คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 667/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บริษัทจำเลยกับบริษัท บ. จำกัด ปรับปรุงองค์กรโดยได้รวมคลังสินค้าและพนักงานเข้าด้วยกันเพื่อความเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันและลดค่าใช้จ่าย ซึ่งจำเป็นต้องลดจำนวนพนักงานลงด้วยที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะจำเลยมีการเปลี่ยนแปลงหน่วยงานในองค์กร เพื่อความเหมาะสมและความอยู่รอดของจำเลยโดยรวมคลังสินค้าและพนักงานกับบริษัท บ. จำกัด จนเหลือคลังสินค้าแห่งเดียวและมีตำแหน่งผู้จัดการคลังสินค้าเพียงตำแหน่งเดียว เมื่อจำเลยเห็นว่า ร. มีความรู้เกี่ยวกับการบริหารคลังสินค้าและคอมพิวเตอร์เหมาะสมกว่าโจทก์ จึงคัดเลือก ร. ไว้ทำงานต่อไปแล้วเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ปรากฏว่าเป็นการเลือกปฏิบัติหรือกลั่นแกล้งโจทก์ จึงนับว่ามีเหตุจำเป็นอันสมควรในการเลิกจ้าง กรณีจึงมิใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายเป็นเงิน 2,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีสาเหตุเพียงพอ เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจำนวน 850,000 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 บัญญัติว่า “การพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทนโดยให้ศาลคำนึงถึงอายุของลูกจ้างระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้าง และเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประกอบการพิจารณา” การเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามบทบัญญัติดังกล่าวหมายถึง การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่มีสาเหตุหรือมีสาเหตุอยู่บ้าง แต่มิใช่สาเหตุที่จำเป็นหรือสมควรจะต้องเลิกจ้างลูกจ้างนั้น คดีนี้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อปี 2540 ถึง 2541 บริษัทจำเลยกับบริษัทเบอร์ลี่ยุคเกอร์ จำกัด ปรับปรุงองค์กรโดยได้รวมคลังสินค้าและพนักงานเข้าด้วยกันเพื่อความเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันและลดค่าใช้จ่าย ซึ่งจำเป็นต้องลดจำนวนพนักงานลงด้วย จึงเหลือตำแหน่งผู้จัดการคลังสินค้าเพียงตำแหน่งเดียว แต่มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการคลังสินค้า 2 คน คือโจทก์กับนายรังสี จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 เห็นว่า ที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ก็เพราะจำเลยมีการเปลี่ยนแปลงหน่วยงานในองค์กร เพื่อความเหมาะสมและความอยู่รอดของจำเลยโดยรวมคลังสินค้าและพนักงานกับบริษัทเบอร์ลี่ยุคเกอร์ จำกัด จนเหลือคลังสินค้าแห่งเดียวและมีตำแหน่งผู้จัดการคลังสินค้าเพียงตำแหน่งเดียว เมื่อจำเลยพิจารณาแล้วเห็นว่านายรังสีมีความรู้เกี่ยวกับการบริหารคลังสินค้าและคอมพิวเตอร์เหมาะสมกว่าโจทก์ จึงคัดเลือกนายรังสีไว้ทำงานต่อไปแล้วเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ปรากฏว่าเป็นการเลือกปฏิบัติหรือกลั่นแกล้งโจทก์ เช่นนี้การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงนับว่ามีเหตุจำเป็นอันสมควรในการเลิกจ้าง กรณีจึงมิใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม…
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share