คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6663/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะจำเลยกระทำความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2539 การเสพเมทแอมเฟตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 62 ซึ่งจำเลยผู้กระทำความผิดต้องรับโทษตามมาตรา 106 ตรี ต่อมาก่อนการพิจารณาของศาลฎีกาได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 97(พ.ศ. 2539) ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2539 ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อและจัดแบ่งประเภทวัตถุออกฤทธิ์ ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 เดิมทุกฉบับ และให้วัตถุออกฤทธิ์ที่ระบุชื่อในบัญชีท้ายประกาศดังกล่าวเป็นวัตถุออกฤทธิ์ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ. 2518 ซึ่งตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าวไม่ได้ระบุให้เมทแอมเฟตามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์อีกต่อไป และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 135(พ.ศ. 2539) เรื่องระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2539 ระบุไว้ในบัญชีท้ายประกาศลำดับที่ 20 ว่าเมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522เท่านั้น จึงมีผลให้การเสพเมทแอมเฟตามีนเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 57 ผู้กระทำความผิดต้องรับโทษตามมาตรา 91 และไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518อีกต่อไป อันเป็นกรณีกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ซึ่งต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 วรรคแรก สำหรับข้อหาความผิดฐานผู้ได้รับใบอนุญาตปฎิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 102(3 ตรี) และ 127 ทวิแม้การเสพเมทแอมเฟตามีน จะไม่เป็นความผิดตามมาตรา 102(3 ตรี) เพราะภายหลังการกระทำความผิดดังกล่าวเมทแอมเฟตามีน ไม่ถือเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท แต่ถือว่าเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษก็ตาม แต่ความผิดฐานผู้ได้รับใบอนุญาตปฎิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถเสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษยังคงถือว่าเป็นความผิดอยู่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 102(3 ทวิ) และมาตรา 127 ทวิและมีโทษตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย มิได้ถูกยกเลิกไป จึงมิใช่กรณีที่มีบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติภายหลังยกเลิกความผิดดังกล่าวหรือบัญญัติให้เป็นคุณตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2และ 3 แต่อย่างใด ดังนี้ เมื่อไม่มีกรณีที่จะต้องปรับบทด้วยกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง การกระทำของจำเลยยังคงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 102(3 ตรี) และ 127 ทวิ ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะกระทำความผิด ส่วนข้อหาความผิดฐานจำเลยเป็นผู้ขับขี่เสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทกลุ่มแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง นั้น เมื่อภายหลังการกระทำความผิดดังกล่าวเมทแอมเฟตามีนไม่ถือเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อไปแต่ถือว่าเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135(พ.ศ. 2539) ดังกล่าว และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ไม่มีบทบัญญัติลงโทษผู้ขับขี่ซึ่งเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษอันเป็นกรณีที่บทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังการกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป ซึ่งต้องให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง จำเลยจึงไม่มีความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว และศาลไม่อาจสั่งจำเลยให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ของจำเลย ตามบทกฎหมายดังกล่าวตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ได้ ปัญหานี้แม้คู่ความไม่ได้ฎีกาขึ้นมาศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหานี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 185,215 และ 225การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทคือเฉพาะบทความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ. 2518 มาตรา 62 ตรี และ 106 ตรี และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 102(3 ตรี) และ 127 ทวิเท่านั้น ซึ่งต้องลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิต และประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 62 ตรี และ 106 ตรี อันเป็นบทหนักที่สุด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2539 เวลากลางวันจำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2ไม่ทราบจำนวนเข้าสู่ร่างกายของจำเลยโดยการรับประทานและไม่ได้รับการยกเว้นใด ๆ ตามกฎหมาย หลังจากที่จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนแล้ว จำเลยได้ขับรถบรรทุกไปตามถนนสายท่าตูม – สุรินทร์ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 6, 62 ตรีและ 106 ตรี พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิและ 157 ทวิ พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 102, 102(3 ตรี) และ 127 ทวิ กับสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่มีกำหนดไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 6, 62 ตรีและ 106 ตรี พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง และ 157 ทวิ วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 102, 102(3 ตรี) และ 127 ทวิการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด จำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำคุก 6 เดือน และปรับ10,000 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี กับให้คุมความประพฤติจำเลยโดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 2 เดือนต่อครั้ง ภายในกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56และให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ของจำเลยมีกำหนด 6 เดือนไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุก
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่รอการลงโทษจำคุกไม่ลงโทษปรับ และไม่คุมความประพฤติ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุก
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ขณะกระทำความผิดเมื่อวันที่ 24มิถุนายน 2539 การเสพเมทแอมเฟตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 62 ตรี ผู้กระทำความผิดต้องรับโทษตามมาตรา 106 ตรี ซึ่งกำหนดระวางโทษจำคุกไว้ตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท ต่อมาก่อนการพิจารณาของศาลฎีกาได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 97 (พ.ศ. 2539) ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2539 ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อและจัดแบ่งประเภทวัตถุออกฤทธิ์ ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 เดิมทุกฉบับ และให้วัตถุออกฤทธิ์ที่ระบุชื่อในบัญชีท้ายประกาศดังกล่าวเป็นวัตถุออกฤทธิ์ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ. 2518 ซึ่งตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าวไม่ได้ระบุให้เมทแอมเฟตามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์อีกต่อไป และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 135 (พ.ศ. 2539) เรื่อง ระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ลงวันที่23 กรกฎาคม 2539 ระบุไว้ในบัญชีท้ายประกาศ ลำดับที่ 20ว่าเมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เท่านั้น จึงมีผลให้การเสพเมทแอมเฟตามีน เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 57 ผู้กระทำความผิดต้องรับโทษตามมาตรา 91 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหนึ่งแสนบาท และไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ. 2518 อีกต่อไป สำหรับข้อหาความผิดฐานผู้ได้รับใบอนุญาตปฎิบัติหน้าที่เป็นผู้ปฎิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 102(3 ตรี) และ 127 ทวิ แม้การเสพเมทแอมเฟตามีนจะไม่เป็นความผิดตามมาตรา 102(3 ตรี)เพราะภายหลังการกระทำความผิดดังกล่าวเมทแอมเฟตามีนไม่ถือเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทแต่ถือว่าเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษก็ตาม แต่ความผิดฐานผู้ได้รับใบอนุญาตปฎิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษยังคงถือว่าเป็นความผิดอยู่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 102(3 ทวิ) และมาตรา 127 ทวิ และมีโทษตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายเหมือนกันมิได้ถูกยกเลิกไป จึงมิใช่กรณีที่มีบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติภายหลังยกเลิกความผิดดังกล่าวหรือบัญญัติให้เป็นคุณตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 และ 3 แต่อย่างใด ไม่มีกรณีที่จะต้องปรับบทด้วยกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง การกระทำของจำเลยยังคงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 102(3 ตรี) และ 127 ทวิ ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะกระทำความผิด ส่วนข้อหาความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทกลุ่มแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง และ 157 ทวิ วรรคหนึ่ง นั้น เมื่อภายหลังการกระทำความผิดดังกล่าว เมทแอมเฟตามีน ไม่ถือเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อไปแต่ถือว่าเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135 (พ.ศ. 2539) ดังกล่าวและพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ไม่มีบทบัญญัติลงโทษผู้ขับขี่ซึ่งเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษอันเป็นกรณีที่บทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังการกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป ซึ่งต้องให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2จำเลยจึงไม่มีความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว และไม่อาจสั่งจำเลยให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ของจำเลยมีกำหนด 6 เดือนตามบทกฎหมายดังกล่าวตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ได้ ปัญหานี้แม้คู่ความไม่ได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหานี้ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 185, 215 และ 225 การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทคือเฉพาะบทความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 62 ตรี และ106 ตรีและพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 102(3 ตรี) และ 127 ทวิ ซึ่งต้องลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 62 ตรี และ106 ตรี อันเป็นบทหนักที่สุด
ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้น เห็นว่าไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษแก่จำเลย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่งและ 157 ทวิ วรรคหนึ่ง และให้ยกคำขอให้สั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ของจำเลยมีกำหนด 6 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share