คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6661-6664/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ในวันที่ศาลชั้นต้นเริ่มทำการสืบพยาน จำเลยที่ 1 เท่านั้นที่ขาดนัดพิจารณา ส่วนจำเลยที่ 2 มาศาล ที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานไปโดยมิได้มีคำสั่งแสดงว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณาให้ชี้ขาดตัดสินคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ไปฝ่ายเดียว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบเฉพาะระหว่างโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยที่ 1 ส่วนการดำเนินกระบวนพิจารณาระหว่างโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยที่ 2 เป็นไปโดยชอบ จึงต้องสืบพยานใหม่เฉพาะระหว่างโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยที่ 1 เท่านั้น คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสี่เบิกความไว้ก่อนที่ศาลฎีกาพิพากษาย้อนสำนวนจึงใช้เป็นพยานหลักฐานระหว่างโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยที่ 2 ได้ ไม่มีข้อได้เปรียบในเชิงคดีระหว่างโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยที่ 2

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสี่สำนวนฟ้องทำนองเดียวกันว่า โจทก์ทั้งสี่และจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 496 และโฉนดเลขที่ 19222 อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี โดยได้รับมรดกมาจากนายสังข์และนางแย้ม กรุณา บิดามารดา เมื่อปี 2537 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายสังข์และนางแย้ม แล้วโจทก์ทั้งสี่และจำเลยที่ 1 ตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวมและเข้าครอบครองเป็นส่วนสัด ต่อมาเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2538 จำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดิน 2 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวขายให้แก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยทั้งสองคบคิดกันฉ้อฉลและรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์ทั้งสี่เสียเปรียบ ขอให้เพิกถอนการโอนเฉพาะส่วนของโจทก์ทั้งสี่
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การทั้งสี่สำนวน
จำเลยที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทตามสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยทั้งสองเฉพาะส่วนของโจทก์ทั้งสี่ตามแผนผังสังเขปการแบ่งที่ดินเอกสารท้ายฟ้องทั้งสี่สำนวน
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 และคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้น ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตั้งแต่วันที่เริ่มต้นทำการสืบพยานแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณาทั้งสี่สำนวน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทตามสัญญา (ซื้อขาย) ระหว่างจำเลยทั้งสองเฉพาะส่วนของโจทก์ทั้งสี่ตามแผนผังสังเขปแสดงแนวเขตการแบ่งที่ดินเอกสารท้ายฟ้องทั้งสี่สำนวน
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาคดีนี้แล้วพิพากษาให้โจทก์ทั้งสี่เป็นฝ่ายชนะคดีโดยให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทตามสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยทั้งสองฉบับลงวันที่ 3 มกราคม 2538 เฉพาะส่วนของโจทก์ทั้งสี่ตามแผนผังสังเขปการแบ่งที่ดินเอกสารท้ายฟ้องทั้งสี่สำนวน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน แต่ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 และคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตั้งแต่วันที่เริ่มทำการสืบพยานแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ต่อมาเมื่อศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่แล้วพิพากษาให้โจทก์ทั้งสี่เป็นฝ่ายชนะคดี ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า การที่ศาลฎีกาพิพากษาให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาใหม่นั้น ศาลชั้นต้นจะนำเอาคำเบิกความของนางสาวศิริวรรณ เชิงเสมอ และนางพิสมัย มะลิวัลย์ หรือพยานโจทก์และจำเลยทุกปากซึ่งสืบพยานไว้ก่อนที่ศาลฎีกาให้ย้อนสำนวนมารับฟังเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่ เห็นว่า ในวันที่ศาลชั้นต้นเริ่มทำการสืบพยานคดีนี้ คือ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2538 จำเลยที่ 1 เท่านั้นที่ขาดนัดพิจารณา ส่วนจำเลยที่ 2 มาศาล ที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานไปโดยมิได้มีคำสั่ง แสดงว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณาให้ชี้ขาดตัดสินคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ไปฝ่ายเดียว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบเฉพาะระหว่างโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยที่ 1 ส่วนการดำเนินกระบวนพิจารณาระหว่างโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยที่ 2 เป็นไปโดยชอบ จึงต้องสืบพยานใหม่เฉพาะระหว่างโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยที่ 1 เท่านั้น คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสี่เบิกความไว้ก่อนที่ศาลฎีกาพิพากษาให้ย้อนสำนวนจึงใช้เป็นพยานหลักฐานระหว่างโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยที่ 2 ได้ ไม่มีข้อได้เปรียบหรือเสียเปรียบในเชิงคดีระหว่างโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยที่ 2 แต่อย่างใด ที่ศาลชั้นต้นหยิบยกคำเบิกความของนางสาวศิริวรรณและนางพิสมัยมาวินิจฉัยประกอบพยานอื่น แล้วเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสี่มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 และพิพากษาให้โจทก์ทั้งสี่เป็นฝ่ายชนะคดี เป็นการวินิจฉัยที่ชอบแล้ว ไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ”
พิพากษายืน

Share