเลยไม่มีการปิดอากรแสตมป์มาจนปรากฏขึ้นในชั้นศาล ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว การตรวจแบบ ภ.ค.๔ สอบกับยอดเงินตาม ร.ด.๘ นี้ คำสั่งของกรมสรรพากรดังกล่าวข้างต้นระบุไว้ว่าเป็นหน้าที่ของผู้เป็นสรรพากรจังหวัด แม้จำเลยที่ ๓ จะอ้างว่าได้มอบให้นายวีระ กลางโยธี จำเลยที่ ๒ ร่วมกับเจ้าหน้าที่อื่นทำการตรวจสอบแทนก็ตาม จำเลยที่ ๓ ผู้เป็นสรรพากรจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ และนายสถิตย์ วัฒนก้านตง ก็ยังคงต้องรับผิดชอบอยู่นั่นเอง จะต้องไม่ละเลยการตรวจตราในหน้าที่ตามระเบียบการที่ได้วางไว้ ปรากฏตามหนังสือของกระทรวงการคลังที่ ๔๗๔๗๘/๒๔๘๐ ลงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๐ (เอกสารหมาย จ.๑๓) ดังนี้ การกระทำของจำเลยที่ ๓ จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายให้โจทก์ได้รับความเสียหายแก่ทรัพย์สิน ภาษีอากรหรือสิทธิในภาษีอากรที่โจทก์จะพึงได้รับ ถือได้ว่าเป็นการละเมิดต่อโจทก์แล้ว ที่จำเลยที่ ๓ อ้างว่าการทุจริตของนายสถิตย์และความเสียหายของโจทก์เป็นความรับผิดชอบของคณะกรรมการอำเภอเมืองอุดรธานี มิใช่ความรับผิดของเจ้าหน้าที่ระดับจังหวัดจึงไม่ใช่ผลโดยตรงอันเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ ๓ นั้นฟังไม่ขึ้น คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๒/๒๕๑๑ ที่จำเลยที่ ๓ ยกขึ้นอ้าง ข้อเท็จจริงก็หาตรงกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่
พิพากษายืน.