คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6663/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์อ้างว่าได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทของว. จนได้กรรมสิทธิ์แล้วแต่โจทก์มิได้ดำเนินการให้มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนต่อมาค.ซื้อที่ดินพิพาทจากว. เมื่อไม่ปรากฏว่าได้ซื้อมาโดยสุจริตหรือไม่อย่างไรก็ย่อมเป็นไปตามข้อสันนิษฐานอันเป็นคุณต่อค. ผู้ซื้อว่ากระทำการโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา6ถือว่าค. ซื้อที่ดินพิพาทจากว. โดยสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้วโจทก์ไม่อาจอ้างสิทธิการครอบครองปรปักษ์ขึ้นใช้ยันค. ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1299วรรคสองหลังจากนั้นจำเลยได้รับโอนที่ดินพิพาทจากค. จำเลยจะรับโอนโดยสุจริตหรือไม่อย่างไรโจทก์ผู้ครอบครองปรปักษ์ก็ไม่อาจยกสิทธิของตนขึ้นใช้ยันจำเลยผู้รับโอนต่อมาได้เพราะสิทธิของโจทก์ผู้ครอบครองปรปักษ์ขาดตอนไปแล้วตั้งแต่ผู้รับโอนทางทะเบียนโดยสุจริตคนแรกแม้โจทก์จะยังคงครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาแต่การครอบครองในช่วงหลังที่ค. และจำเลยรับโอนกรรมสิทธิ์มายังไม่ครบ10ปีก็จะถือว่าการครอบครองปรปักษ์ต่อจำเลยครบเวลาได้กรรมสิทธิ์แล้วไม่ได้คดีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยซื้อที่ดินพิพาทจากค. โดยสุจริตและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วหรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณปี 2515 โจทก์เข้าครอบครองที่ดินมีโฉนดซึ่งมีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ โดยโจทก์ได้เข้าไปถากถางถมดินปลูกบ้าน 1 หลัง และปลูกบ้านไม้โดยความสงบและโดยเปิดเผย ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านเป็นเวลา 19 ปี โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ ขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 และห้ามจำเลยหรือบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินดังกล่าวและให้จำเลยทำการเปลี่ยนชื่อในโฉนดเป็นของโจทก์ หากจำเลยไม่ไปขอให้ศาลมีคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยให้การว่า สิทธิในที่ดินพิพาทหากมีอยู่ดังที่โจทก์อ้างก็ได้ขาดตอนไปตั้งแต่เจ้าของเดิมโอนขายให้แก่บุคคลอื่นผู้รับโอนโดยสุจริตเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2526 ต่อมาบุคคลดังกล่าวโอนขายแก่จำเลย ซึ่งจำเลยรับโอนมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนแล้ว โจทก์จะยกเอาการครอบครองปรปักษ์มายันจำเลยไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิจารณา แล้ว พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
โจทก์ฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ ที่ดินพิพาททั้งสองโฉนดเดิมเป็นของพันโทวิชาญ ภักดีชุมพล ต่อมาพันโทวิชาญโอนขายให้นายคงศักดิ์ ปิ่นรัตน์ เมื่อปี 2526 และในปี 2533 นายคงศักดิ์ก็โอนขายแก่จำเลย โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินอีก 2 แปลง ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินพิพาท ขณะที่พันโทวิชาญยังมิได้โอนขายที่ดินพิพาทแก่นายคงศักดิ์ โจทก์เคยขอแลกที่ดินของโจทก์กับที่ดินพิพาท และโจทก์เข้าปลูกสร้างอาคารในที่ดินพิพาทด้วยมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ โจทก์อ้างว่าได้ครอบครองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาตั้งแต่ปี 2515 เป็นเวลา 19 ปีแล้วย่อมได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แต่ปรากฏว่าพันโทวิชาญ เจ้าของเดิมได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่นายคงศักดิ์ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน2526 อันเป็นระยะเวลาเกินกว่า 10 ปี ดังที่โจทก์อ้าง แต่โจทก์มิได้ดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนแต่อย่างใด เมื่อนายคงศักดิ์ซื้อที่ดินพิพาทนั้นมาจากพันโทวิชาญ โดยไม่ปรากฏว่าซื้อมาโดยสุจริตหรือไม่อย่างไร ก็ย่อมเป็นไปตามข้อสันนิษฐานอันเป็นคุณต่อผู้ซื้อว่าบุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6 เมื่อข้อเท็จจริงตามฟ้องและตามทางพิจารณาไม่ปรากฏเหตุที่จะหักล้างข้อสันนิษฐานของบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวได้ ถือว่านายคงศักดิ์ซื้อที่ดินพิพาทจากพันโทวิชาญมาโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว โจทก์ไม่อาจอ้างสิทธิการครอบครองปรปักษ์ขึ้นใช้ยันนายคงศักดิ์ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299วรรคสอง ฉะนั้นเมื่อจำเลยได้รับโอนที่ดินพิพาทจากนายคงศักดิ์เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2533 อันเป็นระยะเวลาภายใน 10 ปี นับแต่วันรับโอนจากนายคงศักดิ์ จำเลยจะรับโอนโดยสุจริตหรือไม่อย่างไร โจทก์ผู้ครอบครองปรปักษ์ก็ไม่อาจยกสิทธิของตนขึ้นใช้ยันจำเลยผู้รับโอนต่อมาได้ เพราะสิทธิของผู้ครอบครองปรปักษ์ขาดตอนไปแล้วตั้งแต่ผู้รับโอนทางทะเบียนโดยสุจริตตอนแรก แม้โจทก์จะยังคงครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมา แต่การครอบครองในช่วงหลังที่นายคงศักดิ์และจำเลยรับโอนกรรมสิทธิ์มายังไม่ครบ10 ปี ก็จะถือว่ามีการครอบครองปรปักษ์ต่อจำเลยครบเวลาได้กรรมสิทธิ์แล้วด้วยหาได้ไม่ คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยซื้อที่ดินพิพาทดังกล่าวมาจากนายคงศักดิ์โดยสุจริตและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วหรือไม่ โจทก์ไม่มีทางที่จะใช้สิทธิดังกล่าวขึ้นยันจำเลย
พิพากษายืน

Share