แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
หลังจากโจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยแล้ว โจทก์กับจำเลยไปอยู่กินกันที่บ้านมารดาโจทก์ ต่อมามารดาและพี่สาวโจทก์มีเรื่องทะเลาะกับจำเลย จำเลยกับบุตรจึงต้องออกไปอาศัยอยู่ที่อื่นซึ่งโจทก์ก็ตามไปอยู่ด้วย กรณีจึงมิใช่เรื่องที่จำเลยละทิ้งร้างโจทก์ส่วนการที่โจทก์ไปอยู่กับจำเลยได้ประมาณ 3 เดือน แล้วกลับออกมาอยู่กับมารดาโจทก์โดยอ้างว่ามีเรื่องทะเลาะกับจำเลยและจำเลยไม่ยอมให้โจทก์เข้าบ้านนั้นก็เป็นเรื่องระหองระแหงกันระหว่างสามีภริยาซึ่งย่อมเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดาแต่โจทก์กลับละทิ้งจำเลยและบุตรกลับมาอยู่บ้านมารดาโจทก์โดยไม่สนใจนำพาจำเลยแม้ต่อมาจำเลยจะย้ายบ้านมาอยู่ข้างบ้านมารดาโจทก์ห่างออกไปเพียง 5 ถึง 6 ห้องเพื่อต้องการให้โจทก์มาอยู่กินด้วย แต่โจทก์ก็ไม่มา เมื่อจำเลยต้องย้ายที่อยู่ใหม่ห่างประมาณ 3 ป้ายรถประจำทาง แต่โจทก์ก็ไม่เคยมาหาหรือชักชวนจำเลยกับบุตรให้กลับไปอยู่ด้วยกัน อันเป็นการผิดปกติวิสัยของสามีที่จะพึงมีต่อภริยาแสดงให้เห็นว่าโจทก์สิ้นความรักความผูกพันต่อจำเลยแล้ว พฤติการณ์ของโจทก์จึงเป็นฝ่ายละทิ้งร้างจำเลย มิใช่จำเลยละทิ้งร้างโจทก์
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง เป็นหน้าที่ของบิดามารดาต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ หากไม่อุปการะเลี้ยงดู และให้การศึกษา บุตรผู้เยาว์ย่อมฟ้องเรียกเอาค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ ตามมาตรา 1598/38 และสิทธิที่จะได้ค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้นก็จะสละมิได้ตามมาตรา 1598/41 ฉะนั้น การที่จำเลยซึ่งเป็นมารดาผู้เยาว์ไม่ยอมรับค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากโจทก์ผู้เป็นบิดาที่เสนอให้ ย่อมไม่ทำให้สิทธิที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์เสียไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยากัน จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 14 (ที่ถูก 19) สิงหาคม 2526 และมีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ เด็กหญิงนพรัตน์ สิทธิโชคกุลชัย อายุ 14 ปี เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2528 จำเลยได้พาบุตรผู้เยาว์ไปอยู่ที่อื่นเป็นเวลานาน 10 ปี ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นการจงใจละทิ้งร้างโจทก์ไปเกินกว่า 1 ปี และเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาขอให้พิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกัน
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยมิได้ประพฤติตัวตามที่โจทก์อ้างแต่ครอบครัวโจทก์ยุยงให้โจทก์ละทิ้งจำเลยไป และโจทก์ได้ละทิ้งจำเลยและบุตรผู้เยาว์เหตุที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เพราะโจทก์มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับหญิงอื่น และต้องการทำการสมรสกับหญิงอื่น ก่อนคดีนี้โจทก์เคยฟ้องหย่าจำเลยที่ศาลชั้นต้น ต่อมาโจทก์ถอนฟ้องไป โจทก์ละทิ้งจำเลยและบุตรไป ปล่อยให้จำเลยเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ตั้งแต่อายุ 2 ปีเศษโดยที่โจทก์ไม่เคยให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดู ขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ให้แก่จำเลยในอัตราเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 10 ปี คิดเป็นเงิน 600,000 บาท และจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ให้แก่จำเลยต่อไปในอัตราเดียวกันจนกว่าผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะ กับให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียว
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยเป็นฝ่ายละทิ้งโจทก์ไปและมิได้ปฏิบัติหน้าที่ของภริยาจำเลยจึงต้องรับภาระเกี่ยวกับค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเพียงฝ่ายเดียว ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูจำนวน 300,000 บาท แก่จำเลยและให้โจทก์ชำระในอัตราเดือนละ 2,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องแย้ง (วันที่ 5 มกราคม 2541) จนกว่านางสาวนพรัตน์ สิทธิโชคกุลชัย ผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะ กับให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองนางสาวนพรัตน์ สิทธิโชคกุลชัย ผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียว ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการแรกว่า จำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์ไปเกินหนึ่งปีหรือไม่ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า หลังจากโจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยแล้ว โจทก์จำเลยได้อยู่กินเป็นสามีภริยากันที่บ้านมารดาโจทก์โดยโจทก์ใช้เป็นร้านซ่อมไดนาโม โจทก์จำเลยอาศัยอยู่ที่บ้านมารดาโจทก์ได้ประมาณ 2 ปี จำเลยมีเรื่องทะเลาะกับมารดาโจทก์และพี่สาวโจทก์ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2528 จำเลยจึงพาบุตรออกจากบ้านมารดาโจทก์ไปเช่าบ้านอยู่ที่ถนนเพชรเกษม ซอย 28 เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานครโจทก์ตามไปพักกับจำเลยที่บ้านดังกล่าวได้ประมาณ 3 เดือน ก็มีเรื่องทะเลาะโต้เถียงกันเป็นประจำ โจทก์จึงกลับมาอยู่ที่บ้านมารดาโจทก์ ระหว่างที่จำเลยพักอยู่ที่บ้านถนนเพชรเกษม ซอย 28 โจทก์เคยให้นางอนงค์ ไตรธรรม นำเงินไปให้จำเลยแต่จำเลยไม่ยอมรับ ต่อมาจำเลยได้ย้ายมาเช่าบ้านอยู่ที่ข้างบ้านมารดาโจทก์ห่างออกไปประมาณ5 ถึง 6 ห้อง หลังจากนั้นจำเลยได้ย้ายไปพักอยู่ที่ถนนเจริญนคร 14 ห่างจากบ้านโจทก์ประมาณ 3 ป้ายรถประจำทาง พฤติการณ์ของจำเลยเป็นการละทิ้งร้างโจทก์ เห็นว่า หลังจากโจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยแล้ว โจทก์กับจำเลยได้อยู่กินฉันสามีภริยาที่บ้านมารดาโจทก์ ซึ่งโจทก์ใช้เป็นร้านซ่อมไดนาโมด้วยที่บ้านดังกล่าวมีมารดาโจทก์และพี่สาวโจทก์อาศัยอยู่ด้วย จำเลยเป็นบุตรสะใภ้เข้ามาอยู่ในบ้านมารดาโจทก์เชื่อว่าจำเลยได้พยายามปรับตัวให้เข้ากับญาติพี่น้องทางฝ่ายโจทก์ในฐานะเป็นผู้เข้ามาอยู่ใหม่ แต่มารดาโจทก์และพี่สาวโจทก์กับจำเลยก็มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกัน ทำให้จำเลยกับบุตรต้องออกไปอาศัยอยู่ที่บ้านถนนเพชรเกษม ซอย 28 โจทก์ได้ตามไปพักอาศัยอยู่ด้วยเป็นเวลาประมาณ 3 เดือน แต่ต่อมาโจทก์ได้กลับไปอยู่ที่บ้านมารดาโจทก์อีก โดยไม่ยอมกลับไปอยู่อาศัยกับจำเลยอีก ฉะนั้น การที่จำเลยย้ายออกจากบ้านมารดาโจทก์ไปอยู่ที่บ้านที่ถนนเพชรเกษม ซอย 28 น่าจะเป็นเพราะจำเลยมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกับมารดาโจทก์และพี่สาวโจทก์จนจำเลยไม่อาจทนสภาพเช่นนั้นได้ต่อไปต้องพาบุตรไปหาที่อยู่ใหม่ แต่โจทก์ก็ยังคงตามไปอยู่กับจำเลยและบุตร กรณีไม่ใช่เป็นเรื่องที่จำเลยละทิ้งร้างโจทก์ แต่เป็นการที่จำเลยต้องออกจากบ้านมารดาโจทก์ เพราะมีสาเหตุกับมารดาโจทก์และพี่สาวโจทก์นั่นเอง ส่วนการที่โจทก์อยู่กับจำเลยได้ประมาณ 3 เดือน โจทก์ก็กลับออกมาอยู่ที่บ้านมารดาโจทก์โดยโจทก์อ้างว่ามีเรื่องทะเลาะกับจำเลยและจำเลยไม่ยอมให้โจทก์เข้าบ้านซึ่งก็เป็นเรื่องระหองระแหงกันระหว่างสามีภริยา ย่อมเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา แต่โจทก์กลับละทิ้งจำเลยและบุตรกลับมาอยู่บ้านมารดาโจทก์โดยไม่สนใจนำพาจำเลย ต่อมาจำเลยเองกลับย้ายมาเช่าบ้านพักอาศัยอยู่ข้างบ้านมารดาโจทก์ห่างออกไปประมาณ 5 ถึง 6 ห้อง ซึ่งจำเลยก็เบิกความว่าเพื่อต้องการให้โจทก์มาอยู่กินด้วย แต่โจทก์ก็ไม่มาแสดงว่าจำเลยยังหวังว่าโจทก์จะกลับมาอยู่กินฉันสามีภริยาดังเดิม หลังจากบ้านที่จำเลยอยู่อาศัยหมดสัญญาเช่า จำเลยก็ย้ายที่อยู่ใหม่ ซึ่งอยู่ห่างออกไปจากบ้านมารดาโจทก์ประมาณ 3 ป้ายรถประจำทาง แม้จำเลยกับบุตรจะมาอยู่อาศัยใกล้บ้านพักมารดาโจทก์ แต่โจทก์ก็ไม่เคยมาหาจำเลยหรือชักชวนจำเลยกับบุตรไปอยู่ที่บ้านมารดาโจทก์ดังเดิมหรือหาที่อยู่ใหม่ อันเป็นการผิดปกติวิสัยของสามีที่จะพึงมีต่อภริยาแสดงว่าโจทก์สิ้นความรักความผูกพันต่อจำเลยแล้วพฤติการณ์ของโจทก์เป็นฝ่ายละทิ้งร้างจำเลย มิใช่จำเลยเป็นฝ่ายละทิ้งร้างโจทก์ดังที่โจทก์ฟ้อง
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า โจทก์จะต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์หรือไม่ เพียงใด โจทก์อ้างว่าการที่จำเลยไม่ยอมรับเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์จากโจทก์ถือว่าจำเลยสละสิทธิเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์แล้วเห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง เป็นหน้าที่ของบิดามารดาต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์หากบิดามารดาไม่อุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์ บุตรผู้เยาว์ย่อมฟ้องเรียกเอาค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้นได้ตามมาตรา 1598/38 และสิทธิที่จะได้ค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้นจะสละมิได้ตามมาตรา 1598/41 การที่จำเลยซึ่งเป็นมารดาบุตรผู้เยาว์ไม่ยอมรับค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากโจทก์ซึ่งเป็นบิดาที่ได้เสนอให้ ย่อมไม่ทำให้สิทธิที่จะได้ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์เสียไป โจทก์กล่าวในฎีกาว่าโจทก์ยินดีที่จะจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่บุตรเดือนละ 2,000 บาท ได้ความว่านับแต่จำเลยกับบุตรผู้เยาว์ออกมาจากบ้านมารดาโจทก์เมื่อปี 2528 จำเลยเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาบุตรผู้เยาว์ตลอดมา ขณะฟ้องคดีบุตรผู้เยาว์อายุ 14 ปี จำเลยยังเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์ตลอดมาดังเดิม จำเลยเป็นผู้ให้การศึกษาบุตรผู้เยาว์โดยในชั้นอนุบาลถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำเลยให้บุตรผู้เยาว์เข้าเรียนที่โรงเรียนซางตาครู้สคอนแวนท์ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชน ค่าเล่าเรียนปีละประมาณ 20,000 บาท ปัจจุบันบุตรผู้เยาว์ศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนศึกษานารีซึ่งเป็นโรงเรียนของรัฐบาล โจทก์ไม่เคยช่วยเหลือค่าอุปการะเลี้ยงดูตลอดมาเป็นเวลา 12 ปี คิดเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียนประมาณ 240,000 บาท นอกจากจำเลยจะต้องรับภาระค่าศึกษาเล่าเรียนของบุตรผู้เยาว์แล้ว จำเลยจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ที่นอกเหนือจากค่าศึกษาเล่าเรียนอีกด้วย ซึ่งโจทก์ไม่เคยส่งเสียค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าศึกษาเล่าเรียนให้แก่บุตรผู้เยาว์เลย จะมีบ้างก็เพียงจำนวนเล็กน้อยเท่านั้น ภาระดังกล่าวตกแก่จำเลยแต่เพียงผู้เดียว เงินจำนวน 60,000 บาท ที่โจทก์อ้างว่าฝากไว้ให้บุตรผู้เยาว์ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยหรือบุตรผู้เยาว์มีสิทธิถอนเงินจำนวนดังกล่าวหรือไม่ จำเลยให้การศึกษาและอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์คนเดียวตลอดมาจนผู้เยาว์เติบใหญ่ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่บุตรผู้เยาว์ 300,000 บาทนั้น เหมาะสมแล้ว สำหรับค่าอุปการะเลี้ยงดูรายเดือนนั้น โจทก์ยินดีจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่บุตรผู้เยาว์เดือนละ 2,000 บาท จนกว่าบุตรผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะ แม้โจทก์จะอ้างว่ามีรายได้เดือนละ 7,000 บาท แต่หากนำมาใช้จ่ายเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าศึกษาเล่าเรียนแก่บุตรผู้เยาว์เดือนละ 2,500 บาท ก็ไม่เป็นภาระแก่โจทก์มากนักที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้เดือนละ 2,500 บาท นับว่าเป็นจำนวนใกล้เคียงกับความประสงค์และความสามารถของโจทก์ผู้ให้แล้วไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน