แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่โจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13 แต่งตั้งโจทก์ที่ 2เป็นผู้แทนในการดำเนินคดีนั้น เป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาฯ มาตรา 35วรรคสามและวรรคสี่ ภายหลังได้รับแต่งตั้งแล้วโจทก์ที่ 2 เบิกความเป็นพยานอย่างไรก็ต้องถือว่าคำเบิกความดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันถึงโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13 ตามข้อกำหนดศาลแรงงานว่าด้วยการแต่งตั้งผู้แทนโจทก์ในการดำเนินคดีข้อ 5 ดังนั้นแม้โจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13 จะมิได้เบิกความด้วยตนเองถึงเรื่องคำเตือนของพนักงานตรวจแรงงานที่ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13 ตามหนังสือที่ระบุจำนวนเงินที่จำเลยจะต้องจ่ายแก่โจทก์แต่ละคนอย่างชัดแจ้งก็ตาม ก็ต้องถือว่าคำเบิกความของโจทก์ที่ 2 ในเรื่องดังกล่าวมีผลผูกพันถึงโจทก์ที่ 3ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13 ด้วย
ย่อยาว
คดีทั้งสิบสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณากับคดีอื่นอีกสิบสำนวน โดยเรียกโจทก์ทั้งสิบสำนวนนี้ว่าโจทก์ที่ 3 ที่ 4และที่ 6 ถึงที่ 13 ตามลำดับ แต่คดีอื่นยุติไปแล้วโดยโจทก์ถอนฟ้องในระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลางบางส่วนและยุติไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางบางส่วน คงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะคดีสิบสำนวนนี้
โจทก์ทั้งสิบสำนวนฟ้องเป็นใจความว่า จำเลยมีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการรักษาความปลอดภัยจำเลยจ้างโจทก์ทั้งสิบเข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ได้รับค่าจ้างอัตราวันละตามที่ระบุในคำฟ้องโจทก์แต่ละสำนวน กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 17ของเดือน ระหว่างทำงานจำเลยค้างจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ทั้งสิบตามจำนวนที่ระบุในคำฟ้องของโจทก์แต่ละสำนวน โจทก์ทั้งสิบลาออกจากงานและทวงถามแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมจ่าย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสิบตามฟ้อง
จำเลยทั้งสิบสำนวนให้การว่า จำเลยไม่ได้ค้างจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ทั้งหมด โจทก์ทำหนังสือปลดเปลื้องสิทธิเรียกร้องไว้แก่จำเลยเป็นการประนีประนอมยอมความเพื่อระงับข้อพิพาทแล้ว คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ที่ 1จำนวน 5,142 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 5,508 บาท โจทก์ที่ 14 จำนวน11,089 บาท โจทก์ที่ 15 จำนวน 1,333 บาท โจทก์ที่ 16 จำนวน9,440 บาท โจทก์ที่ 17 จำนวน 10,633 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ที่ 5 จำนวน 9,926บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 มิถุนายน2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 3 ที่ 4และที่ 6 ถึงที่ 13
โจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13 ว่า คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางที่พิพากษายกฟ้องโจทก์ดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังยุติได้ว่าในการดำเนินคดีนี้โจทก์ที่ 3ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13 ได้แต่งตั้งให้โจทก์ที่ 2 และที่ 12 เป็นผู้แทนในการดำเนินคดีตามบันทึกการแต่งตั้งผู้แทนโจทก์ฉบับลงวันที่ 23 มิถุนายน2542 และในวันที่ 18 มกราคม 2543 โจทก์ที่ 2 ได้เบิกความเป็นพยานโจทก์ความว่าในระหว่างการทำงานกับจำเลยนั้น จำเลยค้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้าง โจทก์ที่ 2 กับพวกได้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานตรวจแรงงานเขตพื้นที่บึงกุ่มตามบันทึกคำร้องทุกข์เอกสารหมาย จ.5ต่อมาพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำเตือนให้จำเลยจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ที่ 2 กับพวก ตามเอกสารหมาย จ.7 (ที่ถูกเอกสารหมาย จ.20พร้อมรายละเอียดแนบท้าย) เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 35 วรรคสามและวรรคสี่บัญญัติไว้ความว่า ในกรณีที่มีโจทก์หลายคน ศาลจะจัดให้โจทก์เหล่านั้นแต่งตั้งโจทก์คนใดคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้แทนในการดำเนินคดีก็ได้ และวิธีการแต่งตั้งผู้แทนโจทก์ดังกล่าวให้เป็นไปตามข้อกำหนดของศาลแรงงาน และข้อกำหนดศาลแรงงานว่าด้วยการแต่งตั้งผู้แทนโจทก์ในการดำเนินคดีข้อ 5 กำหนดว่า “ผู้แทนโจทก์ในการดำเนินคดีมีอำนาจดำเนินการแทนโจทก์ทุกคนตั้งแต่เริ่มคดีหรือตั้งแต่ได้รับแต่งตั้งแล้วแต่กรณี และให้ถือว่าการกระทำของผู้แทนโจทก์ในการดำเนินคดีดังกล่าวผูกพันโจทก์ทุกคน” การที่โจทก์ที่ 3ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13 แต่งตั้งโจทก์ที่ 2 เป็นผู้แทนในการดำเนินคดีนั้นเป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 35 วรรคสามและวรรคสี่ฉะนั้นภายหลังจากที่ได้รับแต่งตั้งแล้ว การที่โจทก์ที่ 2 เบิกความเป็นพยานในคดีจึงต้องถือว่าคำเบิกความของโจทก์ที่ 2 มีผลผูกพันถึงโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13 ด้วย การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าทางพิจารณาโจทก์นำสืบเพียงว่าโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6ถึงที่ 13 ได้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานตรวจแรงงานตามเอกสารหมายจ.5 โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13 ได้สาบานตนและให้การต่อพนักงานตรวจแรงงานหรือเบิกความต่อศาลว่าจำเลยค้างจ่ายค่าจ้าง ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยค้างจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13 นั้น เห็นได้ว่า คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางดังกล่าวมิได้พิจารณาเกี่ยวกับคำเบิกความของโจทก์ที่ 2 โดยเฉพาะในเรื่องคำเตือนของพนักงานตรวจแรงงานที่ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายแก่ลูกจ้างซึ่งรวมทั้งโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13 ตามเอกสารหมาย จ.20 และรายละเอียดแนบท้ายหนังสือดังกล่าวซึ่งระบุถึงจำนวนเงินที่จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ดังกล่าวอย่างชัดแจ้ง ทั้งนี้แม้โจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13จะมิได้เบิกความอ้างเอกสารหมาย จ.20 ด้วยตนเองก็ตามก็ต้องถือว่าคำเบิกความของโจทก์ที่ 2 ในเรื่องดังกล่าวมีผลผูกพันถึงโจทก์ที่ 3ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13 ด้วย จึงเป็นกรณีที่ศาลแรงงานกลางมิได้รับฟังพยานหลักฐานอันเป็นสาระแก่คดีซึ่งอาจทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไปได้ คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางที่ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 3 ที่ 4และที่ 6 ถึงที่ 13 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางที่พิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13 แล้วให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยคดีของโจทก์ดังกล่าวและมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง