คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1106/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จ. เภสัชกร 8 และ ศ. เภสัชกร 5 กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ถือเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มีหน้าที่ตรวจสอบสถานที่ผลิต เก็บ และขายวัตถุออกฤทธิ์ดังกล่าว รวมทั้งตรวจสอบตามร้านขายยาโดยทั่วไป และได้พบเห็นจำเลยทั้งสองกระทำผิดซึ่งหน้า ดังนั้น การตรวจค้นร้านขายยาภักดีเภสัชสถานที่เกิดเหตุและจับกุมจำเลยทั้งสอง จึงกระทำโดยชอบ ทั้งเป็นการรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินการเป็นขั้นตอนในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 เมื่อได้แจ้งความดำเนินคดีต่อพนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุและพนักงานสอบสวนได้สอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานโดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 4, 6, 13 ทวิ, 62, 89, 106, 116 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91 ริบเฟนเตอมีนให้แก่กระทรวงสาธารณสุข และริบเงินสด จำนวน 720 บาท ของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89 จำคุก 5 ปี จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เป็นความผิดสองกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษจำคุกกระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 10 ปี จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและทางพิจารณานำสืบรับว่า มีเฟนเตอมีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อขายและขาย นับว่าเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี 8 เดือน ริบเฟนเตอมีนของกลางให้แก่กระทรวงสาธารณสุขและริบเงินสดของกลาง จำนวน 720 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 64, 91 จำคุกกระทงละ 3 ปี และปรับกระทงละ 120,000 บาท รวมจำคุก 6 ปี และปรับ 240,000 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกกระทงละ 2 ปี และปรับกระทงละ 80,000 บาท รวมจำคุก 4 ปี และปรับ 160,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับเป็นระยะเวลาไม่เกินกระทงละ 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง
นายจิรวัฒน์ เภสัชกร 8 และนางสาวโศภิต เภสัชกร 5 กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข กับพวกร่วมกันจับกุมจำเลยทั้งสองพร้อมกับยึดยาลดความอ้วน จำนวน 116 เม็ด และเงินสด 720 บาท ไว้เป็นของกลาง ยาลดความอ้วนดังกล่าวเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ชนิดเฟนเตอมีน หนัก 41.76 กรัม ตามรายงานการตรวจพิสูจน์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ในปัญหาข้อกฎหมายว่า พยานโจทก์มิใช่เจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่ตรวจค้นและมิได้มีการแจ้งความไว้ก่อน ทั้งไม่มีหมายจับหรือหมายค้น การตรวจค้นจับกุมไม่ชอบ พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า นายจิรวัฒน์และนางสาวโศภิตเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มีหน้าที่ตรวจสอบสถานที่ผลิต เก็บ และขายวัตถุออกฤทธิ์ดังกล่าว รวมทั้งตรวจสอบตามร้านขายยาโดยทั่วไป และได้พบเห็นจำเลยทั้งสองกระทำผิดซึ่งหน้า ดังนั้น การตรวจค้นจับกุมร้านขายยาภักดีเภสัชสถานที่เกิดเหตุและจำเลยทั้งสองจึงกระทำโดยชอบ ทั้งเป็นการรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินการเป็นขั้นตอนในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 แล้ว เมื่อได้แจ้งความดำเนินคดีต่อพนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุและพนักงานสอบสวนได้สอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานโดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้…
พิพากษายืน.

Share